ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย ของ ประชาสังคม

การนิยามประชาสังคมในประเทศไทย งานของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ให้ความหมายของประชาสังคมไว้ว่าคือ เครือข่าย กลุ่ม ชมรม สมาคม มูลนิธิ สถาบัน และชุมชนที่มีกิจกรรมหรือมีการเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างรัฐและเอกชน โดยมีจุดเน้นอยู่ที่ไม่ชอบและไม่ยอมให้รัฐครอบงำหรือบงการ แม้ว่าจะยอมรับความช่วยเหลือจากรัฐและความร่วมมือกับรัฐได้ แต่ก็สามารถชี้นำกำกับและคัดค้านรัฐได้พอสมควร และไม่ชอบลัทธิปัจเจกชนนิยมสุดขั้ว ซึ่งส่งเสริมให้คนเห็นแก่ตัว ต่างคนต่างอยู่ แก่งแย่งแข่งขันกันจนไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม หากแต่สนับสนุนให้ปัจเจกชนรวมกลุ่มรวมหมู่ และมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม โดยไม่ปฏิเสธการแสวงหาหรือปกป้องผลประโยชน์เฉพาะส่วนเฉพาะกลุ่ม[6] และงานของ ชลธิศ ธีระฐิติ เห็นว่าประชาสังคมเป็นมโนทัศน์ทางยุทธศาสตร์ (strategic concept) ที่มีความหมายหลากหลายจนไม่สามารถกล่าวว่านิยามใดถูกต้องทั้งหมด เพราะความหมายของคำว่าประชาสังคมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่างๆ ในทางยุทธศาสตร์ของผู้ที่นำคำว่าประชาสังคมไปใช้ ว่ามีวัตถุประสงค์ในด้านใดเป็นสำคัญ เช่น หากบุคคลหนึ่งมีประสบการณ์ทางการเมืองในการต่อสู้กับภาครัฐ ประชาสังคมจึงอาจหมายถึงพื้นที่ในการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน หรือหากอีกบุคคลหนึ่งเคยทำงานเพื่อสังคมโดยอาศัยการสนับสนุนบางอย่างจากกลไกรัฐ ประชาสังคมของบุคคลที่สองจึงอาจเชื่อมโยงหรือมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐมากกว่าบุคคลแรก[7]

ประเด็นที่น่าจับตามองคือ การนำคำว่าประชาสังคมไปใช้ในสังคมไทยนั้น ยังมีความสับสนอยู่มากในการแยกแยะระหว่างคำว่าประชาสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) กล่าวคือ สองคำนี้ถูกใช้เสมือนมีความหมายเดียวกัน และหลายครั้งใช้ทับซ้อนกันไปมาระหว่างประชาสังคมที่เป็น “พื้นที่สาธารณะ” และประชาสังคมที่เป็น “ตัวแสดง” ขององค์กรพัฒนาเอกชน อีกทั้งยังมีความเข้าใจผิดที่ว่าประชาสังคมจะเกิดขึ้นในชนบทเท่านั้น เพราะไม่เชื่อว่าชุมชนเมืองจะสามารถเกิดการรวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมได้ หรือกล่าวได้ว่ามีความพยายามที่จะนำคำว่าประชาสังคมไปใช้ร่วมกับคำว่าชุมชนท้องถิ่นนิยม (communitarianism) ทั้งที่ในนิยามสากล ประชาสังคมเป็นพื้นที่ที่สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าในเมืองหรือในชนบท

ดังนั้น สังคมไทยจึงควรกลับมาพิจารณาคำว่า “ประชาสังคม” ในความหมายของ “พื้นที่สาธารณะ” ที่อยู่ตรงกลางระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือจะกล่าวโดยเปรียบเทียบได้ว่าประชาสังคมเป็น “สนาม” ในการเข้ามาทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกันอย่างอิสระและมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่ง “ผู้เล่น” ที่จะเข้าไปใช้สนามดังกล่าวนั้นจึงถือว่าเป็น “ตัวแสดง” (actor) ในการเข้าไปมีอิทธิพลหรือเข้าไปมีส่วนร่วมระหว่างพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางการเมือง

แนวคิดเรื่องประชาสังคมสามารถแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย ภาคส่วนที่สาม (third sector) องค์กรนอกภาครัฐ (NGO) กลุ่มทางสังคม (social group) ขบวนการทางสังคม (social movement) และเครือข่ายสังคม (social network) แต่ละส่วนมีบทบาทและทำหน้าที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงที่การขับเคลื่อนใน “ประชาสังคม” มีลักษณะที่ทับซ้อนระหว่างบทบาทของแต่ละส่วน และอาจมีลักษณะร่วมกันจนไม่สามารถจำแนกออกเป็น 5 ส่วนได้อย่างชัดเจน เช่น NGO/NPO อาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางสังคม ดังนั้น การจำแนกดังกล่าวจึงมีไว้เพื่อช่วยทำความเข้าใจรายละเอียดของประชาสังคม แต่ไม่มุ่งหวังที่จะสร้างกรอบการมองประชาสังคมที่แยกส่วนแบบไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันระหว่างส่วนต่างๆ[8]