ความแตกต่างกับพรหมชาลสูตรฝ่ายเถรวาท ของ พรหมชาลสูตร_(มหายาน)

ในพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท และฝ่ายมหายาน มีพระสูตรชื่อ "พรหมชาลสูตร" เช่นกัน แต่มีเนื้อหาต่างกัน แทบจะโดยสิ้นเชิง พรหมชาลสูตรในพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศศีล ๓ ระดับคือจุลศีล มัชฌมิศีล และมหาศีล สำหรับพระภิกษุ เป็นศีลที่สอดคล้องกับศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ หรือพระปาติโมกข์ นอกจากนี้พระผู้มีพระภาคตรัสยังถึงทิฏฐิ ๖๒ ประการ ซึ่งทรงรวบรวมมาจากความคิดเห็นของคนในสังคมสมัยนั้นอย่างเป็นระบบระเบียบ วางเป็นหลักศึกษา เพื่อจะทรงชี้ว่า เป็นลัทธิที่ไม่ยังให้เกิดการหลุดพ้น เป็นหนทางที่สุดโต่ง มิใช่มัชฌิมาปฏิปทา

อย่างไรก็ตาม พรหมชาลสูตรในพระไตรปิฎกฝ่ายมหายาน ระบุถึงมหาโพธิสัตว์ศีล ๑๐ และจุลโพธิสัตว์ศีล ๔๘ นอกจากนี้ ไม่มีการเอ่ยถึงทิฏฐิ ๖๒ ประการ แต่เอ่ยถึงพระไวโรจนพุทธเจ้า อันเป็นพระธยานิพุทธะ ๑ ใน ๕ องค์ โดยระบุว่า พระไวโรจนพุทธเจ้าทรงเป็นธรรมกายของพุทธทั้งปวง โดยเหตุนี้ พรหมชาลสูตรของนิกายมหายาน จึงเป็นการประกาศแนวคิดตรีกายของฝ่ายมหายานนั่นเอง

พระโพธิสัตว์ศีลมีความแตกต่างในด้านรารยละเอียดจากจุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล ในพรหมชาลสูตรฝ่ายเถรวาท กระนั้นก็ตามก็ยังมีบางส่วนสอดคล้องกับศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ หรือพระปาติโมกข์ อันเป็นพื้นฐานของพระศาสนาฝ่ายเถรวาท โดยสารัตถะแล้วมีความเหมือนกันตรงที่เป็นการระงับ เป็นการยังให้เกิดความปกติกายวาจา กล่าวคือความปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่สะอาดปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ

ทั้งนี้ ศีลในพรหมชาลสูตรฝ่ายเถรวาทมุ่งเน้นเป็นหลักปฏิบัติสำหรับบรรพชิต และสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับบรรพชิตคือการรักษาพรหมจรรย์ ซึ่งข้อกำหนดนี้ปรากฏอยู่ในหมวดจุลศีลอย่างชัดเจน ซึ่งในพรหมชาลสูตรฝ่ายมหายานมีข้อกำหนดที่ว่านี้เช่นกันในหมวดมหาศีล ๑๐ ซึ่งบรรพชิตในจีน เกาหลี และเวียดนาม ยังรักษาศีลข้อนี้อย่างเคร่งครัด ประกอบกับการรักษาพระปาติโมกข์ หรือพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์เป็นรากฐานอยู่แล้ว โดยพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์นี้มีส่วนคล้ายคลึงกับพระวินัยของฝ่ายเถรวาทอย่างมาก ขณะที่ข้อกำหนดศีลในพรหมชาลสูตรฝ่ายมหายาน จะรับกันในการอุปสมบทเป็นพระภิกษุมหายานโดยสมบูรณ์ เพื่อย้ำให้ครองตนบนมรรคาแห่งพระโพธิสัตว์ หรือเป็นยกระดับปาติโมกข์ศีลให้ถือเป็นอธิศีลนั่นเอง เพราะมีการเน้นหนักในการรักษามโนกรรมอย่างมากในส่วนของจุลโพธิสัตว์ศีล ๔๘

อย่างไรก็ตาม ที่ญี่ปุ่นได้มีการลดความสำคัญของพระปาติโมกข์ หรือพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์ลง จนเหลือแต่การรับโพธิสัตว์ศีลเท่านั้น โดยเริ่มมาตั้งแต่ยุคของพระไซโจ หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ กระทั่งถึงยุคเมจิ รัฐบาลได้มีความพยายามลดความสำคัญของศาสนาพุทธ จึงสั่งให้บรรพชิตสมรสกับสตรี และตั้งครอบครัว โดยอ้างว่าพระวินัยมิได้มีบัญญัติห้ามบรรพชิตในเรื่องนี้ โดยอ้างโพธิสัตว์ศีลเป็นใหญ่ว่าปาติโมกข์