ปสาน
ปสาน

ปสาน

ปสาน,[1] ยี่สาน[1] (เปอร์เซีย: بازار‎), ซูก (อาหรับ: سوق‎) หรือ บะซาร์ (อังกฤษ: bazaar) คือตลาดหรือสถานที่ซื้อขายสินค้าและบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตะวันออกกลาง มักตั้งอยู่ในพื้นที่ปิดล้อมถาวรหรือมีหลังคาคลุมถาวรหลักฐานการมีอยู่ของปสานหรือซูกย้อนไปได้ถึงประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช[2] แม้ว่าการขาดหลักฐานทางโบราณคดีจะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาวิวัฒนาการของปสานอย่างละเอียด แต่ก็มีสิ่งบ่งชี้ว่าปสานในยุคแรกเป็นตลาดกลางแจ้งที่เกิดขึ้นนอกกำแพงเมืองเพื่อตอบสนองความต้องการของสถานีคาราวาน เมื่อเมืองและนครต่าง ๆ มีประชากรเพิ่มขึ้น ปสานเหล่านี้จึงย้ายเข้ามาอยู่ในใจกลางเมืองและขยายตัวในแนวเดี่ยวไปตามถนนที่ทอดยาวจากประตูเมืองหนึ่งไปยังอีกประตูหนึ่งที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของเมือง[3] ปสานกลายเป็นทางเดินที่มีหลังคาคลุม[4] เมื่อเวลาผ่านไป ปสานเหล่านี้ได้สร้างเครือข่ายศูนย์กลางการค้าที่เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนทั้งผลผลิต ข้อมูล และวัฒนธรรม[5] การเพิ่มขึ้นของปสานและศูนย์ซื้อขายสินค้าคงคลังขนาดใหญ่ในโลกมุสลิมทำให้เกิดเมืองหลวงใหม่และจักรวรรดิใหม่ในที่สุด เมืองใหม่ที่มีความมั่งคั่งอย่างเอสแฟฮอน สุรัต อาครา ไคโร และทิมบักตูเป็นต้นนั้นก่อตัวขึ้นตามแนวเส้นทางการค้าและปสานในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 ความสนใจวัฒนธรรมตะวันออกของชาวตะวันตกนำไปสู่การตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับชีวิตประจำวันในบรรดาประเทศตะวันออกกลาง ฉากปสานและกิจกรรมการค้าขายในชีวิตประจำวันเป็นเนื้อหาเด่นในภาพเขียนและภาพพิมพ์ลายแกะ บันเทิงคดี และงานเขียนเชิงท่องเที่ยว[6]การจับจ่ายใช้สอยที่ปสานยังคงเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของชีวิตประจำวันในเมืองและนครต่าง ๆ ในตะวันออกกลางและเอเชียใต้ และปสานยังคงเป็น "หัวใจที่ยังเต้นอยู่"[7] ของชีวิตในเอเชียตะวันตกและเอเชียใต้ ในตะวันออกกลางมักพบปสานได้ในย่านเมืองเก่าของเมือง บ่อยครั้งปสานกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ พื้นที่ปสานจำนวนหนึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกเนื่องจากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หรือสถาปัตยกรรม