ทรัพย์สิน ของ ปัทมานภสวามีมนเทียร

Wikinews
วิกิข่าว มีข่าวเกี่ยวกับบทความ:
Hidden treasure worth billions of dollars discovered in Indian temple

ทั้งปัทมานภสวามีมนเทียรและทรัพย์สินทั้งปวงของมนเทียรนั้นเป็นของพระปัทมานภสวามี และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการทรัพย์สิน (trust) มาอย่างยาวนาน คณะกรรมการทรัพย์สินนั้นนำโดย ราชสกุลตรวันโกเร (Travancore royal family) อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ศาลสูงสุดของอินเดียได้ปลดราชสกุลนี้ออกจากการดูแลทรัพย์สิน[6][7][8][9] การดำเนินคดีของที.พี. สุนทรราชัน (T P Sundararajan) ได้เปลี่ยนมุมมองของผู้คนต่อมนเทียรนี้ไปตลอดกาล

เมื่อเดือนมิถุนายน 2011 ศาลสูงได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่จากฝ่ายโบราณคดีและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าเปิดห้องลับทั้งหลายของมนเทียรเพื่อตรวจสอบวัตถุที่ถูกเก็บไว้ภายใน[10] จนถึงปัจจุบันมีการค้นพบห้องเก็บของใต้ดิน (vault) เรียกว่า นิลวร (nilavara) ของมนเทียรแล้ว 6 ห้อง ซึ่งได้ตั้งชื่อตามอักษรอังกฤษ A ถึง F ในขณะที่ห้อง B ไม่เคยถูกเปิดออกเลยเป็นเวลาหลายศตวรรษ เป็นไปได้ว่าห้อง A เคยถูกเปิดแล้วครั้งหนึ่งในทศวรรษ 1930s ส่วนห้อง C ถึง F นั้นมีการเปิดเข้าออกเป็นบางครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา เปรียา นัมภิ (Periya Nambi) กับ เฐกเกธาตุ นัมภิ (Thekkedathu Nambi) นักบวชสององค์ เป็นผู้ดูแลห้อง C ถึง F ทั้งสี่ห้อง ศาลสูงได้กำกับให้ "ประกอบพิธีตามความเชื่อ" ของมนเทียรในการเปิดห้องแต่ละห้อง และให้นำสมบัติต่าง ๆ ในทั้งสี่ห้องออกมาจัดการและจัดเก็บอย่างเป็นระบบ ส่วนห้อง A และ B นั้นจะเปิดได้ก็เพื่อการจัดเก็บสิ่งต่าง ๆ เท่านั้น แล้วให้ปิด การตรวจสอบห้องเก็บสมบัติใต้ดินนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการเจ็ดคน ซึ่งศาลสูงอินเดียเป็นผู้แต่งตั้ง โดยมีหน้าที่ให้จัดเก็บแลจัดการสมบัติต่าง ๆ อย่างเป็นระบบระเบียบ อันนำไปสู่การจัดประเภทของสมบัติต่าง ๆ จำนวนมหาศาลนี้ รายละเอียดของสมบัติที่พบ ทั้งทองคำ อัญมณี และของมีค่าอื่น ๆ นั้นยังไม่ได้มีการทำออกมาอย่างละเอียดตลอดการจัดการนั้น ห้อง A, C, D, E และ F ได้ถูกเปิดเข้าออกเช่นเดียวกับห้องย่อย ๆ ในขณะที่มีเพียงห้อง B เท่านั้นที่ยังคงไม่ถูกเปิดออก รายการสมบัติที่พบเช่น เทวรูปพระมหาวิษณุทองคำสูงสามฟุตครึ่ง พร้อมทั้งเพชรและทับทิมรวมถึงหินมีค่าอื่น ๆ[11] นอกจากนี้ยังพบโซ่ทองคำแท้ยาว 18 ฟุต กองทองคำหนัก 500 กิโลกรัม ผ้าคลุมใบหน้าทองคำหนัก 36 กิโลกรัม สายเหรียญทองคำ 'Sarappalli' 1200 เหรียญ ที่ประดับขอบด้วยหินมีค่า ท่ามกลางกองโบราณวัตถุ, สร้อยคอ, มงกุฏ ซึ่งทำมาจากหรือตกแต่งด้วยทองคำ เพชร ทับทิม หินและเหล็กมีค่าอื่น ๆ[12][13][14][15] นอกจากนี้ยังพบเครื่องทรงสำหรับพิธีกรรมในการบูชาเทพองค์ประธานของมนเทียรนั้นเป็นชิ้นส่วนสำหรับสวมใส่ 16 ชิ้น ทำมาจากทองคำและตกแต่งด้วยทับทิมกับมรกต หนักรวมกว่า 30 กิโลกรัม และเหรียญจากศตวรรษที่ 18 หรือราวยุคของนโปเลียน[3] ต่อมาในช่วงต้นปี 2012 คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญได้ถูกแต่งตั้งเพื่อตรวจสอบโบราณวัตถุต่าง ๆ[16][17] วิโนท ไร (Vinod Rai) อดีตเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลางและผู้ตรวจสอบบัญชี (Comptroller-and-Auditor-General; CAG) แห่งชาติของอินเดีย ผู้เคยตรวจสอบบัญชีของมนเทียรบางส่วนจากปี 1990 ได้ระบุว่าเมื่อสิงหาคม 2014 ในห้อง A ได้พบกองเหรียญทองคำหนักรวม 800 กิโลกรัม อายุราว 200 ปีก่อนคริสต์กาล มูลค่ารวมกว่า2.7 โคร (11.5 สิบล้านบาท)[18] ผู้คนที่เคยได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการตรวจสอบนี้ระบุว่ามีโอกาสได้เห็นทั้ง บัลลังก์ทองคำ เพชรมากมาย ซึ่งบางเม็ดนั้นมีขนาดใหญ่เกือบเท่านิ้วโป้งของผู้ชายโตเต็มวัย[19] ในหลายรายงานได้ระบุว่าพบมงกุฏอย่างน้อยแล้ว 3 อันซึ่งล้วนทำมาจากทองคำและประดับด้วยอัญมณีมีค่า[20][21][22] ในบางรายงานระบุถึงเก้าอี้ทองคำหลายร้อยตัส, ถ้วยไหทองคำเป็นพันใบ ท่ามกลางสมบัติอีกมากเกินความคาดหมายที่พบในห้อง A[23]

การเปิดเผยครั้งนี้เป็นการยืนยันสถานะให้กับปัทมานภสวามีมนเทียรว่าเป็นศาสนสถานที่ร่ำรวยที่สุดในโลก[24] มีการประมาณมูลค่ารวมของวัตถุชิ้นใหญ่ ๆ ไว้ที่เกือบ ₹1.2 lakh crore หรือ ₹1.2 ล้านล้าน (510.5 แสนล้านบาท) แต่หากรวมมูลค่าทางโบราณคดี วัฒนธรรม และความเก่าแก่เข้าไปแล้ว มูลค่านั้นอาจสูงกว่ามูลค่าตลาดที่ประเมินไว้ได้ถึงสิบเท่า[25]

ทั้ง ๆ ที่ยังมีบางห้องและห้องย่อยที่ยังไม่ได้เปิดรวมอีก 3 ห้องจากจำนวนรวม 8 ห้อง สมบัติเท่าที่ค้นพบนี้นั้นถือว่าเป็นการเก็บรวบรวมวัตถุทองคำและหินมีค่าที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก[26][27]

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ทีมผู้เชี่ยวชาญทั้งเจ็ดคนได้ลงความเห็นว่าจะเลื่อนการเปิดค้นห้อง B ออกไปก่อน เนื่องด้วยห้อง B ยังไม่เคยถูกเปิดมาก่อนเลย เป็นที่เชื่อกันว่าการเปิดห้องนี้ออกจะถือเป็นโชคร้ายอย่างรุนแรง[28] ราชสกุลผู้ดูแลทรัพย์สินกล่าวว่ามีตำนานมากมายเกี่ยวกับมนเทียรนี้ และห้อง B ได้ทำประตูด้วยเหล็กพร้อมรูปสลักของงูใหญ่สองตัว เพื่อเป็นการเตือนถึงโชคร้ายอย่างรุนแรงที่จะเกิดขึ้นเมื่อเปิดห้องนี้ออก[29][30] มีการประกอบพิธีอัษฏมงคล เทวปรัสนัม (Ashtamangala Devaprasnam) ขึ้น เพื่อทราบพระประสงค์ขององค์เทพเจ้าองค์ประธานของมนเทียรต่อการเปิดห้อง B ซึ่งหลังการประกอบพิธี คณะกรรมการและนักบวชได้ระบุว่าการพยายามจะเปิดห้อง B ครั้งใดก็ตาม จะเป็นการสร้างความไม่พอพระหฤทัยแก่พระองค์ ในขณะเดียวกันผู้ที่จัดการสมบัติยังพบว่าสมบัติศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงในห้องอื่น ๆ ที่นำออกมาแล้วนั้นก็ได้บังเกิดความโสโครกขึ้นในกระบวนการจัดเก็บ[31] ผู้ซึ่งฎีกาให้ศาลสูงต้องสั่งให้มีการจัดเก็บสมบัติทั้งหมดที่กล่าวมานี้ขึ้น ที.พี. สุนทราชัน (T.P. Sundarajan) เสียชีวิตลงในเดือนกรกฎาคม 2011 การเสียชีวิตของเขาทำให้ความเชื่อต่าง ๆ เรื่องโชคร้ายและคำสาปของสมบัติในมนเทียรนี้ มีมูลมากขึ้นไปกว่าเดิม[32]

ห้อง B (ห้องเก็บสมบัติต้องห้าม)

ในตำนานที่เป็นที่พูดถึงมากตำนานหนึ่ง เทวดาและฤาษีหลายองค์ที่นับถือในพระพลรามได้เดินทางมาเข้าเฝ้าพระองค์ที่สระปัทมตีรฐัม (Padmateertham) ในเมืองฐิรุวานันถปุรัม (Thiruvananthapuram) แห่งนี้ และได้ขอพระอนุญาตในการอยู่อาศียในบริเวณนั้นเพื่อจะได้บูชาพระองค ซึ่งพระองค์ทรงอนุญาต เชื่อกันว่าบรรดาเทวดาและฤาษีได้อยู่อาศัยภายในห้องเก็บสมบัติ B (กลลร B; Kallara B) เพื่อถวายบูชาแด่พระองค์ เช่นเดียวกันกับนาคเทวดาที่ศรัทธาในพระองค์[33] รวมทั้ง Kanjirottu Yakshi ผู้ซึ่งปรากฏในภาพเขียนฝาผนังในครรภคฤห์ของมนเทียร ก็สถิตอยู่ในกลลรนี้เพื่อบูชาพระนรสิงห์ด้วย[34] วัตถุศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เช่นศรีจักรัม (ศรีจักร; Sreechakram) ได้ถูกติดตั้งไว้ใต้กลลรนี้เพื่อเสริมพลังให้แก่องค์เทพเจ้าองค์ประธานของมนเทียรนี้ เชื่อกันว่าพระอุครนรสิงห์แห่งเฐกเกโดม (Ugra Narasimha of Thekkedom) เป็นผู้พิทักษ์ปกป้องกลลร B นี้ ในพิธีอัษฏมงคล เทวปรัสนัม (Ashtamangala Devaprasnam) ระยะเวลาสี่วันซึ่งประกอบเมื่อเดือนสิงหาคม 2011 ได้ประกาศให้กลลร B เป็น "เขตต้องห้ามเด็ดขาด"[35]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ปัทมานภสวามีมนเทียร http://www.asianage.com/india/legend-halts-kerala-... http://www.bullionstreet.com/news/india-to-evaluat... http://www.commodityonline.com/news/gold-treasure-... http://www.foxnews.com/science/2012/10/02/results-... http://www.indianexpress.com/news/Apex-court-restr... http://articles.economictimes.indiatimes.com/2011-... http://articles.timesofindia.indiatimes.com/2011-0... http://articles.timesofindia.indiatimes.com/2011-0... http://articles.timesofindia.indiatimes.com/2011-0... http://temples.newkerala.com/Temples-of-India/Temp...