พระนาม ของ พญามังราย

พระนาม "มังราย" นั้นปรากฏในศิลาจารึก ตำนาน และเอกสารดั้งเดิมทุกชนิด มีแต่พงศาวดารโยนกที่พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) เรียบเรียงขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเอกสารในสมัยหลัง ๆ ซึ่งอ้างอิงพงศาวดารโยนก ที่ออกพระนามว่า "เม็งราย"[1]

ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต กล่าวว่า "เม็งราย" เป็นการเขียนที่ผิด[2] อย่างไรก็ดี มีสถานที่หลายแห่งใช้ชื่อว่า "เม็งราย" ไปแล้ว เช่น ตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย โรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม และค่ายเม็งรายมหาราช ในจังหวัดเชียงราย กับทั้งวัดพระเจ้าเม็งราย ในจังหวัดเชียงใหม่

มีการสันนิษฐานว่า ที่พงศาวดารโยนกเรียก "เม็งราย" เป็นกุศโลบายทางการเมืองของรัฐบาลสยามในสมัยนั้น เพราะเมื่ออังกฤษได้พม่าเป็นอาณานิคมแล้ว ก็หมายจะยึดดินแดนล้านนาด้วย โดยใช้เหตุผลว่า ล้านนาเป็นเมืองขึ้นพม่า เมื่อพม่าเมืองแม่เป็นของอังกฤษแล้ว ล้านนาเมืองลูกย่อมเป็นของอังกฤษตามกันด้วย แม้ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนายังมีพระนามว่า "มังราย" ซึ่งน่าจะบ่งบอกว่าล้านนาเป็นของพม่ามาแต่เดิมแล้ว ("มัง" เป็นคำนำหน้าชื่อชายพม่าชนชั้นสูง ซึ่งภาษาพม่าปัจจุบันเรียกว่า "มิน" เช่น มังมหานรธา มังสามเกียด ฯลฯ) รัฐบาลสยามจึงแต่งประวัติศาสตร์ล้านนาโดยจงใจแก้ "มังราย" เป็น "เม็งราย" และประวัติศาสตร์ดังกล่าวก็ได้รับความนิยมจนมีการอ้างถึงสืบ ๆ มา[3]