กบฏพระยาน้อย ของ พระมหาเทวีแห่งหงสาวดี

พระยาน้อยนั้นอยู่ในความดูแลของพระมหาเทวีผู้เป็นป้ามาแต่ประสูติ เพราะเจ้าหญิงมุเตียว (Mwei Daw) พระมารดา ทรงคลอดพระองค์แล้วก็เสด็จสวรรคาลัย[22] พระมหาเทวีทรงอุ้มชูพระยาน้อยมาเสมือนพระราชบุตรในพระอุทร แต่พระยาอู่ พระบิดาของพระยาน้อย ไม่พอพระทัยในพระยาน้อยมาเสมอ เพราะทรงเห็นว่า พระยาน้อยมีน้ำพระทัยโหดเหี้ยม ครั้งหนึ่งถึงกับรับสั่งต่อพระมหาเทวีว่า อย่าให้พระยาน้อยสืบราชสมบัติเด็ดขาด[23] ด้วยเหตุนั้น พระยาอู่จึงทรงเลือกพ่อขวัญเมือง (Baw Ngan-Mohn) พระโอรสองค์น้อย เป็นรัชทายาท พระยาน้อยทรงทราบแล้วก็ทรงนิ่งเฉย[23]

ครั้น ค.ศ. 1382 พระยาน้อยทรงลักลอบได้เสียกับตละแม่ท้าว (Talamidaw) พระเชษฐหรือขนิษฐภคินีต่างพระมารดาของพระองค์เอง ยิ่งทำให้พระยาอู่พิโรธหนัก รับสั่งให้จับพระยาน้อยไปจำคุกไว้ แต่พระมหาเทวีก็ทรงวอนขอให้งดโทษเสีย จนพระยาอู่ทรงยอมปล่อยพระยาน้อย และยอมให้พระยาน้อยเสกสมรสกับตละแม่ท้าว โดยมีพระมหาเทวีเป็นองค์ประธานในการวิวาหมงคล[23]

แต่เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้พระยาน้อยทรงตระหนักว่า พระมหาเทวีทรงมีอำนาจเหนือแผ่นดินหงสาวดีมากเพียงไร และพระยาน้อยทรงเชื่อว่า พระนางจะเอาชายชู้มานั่งราชบัลลังก์ พระยาน้อยจึงทรงถือพระนางเป็นศัตรูสำคัญ[20][17] สมิงชีพรายเห็นสบโอกาส จึงยุแยงพระยาน้อยว่า พระมหาเทวี กับสมิงมะราหู ชายชู้ วางแผนจับพระยาน้อยประหารชิงบัลลังก์อยู่แล้ว[21] ครั้นวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1383 พระยาน้อยจึงตัดสินพระทัยก่อกบฏ[note 1] เช้ามืดวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1383 พระยาน้อยนำกำลัง 30 นายหนีออกจากเมืองพะโคไปยึดเมืองตะเกิงตั้งกองบัญชาการ[note 2]

เดิมที พระมหาเทวีมิได้สนพระทัยการไปของพระยาน้อยมากนัก แต่พระยาอู่ พระมหากษัตริย์ผู้ประชวรหนักอยู่นั้น รับสั่งให้พระนางเสด็จไประงับเหตุ พระนางจึงหมายพระทัยจะส่งกองพันกองหนึ่งไปรับมือ แต่สมิงชีพรายทูลว่า ไม่สมควร เพราะเป็นการกระทำของเจ้าชายหนุ่มผู้วู่วามเท่านั้น[24] พระนางเห็นด้วย จึงโปรดให้คณะทูตไปตะเกิงเพื่อเจรจาให้พระยาน้อยกลับคืนมาพระนคร พระยาน้อยมีราชสาสน์มากราบทูลว่า ยังทรงถือพระนางเสมือนพระมารดาอยู่ และจะเสด็จนิวัตภายในเดือนสิงหาคม[25]

แท้จริงแล้ว พระยาน้อยมิได้ตั้งพระทัยจะกลับพะโค พระองค์รวบรวมผู้นำท้องถิ่นรอบเมืองตะเกิงมาเข้าฝ่ายพระองค์ วันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1383 พระมหาเทวีจึงโปรดให้คณะทูตอีกชุดไปเจรจากับพระยาน้อย[note 3] พระยาน้อยก็ทรงรับปากดังเดิมว่า จะกลับเมืองหลวงในเร็ววัน แต่ไม่ช้าพระมหาเทวีก็ทรงได้รับรายงานว่า พระยาน้อยส่งทูตไปขอความช่วยเหลือจากเมาะตะมะและมองมะละ (Myaungmya) ซึ่งเวลานั้นเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรหงสาวดีแต่ในนาม พระนางจึงทรงส่งคณะทูตไปเมืองทั้งสองตัดหน้าพระยาน้อย[26] แต่ที่สุดแล้ว ในวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1383[note 4] พระนางก็ตกลงพระทัยว่า จะใช้กำลังขั้นเด็ดขาดกับพระยาน้อยทันทีที่สิ้นฤดูฝน[27]

ใกล้เคียง

พระมหากษัตริย์ไทย พระมหาโมคคัลลานะ พระมหาธรรมราชาที่ 1 พระมหามณเฑียร พระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร พระมหากัสสปะ พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี พระมหาชนก พระมหาวีรกษัตรีย์นโรดม มุนีนาถ สีหนุ พระวรราชมารดา พระมหากษัตริย์กัมพูชา