องค์ประกอบโดยทั่วไปของปราสาท ของ ปราสาท

เนินดิน

ปราสาทชิซอร์ (Château de Gisors) เป็นปราสาทเนินที่มีหอกลางหลายเหลี่ยมอยู่บนเนินล้อมรอบด้วยกำแพงสูงบนเนินดินที่สร้างขึ้น ในฝรั่งเศส

เนินดิน หรือ “Motte” เป็นเนินดินที่ตอนบนราบที่มักจะเป็นเนินดินที่สร้างขึ้น แต่บางครั้งก็อาจจะใช้ภูมิลักษณ์ธรรมชาติที่มีอยู่แล้วเป็นส่วนประกอบ การสร้างเนินดินทำให้เกิดร่องกว้างลึกรอบเนินซึ่งกลายเป็นระบบป้องกันขึ้นอีกชั้นหนึ่ง น้ำในคูก็อาจจะมาจากการเบี่ยงทิศทางของลำน้ำที่อยู่ใกล้เคียง “Motte” และ “Moat” (คู) ต่างก็แผลงมาจากภาษาฝรั่งเศสเก่าที่แสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบทั้งสองอย่างนี้ขึ้นต่อกันในด้านการก่อสร้าง

คำว่า “Motte” มักจะเกี่ยวกับคำว่า “bailey” ที่หมายถึงลานที่มีกำแพงล้อมรอบ รวมกันแล้วเป็น “motte-and-bailey” หรือ ปราสาทเนิน แต่ก็ไม่เป็นความจริงเสมอไปเพราะบางครั้งปราสาทก็อาจจะมีแต่เนินดินโดยไม่มีลาน “Motte” หมายถึงเนินดินเท่านั้นแต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีสิ่งก่อสร้างที่ใช้ในการป้องกันข้าศึกอยู่บนยอดเนินเช่นหอกลาง และบางครั้งอาจจะล้อมรอบด้วยกำแพงระเนียด[13] โดยปกติแล้วทางเข้าปราสาทจะเชื่อมโดยสะพานชัก เช่นตัวอย่างที่ปรากฏในภาพบนผ้าปักบายูของปราสาทดินอง[14] บางครั้งปราสาทเนินก็อาจจะตั้งอยู่เหนือปราสาทเดิม หรือ ห้องโถง ที่กลายมาเป็นห้องเก็บของใต้ดิน หรือเป็นที่จำขัง ในหอกลางที่สร้างขึ้นใหม่บนเนิน[15]

ลานปราสาทและปราสาทชั้นใน

บริเวณปราสาทชั้นในรอบหอกลางที่แวงแซนน์
ดูเพิ่มเติมที่: ปราสาทชั้นใน

ลานปราสาท หรือ “bailey” หรือ “ward” เป็นบริเวณลานภายในปราสาทที่มีระบบป้องกันล้อมรอบและเป็นองค์ประกอบที่พบเสมอในการสร้างปราสาทที่อย่างน้อยก็จะมีอยู่หนึ่งบริเวณ หอกลางที่ตั้งอยู่บนเนินดินเป็นที่อยู่อาศัยของประมุขผู้ครองปราสาทและเป็นระบบป้องกันด่านสุดท้ายของปราสาท ขณะที่ลานรอบตัวปราสาทจะเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับปราสาท และ เป็นบริเวณที่ได้รัการคุ้มครองจากอันตรายภายนอก ค่ายสำหรับทหาร, โรงม้า, โรงช่าง และ โรงเก็บเสบียงก็มักจะตั้งอยู่ในบริเวณนี้ น้ำใช้ก็จะมาจากบ่อหรือแหล่งเก็บน้ำใต้ดิน เมื่อเวลาผ่านไปความสำคัญของปราสาทก็ย้ายหอกลางมาเป็นบริเวณรอบตัวปราสาท ที่ทำให้เกิดการสร้างลานปราสาทขึ้นอีกชั้นหนึ่งที่มีระดับสูงกว่าสำหรับเป็นที่พักและชาเปลสำหรับลอร์ดแห่งปราสาท ที่ต่างจากสิ่งก่อสร้างอื่นเช่นค่ายทหาร หรือ โรงช่าง[16] ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ขุนนางก็เริ่มย้ายออกจากบ้านเรือนหรือที่พักอาศัยขนาดย่อมในบริเวณลานปราสาทไปตั้งที่อยู่ใหม่นอกตัวปราสาท ที่เป็นที่อยู่อาศัยที่มีระบบป้องกันของตนเอง (fortified house) ไกลออกไปในชนบท[17] แม้ว่าลานปราสาทมักจะเกี่ยวข้องกับเนินและปราสาท แต่บริเวณรอบตัวปราสาทก็อาจจะเป็นบริเวณอิสระที่มีระบบป้องกันเป็นของตนเอง ระบบป้อมปราการแบบง่าย ๆ ที่ว่านี้เรียกว่า “เนินวงแหวน” (Ringwork)[18] ปราสาทชั้นในเป็นระบบการป้องกันอันสำคัญของปราสาท ปราสาทหนึ่งอาจจะมี บริเวณภายในปราสาทหลายบริเวณ แต่อาจจะมีบริเวณรอบตัวหอกลางเพียงบริเวณเดียว แต่ปราสาทที่ไม่มีหอกลางที่ต้องพึ่งระบบป้องกันจากภายนอกบางครั้งก็จะเรียกว่า “enceinte castles”[19] ซึ่งเป็นลักษณะของการก่อสร้างปราสาทในสมัยแรก การสร้างหอกลางมาเริ่มกันในคริสต์ศตวรรษที่ 10[20]

หอกลาง

“หอกลาง” แบบนอร์มัน ของปราสาทรอเชสเตอร์ในอังกฤษกำแพงป้องกันเมืองคาร์คาโซนในฝรั่งเศสที่แสดงให้เห็นกำแพงระหว่างหอสองหอที่เรียกว่ากำแพงม่าน
ดูบทความหลักที่: หอกลาง

คือหอใหญ่ที่มักจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่ได้รับการป้องกันอย่างดีที่สุดของปราสาทก่อนที่จะมีการใช้ระบบการป้องกันแบบกำแพงวงซ้อน (concentric defence) “keep” หรือหอกลางมิใช่คำที่ใช้กันในยุคกลาง แต่มาเริ่มใช้กันตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ก่อนหน้านั้นหอกลางมักจะเรียกว่า “donjon[21] หรือ “turris” ในภาษาละติน ในปราสาทแบบเนินดิน-และ-ลานปราสาท (motte-and-bailey castle) หอกลางจะตั้งอยู่บนเนิน[13] “Dungeon” ในภาษาอังกฤษเป็นคำที่แผลงมาจากคำว่า “donjon” ที่แปลว่าคุกที่มืดสกปรก[22] แม้ว่าหอกลางจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่แข็งแรงที่สุดของตัวปราสาท และเป็นที่หลบภัยที่สุดท้ายเมื่อข้าศึกสามารถทลายกำแพงชั้นนอกเข้ามาได้ แต่หอกลางก็มิได้ถูกทิ้งไว้แต่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าของปราสาท หรือ แขก หรือ ผู้สำเร็จราชการ[23] เดิมหอกลางมักจะใช้กันเฉพาะในอังกฤษ หลังจากการพิชิตอังกฤษโดยนอร์มันในปี ค.ศ. 1066 ผู้พิชิตต้อง “ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความหวั่นกลัวต่อภัยของการรุกรานอยู่เป็นเวลานาน”[24] ในภูมิภาคอื่นภรรยาของเจ้าของปราสาทอาจจะมีที่อยู่อาศัยต่างหากที่ไม่ไกลจากหอกลาง และ “donjon” ใช้เป็นค่ายทหารและศูนย์กลางของการบริหารปราสาท ในเวลาต่อมาการใช้สอยทั้งสองอย่างก็กลายมาทำด้วยกันในสิ่งก่อสร้างเดียวกัน และชั้นบนสุดอาจจะมีหน้าต่างกว้าง ซึ่งทำให้การบรรยายการใช้สอยของส่วนต่าง ๆ ยากที่จะบรรยาย[25] ในปัจจุบันหอกลางที่เห็นกันว่าเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ อันที่จริงแล้วซอยเป็นห้องย่อย ๆ โดยการใช้ฉากเช่นเดียวกับห้องโถงทำงานสมัยใหม่ แม้แต่ปราสาทใหญ่ ๆ บางแห่ง “โถงเอก” (great hall) ของปราสาทก็อาจจะแยกจากห้องนอนและห้องทำงานของเจ้าของปราสาทเพียงการใช้ฉากกั้น[26]

กำแพงม่าน

กำแพงม่านเป็นกำแพงป้องกันที่ล้อมรอบลานปราสาทภายใน กำแพงต้องมีความสูงพอที่ไม่ให้ข้าศึกปีขึ้นด้วยบันไททำได้ง่าย และต้องมีความหนาพอที่จะทนทานแรงระเบิดของเครื่องมือกลไกต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำลายกำแพงได้ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมาอาวุธที่ใช้ก็รวมทั้งระเบิด โดยทั่วไปแล้วกำแพงก็จะหนาราว 3 เมตร และสูงราว 12 เมตร แต่ก็ต่างกันไปมากแล้วแต่ที่ตั้ง กำลังทรัพย์ และความสำคัญของปราสาท

การป้องกันจากการพยามระเบิดกำแพงจากภายใต้ของข้าศึก กำแพงม่านก็อาจจะเสริมด้วยฐานที่บานออกไปคล้าย “กระโปรง” ทางเดินบนกำแพงทำให้ผู้ป้องกันปราสาทสามารถใช้ในการป้องกันข้าศึกได้ด้วยการยิงด้วยศรลงมายังข้าศึกที่พยายามปีนขึ้นมา นอกนั้นตอนบนก็อาจจะสร้างเป็นเชิงเทินที่มีลักษณะเป็นใบสอ และมีป้อมเป็นระยะ ๆ ที่ใช้ในการระดมยิงข้าศึกตามแนวกำแพงได้สะดวก[27] ช่องธนูมิได้มีขึ้นจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 13 เพราะความกลัวที่ว่าอาจจะทำให้กำแพงไม่แข็งแรงเท่าที่ควร[28]

คูปราสาท

ปราสาท Caerlaverock ที่พรมแดนอังกฤษ/สกอตแลนด์มองจากอากาศ
ดูบทความหลักที่: คูปราสาท

คือร่องน้ำกว้างและลึกที่อาจจะเป็นคูแห้งหรือที่มีน้ำขังที่ขุดขึ้นรอบปราสาทก็ได้ ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นระบบการป้องกันจากการโจมตีจากบุคคลภายนอก การมีคูทำให้ยากต่อการเข้าโจมตีกำแพง หรือการใช้อาวุธที่ช่วยในการปีนกำแพงเช่นหอล้อมเมืองเคลื่อนที่ (siege tower) หรือ ไม้กระทุ้งกำแพง (Battering ram) ซึ่งเป็นอาวุธที่ต้องนำมาจ่อที่กำแพงจึงจะใช้ได้ นอกจากนั้นคูที่เป็นน้ำยังทำให้ยากต่อการพยายามขุดอุโมงค์ภายใต้กำแพงเพื่อทำการระเบิดทลายกำแพงได่อย่างมีประสิทธิภาพ

คูน้ำมักจะพบในบริเวณที่เป็นที่ลุ่มและมักจะเชื่อมกับแผ่นดินด้วยสะพานชัก ที่ต่อมามักจะสร้างแทนด้วยสะพานหิน นอกจากการสร้างคูแล้ว ปราสาทอาจจะตั้งอยู่บนเกาะเล็ก ๆ ที่มีน้ำล้อมรอบที่ก็ใช้เป็นระบบการป้องกันเช่นกัน[29] ต่อมาการสร้างคูน้ำก็ยิ่งวิวัฒนาการขึ้นอย่างสลับซับซ้อนเช่นระบบป้องกันของปราสาทแคร์ฟิลลีในเวลส์ หรือที่ปราสาทเคนิลเวิร์ธอันมีระบบคูน้ำป้องกันที่ใช้เขื่อนควบคุมการไหลเวียนของน้ำ

ปราสาทที่มีคูหรือล้อมรอบด้วยทะเลสาบเทียมเป็นสิ่งที่นิยมสร้างกันในอังกฤษ, สกอตแลนด์ และ เวลส์, กลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ, เยอรมนี, ออสเตรีย และเดนมาร์ก

ในสมัยต่อมาเมื่อปราสาทเปลี่ยนไปเป็นวังหรือคฤหาสน์ที่ไม่มีประโยชน์ใช้สอยทางด้านการป้องกันทางการทหารแล้ว แต่เป็นสถานที่สำหรับรับแขกและเป็นที่พำนักอาศัย คูรอบปราสาทหรือทะเลสาบก็กลายมาเป็นสิ่งตกแต่งแทนที่ แม้มาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 การก่อสร้างวังเพื่อความสำราญก็ยังคงสร้างให้มีคูล้อมรอบ เช่นคฤหาสน์โวซ์-เลอ-วิคงต์ที่ยังคงล้อมรอบด้วยคูน้ำแบบโบราณที่แยก “ประธานมณฑล” และเชื่อมด้วยสะพาน