ประวัติ ของ ปตท.

องค์การเชื้อเพลิง

รัชกาลที่ 5 เป็นยุคที่ไทยเริ่มมีถนน, ไฟฟ้า, รถราง และเมื่อปี พ.ศ. 2435 บริษัทน้ำมันต่างชาติบริษัทแรกที่เข้ามาทำกิจการในไทย คือ บริษัท รอยัลดัทช์ ปิโตรเลียม จำกัด จำหน่ายน้ำมันก๊าดมีเขม่าควันน้อยและให้แสงสว่างกว่าน้ำมันมะพร้าว

ต่อมา พ.ศ. 2439 เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ นำรถยนต์คันแรกมาวิ่งบนถนน และอีก 6 ปีต่อมา ก็มีรถเมล์ขาว จึงเริ่มนำน้ำมันเบนซินมาใช้บริษัทต่างชาติ ก็นำน้ำมันต่างๆ มาจำหน่าย

พ.ศ. 2476 กระทรวงกลาโหม ได้จัดตั้งแผนกเชื้อเพลิง เพื่อจัดหาน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าดและน้ำมันหล่อลื่น จากนั้นอีก 4 ปี ก็เปลี่ยนเป็นกรมเชื้อเพลิง และก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันที่ช่องนนทรีเพื่อขจัดปัญหาน้ำมันขาดแคลน

ในช่วง สงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทน้ำมันต่างชาติหยุดค้าน้ำมันในไทย โรงกลั่นน้ำมันที่สามารถกลั่นได้ 1,000 บาเรลต่อวัน ถูกระเบิดเสียหาย เรือบรรทุกน้ำมัน "สมุย" ถูก ตอร์ปิโด จมลง

แต่หลังสงครามยุติ ไทยต้องยุบกรมเชื้อเพลิง ขายกิจการและทรัพย์สินทั้งหมดให้บริษัทน้ำมันต่างชาติ พร้อมสัญญาว่า "รัฐบาลจะไม่ค้าน้ำมันอีก"

ปี พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้ยกเลิกข้อผูกพันที่ทำไวักับบริษัทต่างชาตินั้น และตั้งองค์การเชื้อเพลิง เป็นรัฐวิสาหกิจในวันที่ 28 มกราคม ปี พ.ศ. 2503 [4] โดยใช้สัญลักษณ์ตราสามทหาร เพื่อดำเนินสถานีบริการน้ำมัน จัดหาและกลั่นน้ำมัน

วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2520 ได้มีการจัดตั้งองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย [5] และในปี พ.ศ. 2521 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี ตรา พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย นับเป็นองค์กรของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปิโตรเลียมของไทยขึ้นโดยตรงเป็นครั้งแรก ปั๊มน้ำมันที่ใช้ตราสามทหารจึงค่อยๆ เลือนหายไป

ปัจจุบัน ปั๊มน้ำมันสามทหาร เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม ตั้งอยู่ที่สวนคุณธรรมสมานสามัคคี อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

องค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย

องค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520[6] มีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2520 เนื่องจากได้มีการเจาะสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยมีปริมาณมากพอในเชิงพาณิชย์ รัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร จึงได้จัดตั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขึ้น เพื่อเร่งรัดพัฒนาการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 มีพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 ประกาศบังคับใช้ ในวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ให้โอนกิจการขององค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย ไปเป็นของ ปตท. กระทั่งมีการโอนกิจการอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2522[7]

การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521[8] มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2521 โดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบและส่งเสริมธุรกิจปิโตรเลียม รวมถึงดำเนินการธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับการประกอบธุรกิจปิโตรเลียมเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดแก่เศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ

ในระยะเริ่มต้นให้โอนกิจการของกรมการพลังงานทหาร และที่เกี่ยวกับโรงกลั่นน้ำมัน กระทรวงกลาโหม, องค์การเชื้อเพลิง และองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย ไปเป็นของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

แหล่งที่มา

WikiPedia: ปตท. http://money.cnn.com/magazines/fortune/global500/2... http://pttinternet.pttplc.com/internet/th/ptt_core... http://www.pttplc.com http://www.pttplc.com/ http://www.pttplc.com/TH/Career/Our-Employee/pages... http://www.komchadluek.net/detail/20120414/127911/... http://ejournals.swu.ac.th/index.php/JOH/article/v... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0002042... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2503/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2520/A/...