การคำนวณข้างขึ้นข้างแรม ของ ปฏิทินปักขคณนา

ตามพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "วิธีปักขคณนา" จากหนังสือ "ความรู้เรื่องปักขคณนา", มหามกุฏราชวิทยาลัย, หน้า 42 (ตัวสะกดรักษาตามต้นฉบับเดิม) ได้กล่าวถึงที่มาและวิธีการคำนวณไว้ว่า

จะว่าด้วยกาลนับปักข์ตามมัชฌิมะคติให้ปริสัช ที่ไม่รู้ภาษามคธได้เข้าใจ ก็คำที่เรียกว่าปักข์นั้น คือแปลว่าปีกแห่งเดือน คือนับแต่พระจันทร์เพ็ญจนดับ ดับจนเพ็ญเรียกว่าปักข์หนึ่ง ๆ ก็ในปักข์หนึ่งนั้นบางทีมีวัน 14 15 ก็ในปักข์ 15 นั้น เรียกว่า ปักข์ถ้วน ในปักข์ 14 นั้น เรียกว่า ปักข์ขาด ก็ปักข์ถ้วนสาม ปักข์ขาดหนึ่งเรียกว่า จุละวัคค์ ปักข์ถ้วนสี่ ปักข์ขาดหนึ่ง เรียกว่า มหาวัคค์ จุละวัคค์สองที มหาวัคค์ทีหนึ่ง เรียกว่า จุลละสะมุหะ จุละวัคค์สามที มหาวัคค์ทีหนึ่ง เรียกว่ามหาสะมุหะ ในชั้นนี้ใช้มหาสะมุหะเป็นพื้น มหาสมุหะหกครั้ง จุลสะมุหะทีหนึ่ง เรียกมหาพยุหะ มหาสะมุหะห้าครั้ง จุละสะมุหะทีหนึ่ง เรียกว่า จุละพยุหะ ในชั้นนี้ใช้จุละพยุหะเป็นพื้น ฯ จุละพยุหะเก้าที มหาพยุหะทีหนึ่ง เรียก จุลสัมพยุหะ จุลพยุหะสิบที มหาพยุหะทีหนึ่ง เรียกว่า มหาสัมพยุหะ ในชั้นนี้ใช้มหาสัมพยุหะเป็นพื้น มหาสัมพยุหะมาได้สิบเจ็ดที จุละสัมพยุหะมาทีหนึ่ง เมื่อเป็นไปได้เท่านี้ คะติพระ 1, 2 ว่าจะได้เป็นเหมือน โดยมัชฌิมะคะติครั้งหนึ่ง ฯ

วัตถุประสงค์ของปักขคณนาก็เพื่อหาวันจันทร์เพ็ญ หรือ วันจันทร์ดับ และ วันจันทร์ครึ่งดวง ให้ใกล้เคียงกับปรากฏการณ์บนท้องฟ้า ซึ่งแต่ละปักข์จะมี 14-15 วัน ต้องตรวจดูเป็นปักษ์ๆ ไป สำหรับปักข์ที่มี 15 วัน ใช้คำ ปักษ์ถ้วน หรือ ปักษ์เต็ม และ สำหรับปักข์ที่มี 14 วัน ใช้คำว่า ปักษ์ขาด