ประวัติศาสตร์ ของ ประเทศยูกันดา

ดูบทความหลักที่: ประวัติศาสตร์ยูกันดา

อาณานิคมสหราชอาณาจักร

ยูกันดาตกเป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษตั้งแต่ปี 2436 (ค.ศ. 1893) จากข้อตกลงระหว่างกษัตริย์แห่ง Buganda ซึ่งเป็นเผ่าที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดกับรัฐบาลอังกฤษ หลังจากการเป็นรัฐอารักขาของอังกฤษ อิทธิพลทางเศรษฐกิจของชนผิวขาวจากเคนยาซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในยูกันดาเริ่มขยายตัวมากขึ้น ทำให้กลุ่มผู้นำ Buganda ไม่พอใจและระแวงว่าคนเหล่านี้จะมีอำนาจครอบงำทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิง ดังนั้น เมื่อมีการเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งสหพันธรัฐแอฟริกาตะวันออก (East African Federation : EAF) ซึ่งเป็นรัฐเอกราชใหม่ที่จะรวมอดีตอาณานิคมอังกฤษในแอฟริกาตะวันออกเข้าด้วยกัน ผู้นำ Buganda จึงคัดค้านข้อเสนอนี้ และต้องการที่จะแยกตัวออกเป็นประเทศเอกราชต่างหาก เพราะเกรงว่าชนผิวขาวในเคนยาจะมีอิทธิพลเหนือยูกันดา ข้อเรียกร้องดังกล่าวก่อให้เกิดความขัดแย้งกับนักการเมืองจากเผ่าอื่น ซึ่งต้องการให้ยูกันดาได้รับเอกราชแล้วรวมตัวกันเป็นรัฐเดียว ผู้นำที่สำคัญ ได้แก่ นาย Milton Obote หัวหน้าพรรค (Uganda People's Congress : UPC) ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ยูกันดาได้รับเอกราช เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2505 (ค.ศ. 1962) และนาย Obote ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ความวุ่นวายทางการเมือง

รัฐธรรมนูญฉบับแรกกำหนดให้ยูกันดาเป็นสหพันธรัฐ มีลักษณะพิเศษ คือ ประกอบด้วยอาณาจักรต่าง ๆ โดยอาณาจักรที่สำคัญที่สุด คือ Buganda ต่อมาในปี 2510 (ค.ศ. 1967) นาย Obote ได้ยึดอำนาจตั้งตนเป็นประธานาธิบดี พร้อมกับยกเลิกการปกครองแบบสหพันธรัฐ อย่างไรก็ดี นาย Obote เป็นประธานาธิบดีได้เพียง 4 ปีเศษ ก็ถูกพลตรี อีดี้ อามิน ทำรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2515 (ค.ศ. 1972) ประธานาธิบดีอีดี้ อามิน ปกครองประเทศแบบเผด็จการ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งได้ประกาศสงครามเศรษฐกิจยึดทรัพย์สินของเอกชนเป็นของรัฐประมาณ 3,500 ธุรกิจ มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขับไล่ชาวเอเชียประมาณ 75,000 คน ทำให้คนงานซึ่งทำงานในสาขาพาณิชย์และอุตสาหกรรมว่างงานจำนวนมาก เศรษฐกิจของยูกันดา (ซึ่งหลังได้รับเอกราช เคยเป็นประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นศูนย์กลางของแอฟริกาตะวันออก) เริ่มตกต่ำ ผลผลิตลดลงร้อยละ 16 เกิดภาวะเงินเฟ้อ ต่อมาในปี 2522 (ค.ศ. 1979) กลุ่มต่อต้านโดยความช่วยเหลือของกองทัพประชาชนแทนซาเนียที่สามารถโค่นล้มอำนาจประธานาธิบดีอีดี้ อามิน ได้สำเร็จ นาย Obote กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งโดยชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2523 (ค.ศ. 1980) แต่ความขัดแย้งระหว่างเผ่าที่ดำรงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เผ่า Acholi ซึ่งอยู่ทางเหนือ ไม่พอใจต่อการที่นาย Obote ให้ตำแหน่งสำคัญกับคนในเผ่าอื่นจึงทำให้พลโท Tito Okello ซึ่งเป็นคนเผ่า Acholi ก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2528 (ค.ศ. 1985) คณะทหารที่ปกครองประเทศได้กวาดล้างศัตรูทางการเมืองอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนไม่พอใจและหันไปสนับสนุนขบวนการต่อต้านแห่งชาติ (National Resistance Movement : NRM) ซึ่งมีนาย Yoweri Museveni เป็นผู้นำ นาย Museveni เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของประธานาธิบดี Obote ระหว่างปี 2510-2515 (ค.ศ. 1967-1972) และหลบหนีไปแทนซาเนียในช่วงที่ประธานาธิบดี Amin ก่อการรัฐประหาร และได้ก่อตั้งขบวนการ NRM ขึ้น ขบวนการ NRM สามารถยึดอำนาจจากรัฐบาลของพลโท Okello ได้ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2529 (ค.ศ. 1986) และนาย Museveni เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลจากพรรคต่าง ๆ รัฐบาลประกาศว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 3-5 ปีข้างหน้า และอนุญาตให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ยังคงอยู่ได้แต่ให้ระงับกิจกรรมชั่วคราวรัฐบาลของประธานาธิบดี Museveni มีเป้าหมายอันดับแรก คือ การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในชาติและฟื้นฟูการปกครองด้วยการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากผู้แทนหลายฝ่าย เนื่องจากยูกันดามีขบวนการหลายกลุ่มและแตกแยกสู้รบกันเป็นเวลา 20 ปี ทำให้บ้านเมืองถูกทำลายและเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะตกต่ำ

รัฐบาลประกอบด้วยสมาชิกจากขบวนการต่อต้านแห่งชาติ (NRM), Uganda Patriotic Movement, Democratic Party, Uganda People's Congress, Conservative Party และขบวนการกองโจรเล็ก ๆ 2 องค์การ รัฐบาลทหารชั่วคราวได้ปกครองประเทศตั้งแต่ปี 2529 (ค.ศ. 1986) รับผิดชอบในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สภา National Resistance Council ประกอบด้วยสมาชิก 268 คน ซึ่งนำโดยประธาน คือ ประธานาธิบดีเดิมขบวนการ NRM ประกาศว่าจะปกครองประเทศเพียง 4 ปี แต่ในเดือนตุลาคม 2532 (ค.ศ. 1989) เนื่องจากสภาวะสงครามทางตอนเหนือและตะวันออกของประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องขอเวลาอีก 5 ปี เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และการขอยืดอายุรัฐบาลประธานาธิบดี Museveni เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป เพราะเห็นว่าไม่มีใครที่จะปกครองประเทศแทนประธานาธิบดี Museveni ได้ รัฐบาลได้รับความนิยมจากประชาชนในด้านความปลอดภัย เศรษฐกิจเสรีและนำความสงบสุขสู่ยูกันดา

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2539 (ค.ศ. 1996) ประธานาธิบดี Museveni ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง มีวาระ 5 ปี และสมาชิกของขบวนการ NRM ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนที่นั่ง 276 ที่นั่ง จึงทำให้ขบวนการ NRM มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

ปัจจุบันยูกันดากำลังประสบกับปัญหาความขัดแย้งทางตอนเหนือของประเทศ โดยปัญหาดังกล่าวเริ่มต้นในปี 2530 (ค.ศ. 1987) เนื่องมาจากมีการจัดตั้งกลุ่มกบฏ Lord Resistance Army (LRA) นำโดยนาย Joseph Kony ซึ่งมีเป้าหมายที่จะโค่นล้มรัฐบาลยูกันดาเพื่อก่อตั้งรัฐบาล Theocratic ซึ่งเป็นระบบการปกครองที่ยึดถือพระเจ้าหรือเทพเจ้าเป็นหลัก ถึงแม้ว่า LRA ไม่ได้เป็นภัยคุกคามสำหรับรัฐบาลยูกันดาก็ตาม แต่ก็ได้ก่อความไม่สงบทางตอนเหนือของยูกันดาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ปัจจุบันมีชาวยูกันดาซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนเหนือจำนวนมากต้องประสบปัญหาความยากจน ขาดแคลนอาหาร มีอัตราการตายของเด็กสูง มีจำนวนผู้พลัดถิ่นสูง นอกจากนี้ เมื่อปลายปี 2547 (ค.ศ. 2004) ได้มีรายงานด้วยว่า LRA ได้ใช้กำลังกดขี่ทางเพศต่อเด็ก รวมทั้งยังมีเด็กอีกจำนวน 16,000 - 26,000 คน ถูกใช้งานเป็นทหาร (Child Soldiers)

ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 (ค.ศ. 2006) ประธานาธิบดี Museveni ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่ง ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 59.3 โดยมีวาระในการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 5 ปี

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประเทศยูกันดา http://www.visituganda.com/ http://ucblibraries.colorado.edu/govpubs/for/ugand... http://www.ifs.du.edu/ifs/frm_CountryProfile.aspx?... http://www.rfi.fr/actuen/pages/001/page_40.asp http://www.reliefweb.int/rw/dbc.nsf/doc104?OpenFor... http://www.irinnews.org/Africa-Country.aspx?Countr... http://www.thecommonwealth.org/Internal/142227/mem... http://www.ubos.org/onlinefiles/uploads/ubos/NPHC/... http://www.ugandahumanistschoolstrust.org/index.ht... http://www.un.org/Depts/Cartographic/map/profile/u...