การปกครอง ของ พญามังราย

ดูเพิ่มที่ วินิจฉัยมังราย

ในการปกครองบ้านเมือง พญามังรายทรงอาศัยประมวลกฎหมายที่เรียก "วินิจฉัยมังราย" หรือ "มังรายศาสตร์" ซึ่งเป็นราชศาสตร์ (พระราชบัญญัติประกอบพระธรรมศาสตร์) อันกลั่นกรองมาจากคำวินิจฉัยที่พระมหากษัตริย์มีไว้ แล้วประมวลเข้าเป็นหมวดเป็นหมู่[8] ในรัชกาลพญามังราย วินิจฉัยมังรายมีเพียงยี่สิบสองมาตรา ประกอบด้วย เรื่องการหนีศึก ความชอบในสงคราม หน้าที่ของไพร่ในอันที่จะต้องเข้าเวรมาทำงานหลวงสิบวัน กลับบ้านไปทำไรไถ่นาสิบวัน สลับกันไป และเรื่องที่ดิน[8] ภายหลังมีการแก้ไขเพิ่มเติมจนยาวขึ้นอีกสิบเท่า[8]

วินิจฉัยมังรายฉบับเก่าแก่ที่สุดหลงเหลือมาถึงปัจจุบันเพียงฉบับเดียว คือ ที่พบ ณ วัดเสาไห้ คัดลอกเอาไว้เมื่อ พ.ศ. 2342 และต่อมา ราชบัณฑิตยสถานแปลเป็นภาษาปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2514[8]

อนึ่ง พญามังรายทรงให้ช่างก่อเจดีย์กู่คำวัดเจดีย์เหลี่ยม เวียงกุมกาม[10] พญามังรายยังโปรดให้นายช่างชื่อ การโถม สร้างวัดแห่งหนึ่ง ที่ซึ่งทรงสร้างพระพุทธมหาปฏิมากรห้าพระองค์ สูงใหญ่เท่าพระวรกายของพระองค์ ตลอดจนมหาวิหารและเจดีย์อื่นอีกเป็นอันมาก[11] นายช่างการโถมปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้เขาไปครองเมืองรอย (ต่อมาสถาปนาเป็นเมืองเชียงแสน)[11] และพระราชทานนามวัดนั้นว่า "วัดการโถม" (ปัจจุบัน คือ วัดช้างค้ำ จังหวัดเชียงใหม่)[11]