พระประวัติ ของ พระยาชัยสุนทร_(โสมพะมิตร)

ราชตระกูล

พระยาชัยสุนทร (โสมพะมิตร) ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางหล้าสร้อยเทวีแห่งนครเวียงจันทน์ เป็นพระราชนัดดา (หลาน) ในสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒ (พระไชยองค์เว้) พระราชบิดาของพระองค์พระนามว่า เจ้าองค์ไชย ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒ (พระไชยองค์เว้) พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างพระองค์ที่ ๓๖ และพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเวียงจันทน์พระองค์ที่ ๑ ปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนาราชวงศ์เวียงจันทน์ ฝ่ายพระมารดาของพระยาชัยสุนทร (โสมพะมิตร) นั้นเป็นพระนัดดาในเจ้าผ้าขาว (เจ้าปะขาว) ผู้สร้างเมืองผ้าขาวและเมืองพันนา (เมืองพนาง) ในจังหวัดสกลนคร สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒ (พระไชยองค์เว้) ทรงเป็นพระราชนัดดา (หลานอา) ในพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างพระองค์ที่ ๓๒ และเป็นพระราชนัดดา (หลานปู่) ในพระเจ้าต่อนคำพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างพระองค์ที่ ๓๑ ฝ่ายเจ้าผ้าขาว (เจ้าปะขาว) นั้นทรงเป็นพระราชนัดดาในพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์เช่นเดียวกัน ดังนั้น พระยาชัยสุนทร (โสมพะมิตร) จึงเป็นเจ้าผู้ปกครองเมืองกาฬสินธุ์และเป็นเจ้านายฝ่ายหัวเมืองลาว-อีสานที่สืบเชื้อสายจากราชวงศ์เวียงจันทน์อีกสายหนึ่ง

อนึ่ง พระยาชัยสุนทร (โสมพะมิตร) และเครือญาติบุตรหลานทั้งหมดของพระยาชัยสุนทร (โสมพะมิตร) ได้เป็นผู้ปกครองหัวเมืองใหญ่น้อยตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรล้านช้างจนเปลี่ยนแปลงการปกครองอยู่หลายหัวเมือง เช่น เมืองผ้าขาว (ปัจจุบันคือบ้านผ้าขาวหรือบ้านปะขาว) เมืองพันนา (ปัจจุบันคือบ้านพรรณา) เมืองกาฬสินธุ์ เมืองกมลาสัย (เมืองกมลาไสย) เมืองสหัสขันธ์ เมืองสกลทวาปี (บ้านธาตุเชียงชุม) เมืองกลางหมื่น (บ้านกลางหมื่น) เป็นต้น

อพยพไพร่พล

พระยาชัยสุนทร (ท้าวโสมพะมิต) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์พระองค์แรก (พ.ศ. ๒๓๓๖) ประสูติราวปี พ.ศ. ๒๒๗๕ พระบิดาเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒ (พระไชยองค์เว้ พ.ศ. ๒๒๕๐-๒๒๗๓) พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ฝ่ายพระมารดาทรงเป็นพระนัดดา (หลานสาว) ในเจ้าผ้าขาว ทรงรับราชการในราชสำนักเวียงจันทน์จนได้รับความชอบ พระมหากษัตริย์แห่งนครเวียงจันทน์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยศเป็นที่ พญาโสมพะมิต ต่อมา ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๐ พญาโสมพะมิตร และญาติพี่น้องคือ อุปฮาดเมืองแสนฆ้องโปงและเมืองแสนหน้าง้ำ ได้เกิความขัดแย้งกับสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๓ (พระเจ้าสิริบุนสาร) (พ.ศ. ๒๒๙๔-๒๓๒๒) ผู้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งนครเวียงจันทน์พระองค์ต่อมา จึงทรงรวบรวมผู้คนเป็นสมัครพรรคพวกได้ประมาณหนึ่งหมึ่นคน ข้ามลำน้ำโขงมาตั้งเป็นชุมชนใหญ่ที่บ้านผ้าขาวและบ้านพันนา บริเวณพระธาตุเชิงชุมในจังหวัดสกลนครปัจจุบัน ฝ่ายพระเจ้าศิริบุนสานทรงส่งกองทัพหลวงติดตามมาเพื่อกวาดต้อนผู้คนที่อพยพหลบหนีให้กลับคืนสู่นครเวียงจันทน์

ได้เป็นเจ้าเมืองกาฬสินธุ์

เมื่อกองทัพของสมเด็จพระเจ้าสิริบุนสารยกมารบกวน ท้าวโสมพะมิตเห็นดังนั้นจึงยกไพร่พลอพยพข้ามสันเขาภูพานลงมาทางทิศใต้ แล้วมาตั้งบ้านเรือนหนาแน่นอยู่ ณ บ้านกลางหมื่นทรงเป็นใหญ่ปกครองไพร่พลในที่นั้น ต่อมาประมาณปีเศษ ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ จึงทรงอพยพผู้คนไปตั้งบ้านเรือนที่แก่งส้มโฮง (แก่งสำโรง) ดงสงเปือย ริมฝั่งลำแม่น้ำปาว ใน พ.ศ. ๒๓๓๖ ท้าวโสมพะมิตจึงเดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร แล้วเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระมหากษัตริย์สยามขอพระราชทานนามเมือง โดยได้นำเครื่องมงคลราชบรรณาการมีค่าเป็นกาน้ำสำริดที่นำติดตัวมาแต่สมัยรับราชการอยู่นครเวียงจันทน์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมืองพระราชทานมามว่า เมืองกาฬสินธุ์ ด้วยเหตุนำนามของกาน้ำสำริดมาเป็นมงคลนิต พร้อมทั้งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาท้าวโสมพะมิตขึ้นเป็นที่พระยาไชยสุนทร เจ้าผู้ครองเมืองกาฬสินธุ์เป็นพระองค์แรก เมื่อแรกตั้งเมืองนั้นเมืองกาฬสินธุ์มีฐานะเป็นเมืองประเทศราชต่อมาถูกลดฐานะลงเป็นหัวเมืองชั้นเอกแต่ยังไม่มีหัวเมืองขึ้น แต่นั้นมาทางราชสำนักฝ่ายสยามได้ถือว่าบรรดาศักดิ์ที่พระยาชัยสุนทรนี้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชทินนามสำหรับเจ้าผู้ครองเมืองกาฬสินธุ์โดยเฉพาะ

พระยาชัยสุทร (โสมพะมิตร) ทรงปกครองเมืองกาฬสินธุ์ด้วยความสงบเรียบร้อย ทรงสร้างบ้านแปงเมืองให้เจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๔๕ ทรงชราภาพจึงได้มอบหมายราชการงานเมืองให้ท้าวหมาแพงรักษาดูแลแทนต่อไป[1]

ใกล้เคียง

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พระยาพิชัยดาบหัก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)