ประวัติ ของ ปูเลาตีกุซ

ปูเลาตีกุซเป็นแหล่งอาศัยของชาวยูเรเชียผู้ลี้ภัยทางศาสนาจากเกาะภูเก็ตของสยาม ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก อพยพเข้าไปยังปูเลาตีกุซเมื่อปี ค.ศ. 1811 ต่อมามีชาวยูเรเชียอีกกลุ่ม ที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในจอร์จทาวน์ตั้งแต่ ค.ศ. 1786 อพยพเข้าไปสมทบ[6][7] พวกเขาตั้งชื่อแหล่งที่อยู่ว่า "ปูเลาตีกุซ" และเริ่มก่อสร้างชุมชนคริสต์ชื่อกัมปงเซอรานี (Kampong Serani; "บ้านลูกครึ่งคริสตัง") มีศูนย์กลางที่โบสถ์แม่พระปฏิสนธินิรมล[6]

นอกจากชาวยูเรเชียจากสยามแล้ว ยังมีชาวพม่าเข้าไปตั้งถิ่นฐานในปูเลาตีกุซเป็นกลุ่มแรก ๆ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เช่นกัน โดยมีชุมชนของตนเองเรียกว่ากัมปงอาวา (Kampong Ava; "บ้านอังวะ") มีศาสนสถานสำคัญคือวัดพม่าธัมมิการาม สร้างมาตั้งแต่ ค.ศ. 1803 ส่วนชาวสยามมีชุมชนหลักเรียกว่ากัมปงเซียม (Kampong Siam; "บ้านสยาม") มีศาสนสถานทั้งหมดสามแห่งในปูเลาตีกุซคือวัดไชยมังคลาราม (โหละติโกย), วัดบุปผาราม และวัดสว่างอารมณ์ (สากัตจัง) แต่ปัจจุบันเหลือเพียงสองวัดแรกเท่านั้น[4] ส่วนวัดสว่างอารมณ์ถูกแปรเป็นวัดจีนชื่อวัดอั้งฮกซี (Ang Hoc See)[8]

ใน ค.ศ. 1933 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พร้อมด้วยพระธิดาสามองค์คือ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล และหม่อมเจ้าพัฒนายุคุณวรรณ ดิศกุล ทรงลี้ภัยทางการเมืองมาประทับ ณ ซินนะมอนฮอลล์ (Cinnamon Hall) ถนนเกอลาไวในย่านปูเลาตีกุซ ปัจจุบันซินนะมอนฮอลล์ถูกรื้อไปแล้ว[9]

จากการขยายตัวของจอร์จทาวน์ในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา ปูเลาตีกุซจึงถูกกลืนกลายเป็นชานเมืองของจอร์จทาวน์[4] ช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาได้มีการขยายตัวของคอนโดมิเนียมหรูและอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์แถบปูเลาตีกุซและเกอร์นีย์ไดรฟ์

แหล่งที่มา

WikiPedia: ปูเลาตีกุซ http://www.expatgo.com/my/2014/04/11/the-story-beh... http://www.thestar.com.my/news/nation/2005/05/16/c... http://www.mbpp.gov.my/ http://www.penangstory.net.my/mino-content-paperan... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.thapra.lib.su.ac.th/objects/thesis/full... https://www.sarakadee.com/2013/03/18/kromdamrong/ https://www.timeout.com/penang/attractions/pulau-t... https://archive.org/details/streetsofgeorget00khoo https://www.tci-thaijo.org/index.php/rusamelae/art...