บทบาท ของ พระมหากษัตริย์กัมพูชา

รัฐธรรมนูญกัมพูชา ค.ศ. 1993 กำหนดให้บทบาทส่วนใหญ่ของพระมหากษัตริย์เป็นไปในทางพิธีการ โดยมาตรา 7 ระบุไว้ชัดเจนว่า "ให้ทรงปกเกล้า แต่ไม่ทรงปกครอง" (shall reign, but not govern)[1] และมาตรา 8 ว่า ให้ทรงเป็น "สัญลักษณ์แห่งความสามัคคีและความสืบเนื่องของชาติ" (symbol of national unity and continuity)[2]

รัฐธรรมนูญให้พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติพระราชกิจบางประการที่เกี่ยวเนื่องกับแผ่นดิน เช่น

  • มาตรา 119 ให้ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี[3]
  • มาตรา 82 ให้ทรงเปิดประชุมรัฐสภา (រដ្ឋសភា รฎฺฐสภา; National Assembly) ซึ่งเป็นสภาล่าง และพฤฒสภา (ព្រឹទ្ធសភា พฺรึทฺธสภา; Senate) ซึ่งเป็นสภาสูง[4]
  • มาตรา 23 ให้ทรงเป็นจอมทัพกัมพูชา[5]
  • มาตรา 20 ให้นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อกราบทูลเกี่ยวกับราชการบ้านเมือง[6]
  • มาตรา 26 และ 28 ให้ทรงลงพระนามาภิไธยในพระราชบัญญัติที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราขึ้นและพระราชกฤษฎีกาที่ฝ่ายบริหารเสนอมา[7]
  • มาตรา 9 ให้มีพระราชอำนาจวินิจฉัยในขั้นสุดท้ายเพื่อให้สถาบันต่าง ๆ ของรัฐดำเนินต่อไปได้[8]
  • มาตรา 25 ให้ทรงรับตราตั้งทูต[9]
  • มาตรา 27 ให้มีพระราชอำนาจอภัยโทษและลดโทษ[10]
  • มาตรา 134 ให้ทรงเป็นประธานกรมปรึกษาสูงสุดในองค์เจ้ากรม (ឧត្តមក្រុមប្រឹក្សានៃអង្គចៅក្រម อุตฺตมกฺรุมบฺรึกฺสาไนองฺคเจากฺรม; Supreme Council of Magistracy) ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศ[11]
  • มาตรา 100 และ 137 ให้ทรงแต่งตั้งสมาชิกสถาบันต่าง ๆ ของรัฐ เช่น สมาชิกพฤฒสภา และสมาชิกกรมปรึกษาธรรมนูญ (ក្រុមប្រឹក្សាធម្មនុញ្ញ กฺรุมบฺรึกฺสาธมฺมนุญฺญ; Constitutional Council)[12]
  • มาตรา 29 ให้มีพระราชอำนาจพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[13]

นอกจากนี้ ยังทรงปฏิบัติพระราชกิจอย่างอื่นในฐานะประมุขแห่งรัฐ เช่น เป็นประธานงานที่สำคัญระดับชาติ[14] เป็นประธานพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณีที่สำคัญ[15] สนับสนุนกิจกรรมทางมนุษยธรรมและการกุศล[16] ตลลอดจนเป็นตัวแทนประเทศเมื่อเสด็จเยือนต่างประเทศ[17]

ใกล้เคียง

พระมหากษัตริย์ไทย พระมหาโมคคัลลานะ พระมหามณเฑียร พระมหาธรรมราชาที่ 1 พระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร พระมหากัสสปะ พระมหาวีรกษัตรีย์นโรดม มุนีนาถ สีหนุ พระวรราชมารดา พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี พระมหากษัตริย์กัมพูชา พระมหาชนก