ประวัติศาสตร์ ของ พระคริสตราชาแห่งดิลี

การก่อสร้าง

ฌูแซ อาบีลียู อูซอรียู ซูวารึช ซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้ว่าการจังหวัดติมอร์ตะวันออก ได้เสนอแนวคิดการก่อสร้างรูปปั้นพระคริสตราชาต่อประธานาธิบดีซูฮาร์โต โดยตั้งใจจะให้เป็นของขวัญจากรัฐบาลอินโดนีเซียแก่ติมอร์ตะวันออกเนื่องในวาระครบรอบ 20 ปีของการผนวกติมอร์ตะวันออกเข้ากับอินโดนีเซียซึ่งจะตรงกับวันที่ 17 กรกฎาคม 1996[8]

ซูฮาร์โตได้มอบหมายให้การูดาอินโดนีเซีย สายการบินประจำชาติ เป็นผู้นำในการดูแลโครงการนี้ และมีภาระรับผิดชอบในการจัดสรรเงินทุนสำหรับโครงการ การูดาอินโดนีเซียสามารถระดมทุนได้ถึง 1.1 พันล้านรูปียะฮ์ (US$123,000) แต่ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างรูปปั้น จึงมีการระดมทุนจากข้าราชการและนักธุรกิจชาวติมอร์ตะวันออกจนเพียงพอต่อโครงการซึ่งท้ายที่สุดใช้งบประมาณไปมากกว่า 5 พันล้านรูปียะฮ์ (US$559,000)[8]

สำหรับงานออกแบบสร้าง การูดาอินโดนีเซียได้ติดต่อให้โมคามัด ไชลิลละฮ์ (หรือที่รู้จักในชื่อ "โบลิล") จากบันดุง เป็นผู้ออกแบบสร้าง เขาเดินทางไปยังติมอร์ตะวันออกและสำรวจพื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้าง ที่ซึ่งเขาเห็นควรว่ามีภูมิประเทศเหมาะสมแก่การสร้างรูปปั้นขนาดสูงใหญ่ได้[8] หลังพิจารณาลมท้องถิ่นซึ่งพัดแรงกับภูมิประเทศแล้ว เขาได้เริ่มออกแบบและจัดทำต้นแบบของรูปปั้น แสดงพระเยซูคริสต์ทรงผ้าคลุม ในขณะที่ส่วนพระพักตร์ของพระเยซูนั้นออกแบบได้อย่างยากลำบาก เขาได้ปรึกษากับคณะกรรมการคริสตจักรในอินโดนีเซียสำนักงานใหญ่ที่จาการ์ตา จนท้ายที่สุดได้ตัดสินใจสร้างพระพักตร์อย่างกรีกและโรมัน และเน้นความเรียบง่าย[8]

การก่อสร้างส่วนลำตัวของรูปปั้นดำเนินไปในระยะเวลาเกือบปีเต็ม ด้วยคนงานกว่า 30 ชีวิตในซูการาจา บันดุง ท้ายที่สุด รูปปั้นแล้วเสร็จโดยประกอบด้วยชิ้นส่วนทองแดงรวม 27 ชิ้นที่แยกกัน ก่อนจะขนส่งไปยังดิลีผ่านทางเรือ แล้วประกอบขึ้นที่ดิลีโดยทีมงานจากบันดุง รูปปั้นตลอดจนลูกโลกด้านล่างและกางเขนความสูง 10 เมตร (33 ฟุต) ประกอบขึ้นแล้วเสร็จในระยะเวลาสามเดือน[8]

การเปิดตัว

ก่อนพิธีเปิดรูปปั้น ชานานา กุฌเมา ผู้นำกองกำลังติมอร์ตะวันออกที่ต่อต้านอินโดนีเซียซึ่งในเวลานั้นถูกคุมขังในเรือนจำที่จาการ์ตา ได้วิจารณ์รูปปั้นนี้อย่างหนักว่า:

"นี่เป็นโฆษณาชวนเชื่อที่จาการ์ตาใช้หลอกคนของตัวเองและประชาคมนานาชาติ ซูฮาร์โตไม่ว่าจะอยู่ในทำเนียบหรืออยู่ที่ไหนก็ยังเป็นผู้นำการเมืองอยู่ดี สิ่งที่บิชอป [โรมันคาทอลิก] [การ์ลุช ฟีลีปึ ชีเมนึช] แบลู ไม่เห็นด้วยเป็นการแทรกแซงทางการเมืองต่อคริสตจักร ผมไม่รู้หรอกว่าท่านบิชอปจะไปร่วมพิธีเปิดด้วยหรือไม่ หวังว่าจะไม่ เพราะ [หากบิชอปไปร่วมพิธีเปิด] อาจหมายความว่าศาสนจักรดิลีขึ้นกับจาการ์ตา ทั้ง ๆ ที่ [ควรจะ] ขึ้นกับวาติกันโดยตรง"[8]

พิธีเปิดรูปปั้นจัดขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม 1996 บิชอปแบลูและประธานาธิบดีซูฮาร์โตนั่งเฮลิคอปเตอร์ชมพิธีเปิดทางอากาศ[8] ไม่กี่วันก่อนหน้า คณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ได้ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียอับอายด้วยการมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 1996 แก่บิชอปแบลูและฌูแซ รามุช-ออร์ตา "เพื่อเชิดชูคุณูปการอันเป็นการเสียสละอย่างต่อเนื่องแก่คนที่ถูกกดขี่แม้จะมีจำนวนน้อย"[9]:159 บิชอปแบลูได้ให้ความเห็นสาธารณะเกี่ยวกับรูปปั้นไว้ว่า:

"จะก่อสร้างรูปปั้นพระเยซูเจ้าไปเพื่ออะไร หากผู้คนยังไม่ได้รับการดูแลดังที่พระองค์ทรงสอนเรา? มันน่าจะดีกว่าถ้าเราจะทำสถานการณ์ที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น แทนที่จะสร้างรูปปั้นต่าง ๆ"[9]:159[10][11]:82

ก่อนที่ติมอร์-เลสเตจะประกาศอิสรภาพเป็นรัฐเอกราชจากอินโดนีเซีย รูปปั้นนี้ได้รับรางวัลรูปปั้นที่สูงที่สุดในประเทศจากพิพิธภัณฑ์สถิติโลกอินโดนีเซีย[1][8] หลังจากที่ติมอร์-เลสเตได้รับเอกราชในปี 2002 รูปปั้นนี้ไม่ได้ถูกรื้อถอนลง แต่ได้รับการเก็บรักษาและเปลี่ยนรูปแบบใหม่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแทน[11]:83,84

ใกล้เคียง

พระครูสมุทรธรรมสุนทร (สุด สิริธโร) พระครูภาวนาภิรัต (ทิม อิสริโก) พระครูปริยัติกิจธำรง (สมหวัง อคฺคเสโน) พระครูญาณวิลาศ (แดง รตฺโต) พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (เดิม พุทฺธสโร) พระครูประสาธน์ขันธคุณ (มุม อินทปญโญ) พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนนฺโท) พระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) พระครูภาวนากิจจาภิรม (สมชาย จีรปุญฺโญ)

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระคริสตราชาแห่งดิลี http://www.acehfeature.org/index.php/site/detailar... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... //www.worldcat.org/oclc/930543867 https://books.google.com/books?id=LIFuDwAAQBAJ&pg=... https://books.google.com/books?id=rC1wAAAAMAAJ&pg=... https://www.lakadpilipinas.com/2018/09/cristo-rei-... https://www.lakadpilipinas.com/2018/10/dili-beach-... https://www.theoutbound.com/timor-leste/hiking/hik... https://www.travelandleisure.com/trip-ideas/touris... https://lifetoreset.wordpress.com/2013/07/27/weeke...