ปลามีดโกน
ปลามีดโกน

ปลามีดโกน

ปลามีดโกน หรือ ปลาใบมีดโกน หรือ ปลาข้างใส (อังกฤษ: Razorfish, Shrimpfish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Aeoliscus strigatus) ปลาทะเลชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาใบมีดโกน (Centriscidae)มีรูปร่างเหมือนใบมีดโกน จะงอยปากยาวมากและงอนขึ้นเล็กน้อย ท้องบาง ผิวเป็นแผ่นกระดูกบาง ด้านท้ายยื่นแหลม ครีบหลัง, ครีบหาง และครีบก้นอยู่ชิดกัน ลำตัวใสเป็นสีชมพูหรือสีเนื้อเหลือบ มีแถบสีดำพาดจากปลายปากจนถึงส่วนท้ายลำตัวมีความยาวโดยเฉลี่ย 10 เซนติเมตร และสามารถโตเต็มที่ได้ 15 เซนติเมตร[3] พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในแถบอินโด-แปซิฟิก โดยอาศัยอยู่กับปะการัง, กัลปังหา และหนามของเม่นทะเล เพื่อหลบหลีกจากศัตรูผู้ล่า เนื่องจากไม่มีอาวุธอะไรที่จะป้องกันตัวได้ มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง จะเอาหัวทิ่มลงพื้นเสมอ และตั้งฉากกับพื้นทะเล แม้แต่จะว่ายน้ำไปไหนมาไหนก็จะไปด้วยลักษณะเช่นนี้เสมอ ในน่านน้ำไทยจัดเป็นปลาที่พบได้บ่อยในบางพื้นที่[4]กินแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหาร นิยมเลี้ยงกันในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และเป็นปลาสวยงาม[3]ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว โดยกรมประมง ของประเทศไทย โดยเพาะขยายพันธุ์ในบ่อ ด้วยการให้กินแพลงก์ตอนสัตว์, เคย และโคพีพอด หลังจากฟักแล้ว ลูกปลาจะเริ่มเห็นตัวเมื่ออายุได้ 12-15 วัน จากนั้นจะย้ายลูกปลาไปไว้ในบ่ออนุบาลต่อไป และเปลี่ยนมาให้ลูกปลากินอาร์ทีเมีย เมื่อปลามีความยาวได้ราว 2 นิ้ว ก็จะกินเคยได้เหมือนปลาวัยโต[5] แต่ลูกปลาที่ยังเล็กอยู่ คืออายุไม่เกิน 15 วัน จะมีการว่ายน้ำเหมือนกับปลาส่วนใหญ่ทั่วไป จนกระทั่งมีรูปร่างเหมือนปลามีดโกน จึงจะอยู่ในลักษณะหัวทิ่ม และเข้ามารวมฝูงกัน[1]นอกจากนี้แล้ว ปลามีดโกนยังเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง เพราะแทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างเลยมานานกว่า 60 ล้านปีแล้ว ตั้งแต่ยุคต้นไมโอซีน เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับฟอสซิลบรรพบุรุษของปลาชนิดนี้ที่ขุดพบที่เทือกเขาแอลป์ทางตอนเหนือของอิตาลี[1]