พบในประเทศไทย ของ ปลาตะลุมพุก

สำหรับในประเทศไทย ในอดีตราว 60 ปีก่อน เคยพบชุกชุมในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะว่ายเข้ามาวางไข่ถึงตำบลบางยี่ขัน อำเภอบางพลัด เชื่อกันว่าปลาชนิดนี้ชอบมากินกากส่าเหล้าที่โรงสุราบางยี่ขัน (ปัจจุบัน คือ ที่ตั้งของมูลนิธิชัยพัฒนา ภายในสวนหลวงพระราม 8 บริเวณเชิงสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี) กลั่นทิ้ง โดยแหล่งขึ้นชื่อการวางไข่ของปลาตะลุมพุก พบได้ตั้งแต่ตำบลสามเสน ขึ้นไปวางไข่ไกลถึงอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี รวมถึงพบชุกชุมที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช อันเป็นที่มาของชื่อสถานที่ด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีอนุสาวรีย์ปลาตะลุมพุกสีเหลืองแสดงไว้อยู่[3]

ในปี ค.ศ. 1935 ซึ่งในเวลานั้นจำนวนปลาก็ลดลงมากแล้ว ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ อธิบดีกรมประมงคนแรกรายงานว่า

เป็นปลาที่มีความนิยมมากในหมู่คนจีน และมีผู้มารอรับซื้อจากชาวประมงอวนลอย ให้ราคาตัวละ 1-3 บาท

ปัจจุบัน ปลาตะลุมพุกสูญพันธุ์ไปแล้วจากแม่น้ำเจ้าพระยา และหายากมากที่ทะเลสาบสงขลาและระนอง แต่ยังมีพบบ้างที่แม่น้ำราจังที่รัฐซาราวัก ในมาเลเซีย แต่ก็ลดจำนวนลงมากแล้ว [4] ปลาตะลุมพุกที่พบวางขายในตลาดสดในกรุงเทพมหานคร หรือภาคใต้ นั้นนำเข้ามาจากประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ได้แก่ พม่า, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย เข้าใจว่าน่าจะเป็นปลาตะลุมพุกชนิด T. ilisha ซึ่งเป็นปลาคนละชนิดมากกว่า เป็นปลาที่ชาวจีนนิยมบริโภคมาก แม้ว่าเนื้อจะมีก้างมาก แต่ต้องรู้วิธีการปรุงและบริโภคจึงไม่ถูกก้างตำ เนื้อมีรสชาติดี มีราคาขายที่แพงมาก[5]

ในกลางปี ค.ศ. 2010 ทางกรมประมงได้ทำโครงการปะการังเทียมขึ้นทั้งทางอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ปรากฏว่า มีปลาหลายชนิดที่หายากหวนกลับคืนมา รวมถึงปลาตะลุมพุกด้วย[6]