ประวัติ ของ พระพิทักษ์เจดีย์_(แก่น_รามางกูร)

เป็นบุตรลำดับแรกของพระพิทักษ์เจดีย์ (ถง) กับนางพิทักษ์เจดีย์ (รัตนะจันทน์) เป็นหลานปู่ท้าวอุปละ (มุง) เหลนทวดพระอุปละ (คำมั่น) กับนางรัตนะหน่อแก้ว สืบเชื้อขุนโอกาสสายนางแก้วอาไพธิดาเจ้าพระรามราชฯ (ราม)[3] ก่อน พ.ศ. ๒๔๑๗ ท้าวอุปละ (มุง) บิดาขอตั้งบุตรเป็นท้าวพระลครแล้วเลื่อนเป็นเพี้ยพระละคอรมหาโคตร[4] หัวหน้าพวกคัพพชุมขับเสพมโหรีถวายพระธาตุพนม[5] มีท้าวพลเสพขวาพลเสพซ้ายช่วยราชการ ตำแหน่งนี้พบในพื้นเมืองพระนมระบุครั้งเจ้าพระรามราชฯ (ราม) ปกครองธาตุพนมให้ชาวเวียงจันทน์ดำรงตำแหน่ง ๔ คนคือท้าวพระละคร ท้าวพระไซยา ท้าวพระเสพขวา ท้าวพระเสพซ้าย[6] ครั้งเจ้าอนุวงศ์ปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมเคยโปรดเกล้าฯ พระยาคำป้อง (ต้นสกุลคำป้อง) เป็นหัวหน้าพวกเสพถวายพระธาตุพนม[7] พร้อมเครื่องมโหรี อาทิ นางนาด กลอง ฆ้องวง (ฆ้องวงปัจจุบันแสดงที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมรัตนโมลีศรีโคตรบูรวัดพระธาตุพนม) เป็นต้น ต่อมา พ.ศ. ๒๔๒๒ (๒๓) พระพิทักษ์เจดีย์ (ถง) ถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯ ท้าวพระลคร (แก่น) กรมการบ้านธาตุพนมเป็นพระพิทักษ์เจดีย์นายกองผู้ควบคุมท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระมหาธาตุพนมแทน[8] โปรดฯ มีตราพระราชสีห์น้อยถึงเจ้าเมืองกรมการเมืองมุกดาหาร นครพนม สกลนคร ใจความสาส์นตราพระพิทักษ์เจดีย์ (เทบปะจิด) ฟ้องถึงกรุงเทพฯ ระบุ ...แล้วพระพิทักษ์เจดีย์ป่วยถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ ยังหาได้กลับขึ้นมาไม่ แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งท้าวพระลคร (แก่น) ให้เป็นที่พระพิทักษ์เจดีย์นายกองแทนพระพิทักษ์เจดีย์คนเก่า แล้วโปรดมีตราพระราชสีห์น้อยมาถึงเจ้าเมืองกรรมการเมืองมุกดาหารฉบับหนึ่ง, เมืองลครพนมฉบับหนึ่ง, เมืองสกลนครฉบับหนึ่ง รวม ๓ ฉบับ ใจความในตราว่าให้เจ้าเมืองกรมการเมืองมุกดาหาร, เมืองลครพนม, เมืองสกลนคร ชำระตัวเลกข้าพระทาษพนมส่งให้พระพิทักษ์เจดีย์นายกองตามเดิมอย่าให้ขัดขวางเอาตัวเลกข้าพระทาษพนมไว้ แล้วห้ามเจ้าเมืองกรมการเมืองมุกดาหาร, เมืองลครพนม, เมืองสกลนครไม่ให้เก็บเงิน, ข้าวถังกับตัวเลกข้าพระทาษพนมไปเป็นอาณาประโยชน์ของเจ้าเมืองกรมการเมืองมุกดาหาร, เมืองลครพนม, กะเกณฑ์ใช้ราชการเหมือนแต่ก่อน ให้ท้าวเพี้ยตัวเลกซ่อมแซมปฏิสังขรณ์พระทาษพนมสืบไป แจ้งอยู่ในตราพระราชสีห์น้อย ๓ ฉบับนั้นแล้ว แล้วเจ้าเมืองกรมการเมืองมุกดาหาร, เมืองลครพนม, เมืองสกลนครส่งให้พวกฯ ข้าฯ ไม่ เจ้าเมืองกรมการเมืองมุกดาหาร, เมืองลครพนม, เมืองสกลนครยังขืนเก็บเอาเงิน, ข้าวถังกับตัวเลกข้าพระทาษพนมไปเป็นอาณาประโยชน์ ของเจ้าเมืองกรมการทั้งสิ้นและใช้ราชการกะเกณฑ์ทุกปีมิได้ขาด...[9] เนื้อความแสดงปัญหาการแย่งชิงข้าเลกพระธาตุพนมที่ยืดเยื้อและปัญหาผลประโยชน์มูลนายธาตุพนมกับหัวเมืองใกล้เคียงซึ่งแม้สมัยนายกองลำดับต่อไปก็ยังไม่จบสิ้น

พี่น้องบุตรธิดา

มีพี่น้อง ๖ ท่านคือพระพิทักษ์เจดีย์ (แก่น), พระพิทักษ์เจดีย์ (สี) หรือท้าวเทพพระสี, ท้าวเทพพระนม, นางเทพสวัสดิ์, นางเทพทุมมา, นางคำอ้วน มีภริยาปรากฏนาม ๑ ท่านคือนางพิทักษ์เจดีย์ (พิมมะทา) มีบุตรธิดา ๘ ท่านคือท้าวฮุง, ท้าวลี, ท้าวดี, ท้าวโม, ท้าวคำโสม, นางมาลีราช, นางพรหมประกาย, นางหม่าน[10]

ใกล้เคียง

พระพิจารณ์พลกิจ (ยู่เซ็ก ดุละลัมพะ) พระพิรุณ พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารี) พระพินิจชนคดี (พินิจ อินทรทูต) พระพิราพ พระพิมลพัฒนาทร (พวน วรมงฺคโล) พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) พระพิทักษ์เจดีย์ (ถง รามางกูร) พระพิมลธรรม (นาค สุมนนาโค) พระพิมลธรรม