การเป็นที่รู้จักและจำแนกชั้น ของ ปลาตะพัดพม่า

เดิมที ปลาตะพัดพม่าถูกจัดเป็นชนิดเดียวกันกับปลาตะพัดหรือปลาอะโรวาน่าเอเชียทั่วไป แต่เป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี พ.ศ. 2536 จากการเข้าไปสำรวจปลาของผู้เชี่ยวชาญชาวไทยในพื้นที่ป่าดิบบริเวณรอยต่อระหว่างประเทศไทยและพม่า บริเวณแม่น้ำตะนาวศรี ในเขตตะนาวศรีของพม่า จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการเข้าไปสำรวจเพื่อจับปลาอย่างแท้จริง โดยได้ปลามาจำนวน 2 ตัว ที่บริเวณวังน้ำบนภูเขาที่เป็นสาขาของแม่น้ำตะนาวศรี แต่ปลาได้ตายลงขณะเดินทางกลับเพราะเส้นทางวิบากมาก แต่ได้มีการถ่ายรูปปลาทั้ง 2 ตัวนี้ไว้ และได้แพร่กระจายไปในหมู่นักเลี้ยงปลาในระดับสูงทั้งชาวไทยและชาวญี่ปุ่น ซึ่งในขณะนั้นปลาตะพัดพม่า ได้เป็นที่รู้จักในชื่อ "บลู อะโรวาน่า"

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2555 ดร.ไทสัน อาร์. โรเบิร์ตส์ นักมีนวิทยาชาวอเมริกันได้บรรยายคุณลักษณะของปลาตะพัดพม่าในทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้ตัวอย่างต้นแบบ 2 ตัวอย่างซึ่งเป็นปลาที่ตายแล้วจากผู้ค้าปลาสวยงามที่เมืองมะริด และถูกฝากไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จังหวัดปทุมธานี และมีคุณลักษณะดังเช่นที่ว่ามาในตอนต้น ซึ่งปลาตะพัดพม่านั้นมีถิ่นกำเนิดที่แม่น้ำตะนาวศรี และพบได้ในคลองละงู จังหวัดสตูล ในไทย และพบได้จนถึงทะเลสาบบางแห่งในตอนเหนือมาเลเซีย นอกจากนี้แล้วยังมีผู้ที่น่าเชื่ออ้างว่าพบเห็นบนเกาะภูเก็ตอีกด้วย โดยที่คำว่า inscriptus ที่ใช้เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ มาจากคำว่า "inscribeb" เป็นภาษาละตินแปลว่า "จารึกไว้" อันหมายถึง ลวดลายบนตัวปลานั่นเอง[1]