ธนาคารแห่งประเทศไทย ของ ประวัติกระทรวงการคลังไทย

สืบเนื่องจากการส่งออกมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยมากขึ้น ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535–2539) ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการส่งออก ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกทางด้านการเงิน และการให้บริการอื่นจึงมีความจำเป็น ใน พ.ศ. 2536 ได้มีพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินการจัดตั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ ธสน.ได้เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 เกี่ยวกับนโยบายการเงินของประเทศไทย สำหรับปี พ.ศ. 2537 เป็นเรื่องของการเปิดเสรีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดทิศทางและเป้าหมายไว้ 5 ประการ ดังนี้

  1. ส่งเสริมการพัฒนาตลาดเงินระยะสั้น ด้วยการให้ธุรกิจเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ออกตราสารในประเทศให้มากขึ้น
  2. ผ่อนคลายการควบคุมปริวรรตเงินตราให้มากขึ้น ขยายขอบเขตการค้าชายแดน และให้นำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น
  3. จัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศอินโดจีน และประเทศพม่า
  4. ให้สถาบันการเงินขยายธุรกิจสู่ภูมิภาค และกระจายเงินทุนให้กับลูกค้ารายย่อยมากขึ้น
  5. สนับสนุนการขยายบริการทางการเงินไปต่างจังหวัดให้มากขึ้น เช่นการขยายสาขา ของธนาคารไทยพาณิชย์ และธุรกิจวิเทศธนกิจ (BIBF) รวมทั้งการตั้งสำนักงานสินเชื่อของบริษัทเงินทุนในต่างจังหวัด

จากนี้ต่อไปในระยะ 5 ปีข้างหน้า กระทรวงการคลังได้วางนโยบายการคลังด้วยการรักษาวินัยด้านการคลังอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง วิธีการคือ รักษาฐานะดุลการคลังไม่ให้ลดต่ำมากไปกว่านี้ และจะต้องรักษางบประมาณให้สมดุลสำหรับนโยบายการเงิน ได้วางกรอบที่จะรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้มั่นคง ด้วยการสร้างระบบการเงินที่ทันสมัยภาพของโครงสร้างระบบการเงินไทยต่อไปจะมีความหลากหลาย และเกิดสถาบันการเงินในรูปแบบใหม่เพิ่มขึ้น

กระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารการเงินการคลังของแผ่นดิน การจัดเก็บภาษีอากร และกิจการอื่น ๆ อันเกี่ยวข้องกับการหารายได้ของประเทศ ตลอดจนควบคุมดูแลระบบงานด้านเศรษฐกิจและการคลัง ให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารงานการคลังได้เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สืบต่อมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติขึ้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2418 โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงเป็นเสนาบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ และในปี พ.ศ. 2476 จึงเปลี่ยนเป็นกระทรวงการคลังจนถึงปัจจุบัน

การดำเนินงานของกระทรวงการคลัง ได้ผ่านปัญหาอุปสรรค และวิกฤตการณ์ทางการเงินการคลังหลายครั้งแต่ก็สามารถแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จเรียบร้อยตลอดมา ขณะเดียวกันกระทรวงการคลัง ได้พัฒนาปรับปรุงระบบงานของหน่วยงานในสังกัดให้ทันสมัย และทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลกที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย ทำให้การเงินการคลังของประเทศมีเสถียรภาพ และมีความเจริญรุ่งเรืองในทางเศรษฐกิจ อย่างเห็นได้ชัดเจนจนถึงบัดนี้

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์อินเดีย ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติการบินไทย ประวัติศาสตร์เทคโนโลยี