ราชการงานปกครอง ของ พระบำรุงราษฎร์_(จูมมณี)

พระบำรุงราษฏร์ (จูมมณี) หรือ ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี) ท่านเป็นบุคคลที่มีสติปัญญาเฉลียดฉลาด มีความเข้าใจในระเบียบราชการธรรมเนียมการเมืองการปกครอง จนเป็นที่ไว้วางใจของ พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช ตลอดจนคณะเพียกรมการเมืองว่า มีความเหมาะสมที่จะเป็นเจ้าเมืองปกครองอาณาประชาราษฏร์ ให้มีความร่มเย็นเป็นสุขได้

ปี พ.ศ. 2402 พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช เห็นว่าในจำนวนบุตรทั้งหมดนั้น มีหลายคนซึ่งพอจะเป็น เจ้าเมือง อุปฮาด (อุปราช) ราชวงศ์ ราชบุตร ทำราชการให้แก่บ้านเมืองได้ จึงได้มอบหมายให้ ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี), ท้าวโพธิสาราช (เสือ), ท้าวสีฐาน (สาง) ซึ่งทั้ง 3 คนนี้เป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน และ ท้าวขัติยะ (ผู) ซึ่งเป็นน้องต่างมารดา ร่วมปรึกษาหารือราชการงานเมือง เมื่อเป็นที่ตกลงกันแล้วจึงสั่งให้จัดหาเรือและคนชำนาญร่องน้ำเพื่อหาสถานที่สร้างเมืองใหม่ โดยล่องเรือไปทางทิศตะวันออกตามลำแม่น้ำมูล จนถึงบริเวณ บ้านสะพือ ได้จอดเรือและข้ามไปสำรวจภูมิประเทศฝั่งขวาแม่น้ำมูล ทิศตะวันตกของ แก่งสะพือ เมื่อเห็นว่าภูมิสถานเหมาะแก่การตั้งเมืองได้ จึงทำการบุกเบิกป่าตั้งแต่บริเวณแก่งสะพือไปถึงห้วยบุ่งโง้ง ให้พอที่จะตั้งบ้านเรือนได้ 30-80 ครอบครัว พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีในขณะนั้น จึงได้จัดราษฎรเข้าไปอยู่หลายครอบครัว พร้อมทั้งให้ ท้าวไชยมงคล และ ท้าวอุทุมพร ผู้เป็นญาติลงไปอยู่ด้วย แล้วตั้งชื่อว่า บ้านกว้างลำชะโด เนื่องจากบ้านนี้ตั้งอยู่ในย่านใจกลางของ 2 ลำห้วย คือ ห้วยกว้าง อยู่ทางทิศตะวันออกและ ห้วยชะโด อยู่ทางทิศตะวันตก

ปี พ.ศ. 2406 เมื่อ ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี) ได้ตั้ง บ้านกว้างลำชะโด ขึ้นแล้ว ต่อมามีราษฎรเข้ามาอาศัยอยู่หนาแน่นขึ้นพอที่จะตั้งเป็นเมืองได้ จึงจัดสร้างศาลาว่าการขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำมูลแล้วรายงานไปยัง พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช ซึ่งเจ้าเมืองอุบลราชธานีก็เห็นชอบด้วย จึงมีใบบอกกราบเรียนไปยัง เจ้าพระยากำแหงสงคราม เจ้าเมืองนครราชสีมา เพื่อนำความกราบบังคมทูล

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยก บ้านกว้างลำชะโด เป็น เมืองพิมูลมังษาหาร เมื่อวันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน เบญจศก จุลศักราช 1225 ตรงกับวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2406 และโปรดเกล้าตั้ง ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี) เป็น พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) เจ้าเมืองพิมูลมังษาาหารคนแรก และให้ ท้าวโพธิสาราช (เสือ) เป็นอุปฮาด (อุปราช), ให้ ท้าวสีฐาน (สาง) เป็นราชวงศ์, ให้ ท้าวขัติยะ (ผู) เป็นราชบุตร ขึ้นกับเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช

พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองพิมูลมังษาหารคนแรก ในขณะมีอายุ 49 ปี ท่านมีความมุ่งมั่นตั้งใจสามารถสร้าง บ้านกว้างลำชะโด จนเป็น เมืองพิมูลมังษาหาร และได้วางรากฐานต่างๆ ไว้ให้ชาวเมืองพิมูลมังษาหาร จนเป็นดังเช่น "เมืองพิบูลมังสาหาร" ที่มีความเจริญรุ่งเรืองในปัจจุบันนี้

ปี พ.ศ. 2430 พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา ณ เมืองพิมูลษาหาร (อำเภอพิบูลมังสาหาร ในปัจจุบัน) สิริอายุได้ 73 ปี ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองพิบูลมังสาหาร 25 ปี

ใกล้เคียง

พระบำราศนราดูร (หลง เวชชาชีวะ) พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร