ปลากระเบนราหูน้ำจืด
ปลากระเบนราหูน้ำจืด

ปลากระเบนราหูน้ำจืด

ปลากระเบนราหูน้ำจืด (อังกฤษ: Giant freshwater whipray; ชื่อวิทยาศาสตร์: Himantura polylepis) เป็นปลากระเบนน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จัดอยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae)จัดเป็นปลากระเบนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากปลากระเบนแมนตา (Manta spp.) ที่พบได้ในทะเล โดยมีน้ำหนักได้ถึง 600 กิโลกรัม ความกว้างได้ถึง 2.5–3 เมตร หรือมากกว่านั้น รวมถึงมีความยาวตั้งแต่ปลายส่วนหัวจรดปลายหางที่บันทึกไว้ได้ใหญ่ที่สุด คือ 5 เมตร ถือเป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก[2][3]มีส่วนหางเรียวยาวเหมือนแส้ มีลักษณะส่วนปลายหัวแหลม ขอบด้านหน้ามนกลมคล้ายใบโพ ลักษณะตัวเกือบเป็นรูปกลม ส่วนหางยาวไม่มีริ้วหนัง มีเงี่ยงแหลมที่โคนหาง 2 ชิ้น ซึ่งในปลาขนาดใหญ่อาจยาวได้ถึง 8–10 นิ้ว เมื่อหักไปแล้วสามารถงอกขึ้นได้ ในเงี่ยงมีสารเคมีที่มีลักษณะคล้ายเมือกลื่น มีสภาพเป็นสารโปรตีนมีฤทธิ์ในการทำลายเนื้อเยื่อ สำหรับปลาขนาดใหญ่ พิษนี้จะมีความรุนแรงเทียบเท่ากับพิษของงูกะปะ ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้เมื่อถูกแทงเข้า[4]กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ด้านบนของปีกและตัวเป็นสีเทาหรือน้ำตาลนวล หางสีคล้ำ ด้านล่างของตัวมีสีขาวนวล ที่ขอบปีกด้านล่างเป็นด่างสีดำ อาศัยในแม่น้ำสายใหญ่ ๆ จนถึงบริเวณใกล้ปากแม่น้ำ และยังพบในแม่น้ำสายใหญ่ต่าง ๆ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำแม่กลอง, แม่น้ำบางปะกง, แม่น้ำโขง, บอร์เนียว, นิวกินี รวมถึงเคยพบในบึงบอระเพ็ดด้วย แต่ปัจจุบันได้สูญพันธุ์หมดไปจากที่นี่แล้ว โดยสถานที่ ๆ มักพบตัวขนาดใหญ่ คือ แม่น้ำแม่กลอง บริเวณ 20 กิโลเมตรก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย ในเขตอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม[4]โดยปลาตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ และอาจมีน้ำหนักที่มากกว่าได้ถึง 80 เท่า เป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัว โดยลูกปลาที่ออกมาใหม่นั้นจะมีความยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 50 เซนติเมตร และมีปลอกหุ้มเงี่ยงหางเอาไว้ เพื่อมิให้ทำอันตรายต่อแม่ปลา ออกลูกครั้งละ 2–3 ตัว สันนิษฐานว่าที่ต้องมีขนาดตัวใหญ่เช่นนี้ เพื่อมิให้ตกเป็นอาหารของนักล่าชนิดต่าง ๆ ในแม่น้ำ[5]ได้ชื่อว่า "ราหู" เนื่องจากขนาดลำตัวที่ใหญ่เหมือนราหูอมจันทร์ตามคติของคนโบราณ อีกทั้งยังมีความเชื่ออีกด้วยว่า หากใครพบเห็นหรือจับปลากระเบนราหูน้ำจืดได้ จะพบกับความโชคร้าย[4]เดิมปลากระเบนราหูน้ำจืด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Himantura fluviatilis (ปัจจุบันใช้เป็นชื่อพ้องของ ปลากระเบนธง) โดยข้อมูลที่มีอยู่ระบุว่าพบในแม่น้ำสายใหญ่และทะเลสาบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[6] ต่อมา เมื่อการระบุชนิดพันธุ์ปลาถูกศึกษาให้ลงรายละเอียดยิ่งขึ้น ปลากระเบนราหูน้ำจืดจึงถูกอนุกรมวิธานในปี ค.ศ. 1990 โดย ศ.ดร.สุภาพ มงคลประสิทธิ์ ขณะดำรงตำแหน่งคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.ไทสัน โรเบิร์ตส์ แห่งสถาบันกองทุนสัตว์ป่าโลก โดยให้ใช้ชื่อว่า Himantura chaophraya ตามชื่อสถานที่ (แม่น้ำเจ้าพระยา) ได้ตัวอย่างต้นแบบแรกที่เป็นปลาตัวเมีย ขนาด 78 เซนติเมตร ที่ได้รับจาก กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์ นักสำรวจปลาน้ำจืดที่มีผลงานมากมายชาวไทย ซึ่งจับได้จากแม่น้ำเจ้าพระยาที่เขตอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[7] (แต่ต่อมาชื่อวิทยาศาสตร์ได้เปลี่ยนเป็น Himantura polylepis ตามที่เคยมีผู้ตั้งไว้ในอดีต[8][1] แต่ในข้อมูลบางแหล่ง ระบุว่าชื่อ Himantura polylepis อาจจะไม่แน่นอนว่าเป็นชนิดเดียวกันกับ Himantura chaophraya ก็ได้ จึงยังคงใช้ชื่อเดิมอยู่[6])ปลากระเบนราหูน้ำจืดมักถูกพบจับขึ้นมาชำแหละเนื้อขายเสมอในจังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่จังหวัดชัยนาทจนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปากแม่น้ำแม่กลอง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อย ๆ ตามหน้าสื่อมวลชนต่าง ๆปัจจุบัน ปลากระเบนราหูน้ำจืดจัดเป็นปลาน้ำจืดไทยอีกชนิดหนึ่งที่ใกล้จะสูญพันธุ์ อันเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป[9]รวมถึงมีข้อมูลทางวิชาการน้อยมาก แต่ได้มีการศึกษาวิจัย โดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเก็บตัวอย่างเลือด, ดีเอ็นเอ และเมือกพิษ เพื่อนำไปศึกษาเพื่อเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับปลาชนิดนี้ต่อไป[4]