งานสร้างภาพยนตร์ ของ ปืนใหญ่จอมสลัด

บทภาพยนตร์

บทภาพยนตร์เรื่อง ปืนใหญ่จอมสลัด เขียนขึ้นโดยนักเขียนรางวัลซีไรต์ วินทร์ เลียววาริณ โดยนนทรีย์ที่เป็นแฟนหนังสือคุณวินทร์มานานแล้ว ติดต่อ เชิญให้มาเขียนบท โดยมีรูปแบบของนวนิยายอิงประวัติศาสตร์บวกกับกำลังภายใน แฟนตาซี และนิยายรัก[2] โดยใช้เวลาเขียนบทไม่ต่ำกว่า 3 ปี[3] โดยวินทร์ เลียววาริณได้รับแนวความคิดจากนนทรีย์ว่าอยากจะทำเรื่องเกี่ยวกับโจรสลัดในภาคใต้ของไทย ที่เกิดขึ้นแถวเกาะตะรุเตา พอวินทร์เริ่มเขียนบทได้ระยะหนึ่ง ก็พบข้อมูลใหม่ว่าภาคใต้มีโจรสลัดในช่วง 400 ปีก่อน จึงเกิดเป็นเนื้อเรื่องของโครงเรื่องนี้[4]

สถานที่ถ่ายทำ

เกาะสีชัง สถานที่ถ่ายทำหมู่บ้านชาวเล

ภาพยนตร์เรื่อง ปืนใหญ่จอมสลัด ใช้เวลาเตรียมงานสร้างและถ่ายทำร่วม 5 ปี มีทีมงานกว่า 1,000 ชีวิต โดยทีมงานเลือกใช้สถานที่ทางทะเลหลายแห่งในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ที่ เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่สร้างเป็นหมู่บ้านชาวเล โดยใช้เวลาสร้าง 3 เดือน และฉากหมู่บ้านข้าง ๆ ที่เป็นลักษณะของท่าเรืออีก 1 เดือน รวมเป็น 4 เดือนกว่า แต่เมื่อสร้างเสร็จก็โดนพายุพังหมดจึงต้องสร้างใหม่อีก 2 เดือน โดยฉากหมู่บ้านได้รับแนวคิดมาจากหมู่บ้านชาวเลแถบเกาะบอร์เนียว สร้างบ้านเกือบ 20 หลัง แบบสร้างและถอดได้[5]

ฉากที่ถ่ายทำที่ อ.สัตหีบ เพื่อถ่ายทำเรื่องราวในส่วนกลางทะเลและกำแพงวัง และจังหวัดกระบี่และพังงา เพื่อถ่ายทำฉากถ้ำบนเกาะ ส่วนฉากอื่น ๆ ในเรื่องเช่น ภายในพระราชวังลังกาสุกะ ไปจนถึงการสู้รบบนเรือโจรสลัด ด้วยการสร้างเรือหลายรูปแบบที่สามารถใช้ได้จริง ฉากถ้ำอีกา ถ่ายทำที่ถ้ำลูกเสือพังงาและที่ถ้ำสระยวนทองกระบี่ เป็นถ้ำที่คุมขัง ใช้เวลาในการเซตติ้ง 5-6 เดือนในการเซตฉากทั้งหมด ทั้งยังต้องสร้างเพิ่มเพราะบางถ้ำมีรูจึงต้องปิด[6]

อุปกรณ์ประกอบ

เรื่องอุปกรณ์ประกอบ อย่างเรือ ทั้งเรือพวกฮอลันดาและเรือโจรสลัด ทีมงานลงทุนต่อเรือขึ้นมาโดยเฉพาะ ส่วนอาวุธของแต่ละฝ่ายจะมีความแตกต่างกัน อย่างเช่นอาวุธของฝ่ายลังกาสุกะจะมีความละเอียดงดงาม มีลวดลายแกะสลัก อาวุธของชาวน้ำมีความเรียบง่าย มีลวดลายเฉพาะตัว ในเรื่องเสื้อผ้า การแต่งกาย ฝ่ายลังกาสุกะอ้างอิงมาจากของจริง โดยส่งทีมงานค้นคว้าถึงประเทศมาเลเซีย โดยผสมงานเสื้อผ้าของมลายูกับไทย แต่จะออกไปทางมลายู โดยผ้าที่ใช้ต้องสั่งทอพิเศษโดยผ้าแต่ละผืนมาจากที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศไทย การแต่งกายของชาวน้ำจะไม่ซับซ้อน เป็นเสื้อผ้าง่าย ๆ เช่น นุ่งผ้าเตี่ยวและไม่ใส่เสื้อสำหรับผู้ชาย และจะเห็นรอยสักของทุกคน ที่ได้แนวความคิดจากชนเผ่าต่าง ๆ ในโลกเช่น เผ่าเมารี ที่รอยสักมีความหมายต่อพวกเขา และเสื้อผ้าฝ่ายโจรสลัดจะมีความเป็นนักรบมากกว่าชาวน้ำ มีเสื้อผ้าลักษณะหนังปลากระเบน เป็นเสื้อเกราะ นอกจากนี้ยังมีเสื้อผ้าโจรสลัดกลุ่มอื่น อย่าง โจรสลัดวาโกะจากญี่ปุ่น ออกแบบคล้ายนินจาและซามูไร และสลัดจากชวาและสลัดยะโฮร์อีกด้วย[4]

ปืนใหญ่ที่เป็นแรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่องนี้มาจาก ปืนพญาตานี ที่ตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม มีปืนคู่แฝดที่ชื่อ ปืนศรีนคราและ ปืนมหาลาโล ซึ่งในประวัติศาสตร์ปืนเหล่านี้หล่อจากรัฐปัตตานี ผู้สร้างจึงนำเรื่องราวของปืนใหญ่และเพิ่มเติมความแฟนตาซีเข้าไป มหาปืนใหญ่นั้นได้รวมต้นแบบปืนใหญ่ 2 กระบอกที่ต่างมีข้อเด่นเรื่องระยะการยิงและพลังทำลายเข้าด้วยกัน ในส่วนรายละเอียดจะเห็นตราประทับของบริษัทวีโอซี ซึ่งเป็นบริษัทของชาวฮอลันดา ที่รับทำปืนใหญ่ในสมัยนั้น นอกจากนี้ปืนมหาลาโล ซึ่งทำโดย ลิ่มโต๊ะเคี่ยมหรือลิ่มเคี่ยม ก็เป็นบุคคลตัวจริงในประวัติศาสตร์อีกด้วย โดยเป็นพี่ชายของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว [4]

การถ่ายทำ

ฉากใต้น้ำ นักแสดงทุกคนเรียนการดำน้ำ เป็นคอร์สสั้น 2 อาทิตย์ เพื่อให้ชินกับการไม่หายใจหรือหายใจออกอย่างเดียว การถ่ายทำ ถ่ายทั้งในสระว่ายน้ำและในทะเลจริง[7] ใช้เวลาถ่ายทำฉากใต้น้ำ 3 เดือน[8] มีการใช้เทคนิคพิเศษด้านภาพ ภาพกว่า 2,000 ช็อต โดยบริษัท บลูแฟรี จำกัด[9]

ใกล้เคียง

ปืนใหญ่จอมสลัด ปืนใหญ่ ปืนใหญ่ลำกล้อง ปืนใหญ่อัตตาจรซีซาร์ ปืนใหญ่อัตตาจร เอ็ม107 ปืนใหญ่อัตตาจรอาร์เชอร์ ปืนใหญ่อัตตาจร ปืนใหญ่จู่โจม ปืนใหญ่มังกรทอง ปืนใหญ่อากาศ เอ็ม 61

แหล่งที่มา

WikiPedia: ปืนใหญ่จอมสลัด http://www.bangkokpost.com/Realtime/30May2008_real... http://www.boomerangshop.com/web/productdetail.asp... http://www.daradaily.com/news/12395/%E0%B8%9C%E0%B... http://www.deknang.com/index.php?option=content&ta... http://www.hollywoodreporter.com/hr/content_displa... http://www.imdb.com/title/tt1262945/ http://www.mono2u.com/review/content/the_queen_of_... http://gossipstar.mthai.com/tv-content/15861 http://news.sanook.com/entertain/entertain_315162.... http://www.thaifilmdb.com/th/tt04136/