ปรัชญายุคก่อนโสเครตีส

ปรัชญาในยุคก่อนโสเครตีส (อังกฤษ: pre-socratic philosophy) เป็นสำนักคิดทางปรัชญากรีกโบราณ ที่มีอยู่ก่อนยุคของโสเครตีส (ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาของปรัชญาตะวันตก). ปรัชญาในยุคก่อนโสเครตีส มีจุดเด่นอยู่ที่ความสนใจไต่ถามเกียวกับความเป็นไปของธรรมชาติ และเอกภพ โดยมุ่งที่จะค้นหากฎเกณฑ์ที่เป็นเหตุเป็นผลของเอกภพ (cosmos)[1] ซึ่งมนุษย์สามารถเข้าใจได้ โดยไม่ต้องอิงอยู่กับการกระทำของสิ่งเหนือธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ปรัชญาในยุคก่อนโสเครตีสจึงมีเนื้อหาครอบคลุมวิทยาศาสตร์ธรรมชาติหลายสาขา ทั้งดาราศาสตร์ จักรวาลวิทยา คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์. ปรัชญาในยุคก่อนโสเครตีสได้รับอิทธิพลอย่างมากจากนักคิดชาวกรีกที่มีรกรากอยู่ทางฝั่งไอโอเนีย (Ionian thinkers) เช่น เธลีส (Thales) นักปราชญ์ชาวไอโอเนียที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ให้กำเนิดปรัชญากรีก และอะแนกซิแมนเดอร์ (Anaximander) และ พีทากอรัส (Pythagoras) แต่เมื่อชาวกรีกเริ่มขยายอาณานิคมไปทางทิศตะวันตก สำนักความคิดทางปรัชญาก็เริ่มแพร่กระจายไปยังอาณานิคมเหล่านั้นเช่นกัน ตัวอย่างสำคัญ เช่น เมืองโครตอน อังเป็นหนึ่งในอาณานิคมอิตาลีของนครรัฐกรีก และเป็นที่ตั้งของสำนักความคิดพีทาโกเรียน. ในสมัยกรีกโบราณ (หรือสมัยคลาสสิค) นักปรัชญาในยุคก่อนโสเครตีสถูกเรียกรวม ๆ กัน ในภาษากรีกว่า φυσιολόγοι (อ่านว่า พู-ซิ-โอ-ลอ-กอย) ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ศึกษาหรือไต่ถามถึงธรรมชาติ (φύσις) หรือ "นักปรัชญาธรรมชาติ" นั่นเอง.[2] ต่อมาอริสโตเติ้ลได้ทำการแยกแยะเพิ่มขึ้นว่า นักปรัชญาในยุคก่อนโลเครตีสยังมีพวกที่ไต่ถามถึงปัญหาทางเทววิทยา (theologoi) และพวกที่ไต่ถามเกี่ยวกับเรื่องปรัมปรา กับเทพปกรณัม (mythologoi) ด้วย.