อธิบาย ของ ประชาสังคม

คำว่าประชาสังคมมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานในฐานะที่เป็นพื้นที่ทางสังคมซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับภาครัฐ กล่าวได้ว่าประชาสังคมในช่วงศตวรรษที่ 17-18 หมายถึง พื้นที่อิสระที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวอย่างสมัครใจของคนที่มีความเชื่อร่วมกันในคุณค่าบางประการ มีวิถีชีวิตในการปฏิบัติการร่วมกัน และต้องมีองค์การที่จัดให้มีการแสดงความคิดเห็นสาธารณะ หรือกล่าวได้ว่าประชาสังคมคือพื้นที่ในการประกอบกิจกรรมของปัจเจกชนที่เป็นอิสระจากรัฐ ประชาสังคมในช่วงศตวรรษที่ 17-18 ได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนในระบบทุนนิยม

อย่างไรก็ดี ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ได้เกิดการตั้งคำถามกับคำว่าประชาสังคมว่า ควรรวมถึงภาคเอกชนหรือไม่ เพราะภาคเอกชนมีเป้าหมายอยู่ที่ผลประโยชน์ส่วนตัว (self-interest) จนทำให้เกิดการทบทวนนิยามคำว่าประชาสังคม ให้แยกออกจากภาคเอกชน ในฐานะที่เป็นพื้นที่อิสระ ที่ไม่ใช่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แต่เป็นพื้นที่ใหม่เรียกว่าภาคประชาสังคม ซึ่งเกิดมาจากการรวมตัวอย่างอิสระเพื่อวัตถุประสงค์ในการกระทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกันในการบรรลุผลประโยชน์สาธารณะ ซึ่งอาศัยความคิดของนักปรัชญาชาวสก๊อตในศตวรรษที่ 18 อย่างอดัม เฟอร์กูสัน (Adam Ferguson) ที่ได้กล่าวว่า ประชาสังคมเป็นพื้นที่สาธารณะของปัจเจกบุคคล ที่โดยธรรมชาติแล้วเป็นผู้ที่มีจริยธรรมและมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ถึงผู้อื่นเสมอ ประชาสังคมจึงมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์สาธารณะมากกว่าผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลที่ได้มาจากพื้นที่ทางเศรษฐกิจและกลไกตลาด (Hann and Dunn, 1996: 4)[4]

ความหมายของแนวคิดประชาสังคมในปัจจุบันที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด คือนิยามของนักรัฐศาสตร์ร่วมสมัยอย่าง แลร์รี่ ไดมอนด์ (Diamond, 1996: 228) ซึ่งได้อธิบายแนวคิดประชาสังคมว่า คืออาณาบริเวณ (realm) ที่มีการจัดตั้งขึ้นของชีวิตทางสังคมที่มีลักษณะเป็นอาสาสมัคร มีการเติบโตอย่างเป็นอิสระจากรัฐ และอยู่ภายใต้กติการ่วมกันของสังคม คำว่าประชาสังคมจึงแตกต่างจากคำว่า “สังคม” (society) เพราะเป็นพื้นที่ของพลเมืองที่จะร่วมกันกระทำการบางอย่างในพื้นที่สาธารณะ (public sphere) โดยมีประชาสังคมเป็นพื้นที่ตรงกลาง (intermediary entity) ระหว่างพื้นที่ของเอกชนและภาครัฐ ทั้งนี้รวมถึงเป็นพื้นที่เชื่อมระหว่างประชาชนกับภาคธุรกิจเอกชนและภาครัฐ ด้วยเหตุนี้ประชาสังคมจึงไม่ได้เป็นเพียงความพยายามในการจำกัดอำนาจรัฐ แต่อาจเป็นพื้นที่สำหรับให้ความชอบธรรมแก่รัฐก็ได้ หากภาครัฐนั้นได้กระทำการอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม และเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยรวม[5]

ถึงกระนั้นแล้ว คำว่าประชาสังคมยังคงเป็นคำศัพท์ทางการเมืองที่มีความสับสนในการนิยามและนำไปใช้อย่างมาก การนำคำว่าประชาสังคมไปใช้ในสังคมตะวันตกจึงจำเป็นต้องผูกโยงกับคำศัพท์อื่นที่เข้าใจง่ายกว่า เช่น กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย (democratization) โลกาภิวัตน์ (globalization) การเป็นอาสาสมัคร (volunteering) ความเป็นพลเมือง (citizenship) และผลประโยชน์สาธารณะ (public interest) เป็นต้น.