ป้อมอาเมร์
ป้อมอาเมร์

ป้อมอาเมร์

ป้อมอาเมร์ (ฮินดี: आमेर क़िला, อังกฤษ: Amer Fort) หรือ ป้อมแอมเบอร์ (Amber Fort) ตั้งอยู่ที่เมืองอาเมร์ ชานเมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย (เป็นเมืองเล็กๆที่มีขนาดเพียง 4 กิโลตารางเมตร (1.5 ตารางไมล์)[1]) ห่างจากชัยปุระเป็นระยะทาง 11 กิโลเมตร (6.8 ไมล์) ป้อมอาเมร์นั้นเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของชัยปุระ โดยที่ตั้งนั้นโดดเด่นอยู่บนผาหินเหนือทะเลสาบ[2][3] สร้างโดยมหาราชา มาน สิงห์ที่ 1 ป้อมปราการแห่งนี้มีชื่อเสียงทางด้านสถาปัตยกรรมซึ่งผสมผสานกันระหว่างศิลปะฮินดูและศิลปะราชปุตอันเป็นเอกลักษณ์ สามารถมองเห็นได้จากระยะทางไกลเนื่องจากมีขนาดกำแพงปราการที่ใหญ่และแน่นหนา พร้อมประตูทางเข้าหลายแห่ง ถนนที่ปูด้วยหินหลายสาย ซึ่งเมื่ออยู่บนป้อมแล้วสามารถมองเห็นทะเลสาบเมาตาได้อย่างชัดเจนบริเวณด้านหน้า[3][4][5][6][7]ความสวยงามของบรรยากาศของป้อมอาเมร์นั้นซ่อนอยู่ภายในกำแพงเมืองที่แบ่งเป็นทั้งหมด 4 ชั้น (แต่ละชั้นคั่นด้วยทางเดินกว้าง) โดยภายในเป็นหมู่พระที่นั่งซึ่งสร้างจากหินทรายสีแดงและหินอ่อน หมู่พระที่นั่งภายในป้อมอาเมร์ประกอบด้วย "ดิวัน-อิ-อัม" หรือท้องพระโรง, "ดิวัน-อิ-กัส" หรือท้องพระโรงส่วนพระองค์, "ชีชมาฮาล" (พระตำหนักซึ่งเป็นห้องทรงประดับกระจกสำหรับมหาราชา) และ "จัย มานดีร์" ซึ่งเป็นตำหนักอยู่บนชั้นสอง, "อารัม บักห์" ซึ่งเป็นสวนสวยจัดเป็นรูปดาวแฉกแบบโมกุลคั่นกลางระหว่างอาคาร และ "สุกห์นิวาส" ซึ่งเป็นพระตำหนักที่ใช้การปรับอากาศภายในพระตำหนักให้เย็นลงด้วยการทำให้ลมเป่าผ่านรางน้ำตกที่มีอยู่โดยรอบภายในพระตำหนัก ทำให้ภายในตำหนักนี้มีอากาศเย็นอยู่เสมอ จากลักษณะโดยรวมอันสวยงามของบริเวณภายในป้อม จึงนิยมเรียกป้อมแห่งนี้อีกอย่างหนึ่งว่า "พระราชวังอาเมร์"[4] พระราชวังในป้อมอาเมร์นี้เคยเป็นที่ประทับของราชปุต มหาราชา และพระราชวงศ์ของอาเมร์ในอดีต นอกจากนี้บริเวณประตูทางเข้าพระราชวังใกล้กับประตูกาเนช (Ganesh Gate "ประตูพระคเณศ") เป็นที่ตั้งของวัดชิลาเทวี (Sila Devi) ซึ่งภายในมีศาลบูชาพระแม่ทุรคา ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม ซึ่งมหาราชา มาน สิงห์ทรงเคารพบูชาอย่างสูง เนื่องจากพระองค์ได้ทรงพระสุบินถึงพระแม่ทุรคาทูลให้ทราบว่าพระองค์จะชนะสงครามกับมหาราชาแห่งเบงกอลในปีค.ศ. 1604[3][8][9]ป้อมอาเมร์ และป้อมจัยการห์ ทั้งสองนั้นตั้งอยู่บนเขา "ชีลกาทีลา" (เขาแห่งอินทรี) อันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาอะราวัลลี ทั้งสองป้อมนี้ถือว่าเป็นสถานที่เดียวกัน เนื่องจากสามารถเดินทางหากันได้โดยทางเชื่อมใต้ดิน ซึ่งใช้เป็นทางหลบหนีสำหรับเชื้อพระวงศ์ในกรณีที่ป้อมอาเมร์นั้นถูกยึดครอง[4][7][10][11]จากสถิติปีค.ศ. 2007 จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมป้อมอาเมร์มีจำนวนถึง 5,000 คนต่อวัน และ 1.4 ล้านคนต่อปี[1]

ป้อมอาเมร์

เมือง ชัยปุระ รัฐราชสถาน
ประเภท ป้อมปราการ และพระราชวัง
ประเทศ อินเดีย
โครงสร้าง หินทรายสีแดง, หินอ่อน
พิกัด 26°59′09″N 75°51′03″E / 26.9859°N 75.8507°E / 26.9859; 75.8507
เริ่มสร้าง ค.ศ. 1592
แบบสถาปัตยกรรม ฮินดู, ราชปุต

แหล่งที่มา

WikiPedia: ป้อมอาเมร์ http://books.google.com/books?id=74tUY0le33UC&pg=P... http://books.google.com/books?id=FsA5AQAAIAAJ http://books.google.com/books?id=HlqM2CR4vfUC&pg=P... http://books.google.com/books?id=Kp6ceVRUg8UC&pg=P... http://books.google.com/books?id=PTEEAAAAMBAJ&pg=P... http://books.google.com/books?id=PgbjhGwfXBEC&pg=P... http://books.google.com/books?id=kAMik_6LbwUC&pg=P... http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cac... http://www.iloveindia.com/indian-monuments/Amer-fo... http://india.gov.in/knowindia/amerfort.php