พระประวัติจากเอกสารชั้นต้น ของ พระยาชัยสุนทร_(โสมพะมิตร)

ในพงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์และเมืองกมลาสัย : เอกสารฝ่ายท้องถิ่น

ในพงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์ฉบับพระราษฎรบริหาร (ท้าววันทองหรือท้าวทอง) เจ้าเมืองกมลาสัย (เมืองกระมาลาไสย) ซึ่งเขียนด้วยลายมือภาษาลาวอักษรไทยลงบนสมุดข่อยหรือสมุดไทยขาวหมึกดำ เป็นสมบัติเดิมของนางรำไพ อัมมะพะ (สกุลเดิม บริหาร) ทายาทของพระราษฎรบริหาร (วันทอง) ถ่ายสำเนาเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยอาจารย์ธีรชัย บุญมาธรรม อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ สถาบันราชภัฏมหาสารคาม ซึ่งนายบุญมี ภูเดช (เปรียญ) ได้เคยนำมาพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือเรื่องพงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์และประวัติเมืองขึ้นในยุคเก่า พิมพ์ที่โรงพิมพ์จินตภัณฑ์การพิมพ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ พิมพ์จำนวน ๑,๐๐๐ ฉบับ ในคำปรารภของหนังสือกล่าวว่าได้ต้นฉบับมาจากพระราชพรหมจริยคุณ วัดกลาง เมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งพิมพ์จากหนังสือที่พระราษฎรบริหาร (วันทอง) เรียบเรียงไว้ เอกสารดังกล่าวได้กล่าวถึงพระประวัติของพระยาชัยสุนทร (โสมพะมิตร) ไว้ดังต่อไปนี้

...พระราษฎรบริหารเจ้าเมืองกมลาสัยได้ลำดับพงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์และเมืองกมลาสัยและเมืองขึ้นไว้สำหรับบ้านเมืองต่อไป เดิมปู่ย่าตายายเจ้านายได้สืบตระกูลต่อ ๆ มานั้นตั้งบ้านเรือนอยู่หนองหานพระเจดีย์เชียงชุมที่เป็นเมืองเก่า ครั้นอยู่มาจะเป็นปีใดไม่กำหนดครั้งนั้นพระครูโพนเสม็ดเจ้าอธิการวัดที่เรียกว่าพระอรหันตาพายสร้อยได้ต่อยอดพระธาตุพนม และเมื่อเกิดเหตุต่าง ๆ ได้พาครอบครัวพวกเจ้านายท้าวเพี้ยราษฎรยกไปตั้งทะนุบำรุงอยู่ ณ เมืองจำปามหานครที่เป็นเมืองเก่าร้างอยู่ ซึ่งโปรดฯ ตั้งเป็นเมืองนครจำปาศักดิ์เดี๋ยวนี้นั้น ตั้งเจ้าสร้อยศรีสมุทซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์พระเจ้าเมืองเวียงจันทน์นั้นขึ้นเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ครั้นอยู่มาช้านานหลายชั่วก็เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นต่าง ๆ เจ้านายท้าวเพี้ยจึงพร้อมกันพาครัวบุตรภรรยาบ่าวไพร่กลับคืนหนีมาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่ที่หนองหานพระเจดีย์เชียงชุมตำบลบ้านผ้าขาวพรรณาตามเดิม แต่ครอบครัวผู้คนยังค้างอยู่เมืองนครจำปาศักดิ์ก็ยังมาก ครั้นต่อมาภายหลังจะปีและศักราชหลวงเท่าใดไม่มีกำหนดแจ้ง ครั้งนั้นพระยาโสมพะมิต พระยาอุปชา เมืองแสนฆ้อนโปง เมืองแสนหน้าง้ำ ๔ คน เป็นผู้ใหญ่พากันควบคุมท้าวเพี้ยบ่าวไพร่บุตรภรรยาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่บ้านผ้าขาวพรรณาและหนองหานพระเจดีย์เชียงชุมซึ่งเป็นเมืองสกลนครเดี๋ยวนี้ มีท้าวเพี้ยบ่าวไพร่รวมประมาณสัก ๕,๐๐๐ เศษ รับราชการทำส่วยผ้าขาวขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์ ครั้นอยู่มาพระยาอุปชากับเมืองแสนฆ้อนโปงถึงแก่กรรมไปแล้ว เจ้าเมืองเวียงจันทน์คิดก่อเหตุเกิดวิวาทบาดหมางขึ้นกับพวกพระยาโสมพะมิต เมืองแสนหน้าง้ำ ๆ อพยพพาครัวบุตรภรรยาท้าวเพี้ยบ่าวไพร่ประมาณ ๒,๐๐๐ เศษ หนีลงมาบรรจบอยู่ด้วยกับพวกพระวอที่แตกหนีอพยพครอบครัวมาแต่หนองบัวลำภูมาตั้งอยู่ ณ บ้านแจละแม ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเมืองอุบลราชธานี แต่พระยาโสมพะมิตนั้นอพยพพาครัวบุตรภรรยาท้าวเพี้ยบ่าวไพร่ประมาณสัก ๓,๐๐๐ เศษ ไปตั้งอยู่ริมน้ำปาวที่เรียกว่าแก่งสำโรง แล้วพระยาโสมพะมิตลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระยาโสมพะมิตเป็นที่พระยาชัยสุนทรเจ้าเมือง ขนานนามแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมืองกาฬสินธุ์ แต่ ณ วันปีจอ จัตวาศก (จุ) ลศักราช ๑๑๖๔ พระยาชัยสุนทรโสมพะมิตเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ชรา มีอายุสัก ๗๐ ปีเศษ หลงลืมสติจึงมอบราชการเมืองให้กับท้าวหมาแพงบุตรของพระยาอุปชานั้นเป็นผู้ว่าราชการเมืองกาฬสินธุ์ต่อมา แล้วพระยาชัยสุนทรโสมพะมิตกับท้าวหมาแพงผู้รับว่าราชการเมืองต่างนั้นปรึกษาพร้อมกันทำแผนที่เมืองกาฬสินธุ์ แบ่งเขตแดนต่อกันกับเมืองเวียงจันทน์ตั้งแต่แม่น้ำลำพองข้างเหนือมาตกชีข้างตะวันตก ตะวันออกนั้นตั้งแต่น้ำลำพองตัดลัดไปห้วยสายบาทไปถึงห้วยไพรจาน ไปเขาภูทอกซอกดาวตัดไปบ้านผ้าขาวพรรณาบ้านเดิม ยอดลำน้ำสงครามตกแม่น้ำโขง เขตฝ่ายตะวันออกต่อแดนเมืองนครพนมและเมืองมุกดาหาร ผ่าเขาภูพานตัดมายังภูเขาหลักทอดยอดยัง ๆ ตกแม่น้ำลำน้ำชีเป็นเขตข้างใต้ ข้างตะวันตกแม่น้ำลำน้ำชีต่อแดนเมืองร้อยเอ็ดและต่อแดนเมืองยโสธรแต่ยังไม่ได้ตั้งเป็นเมืองเป็นบ้านสิงห์โคกสิงห์ท่าอยู่ แล้วส่งแผนที่ลงไปทูลเกล้าฯ ถวาย...พระยาโสมพะมิตเป็นเจ้าเมืองกาฬสินธุ์อยู่ได้สามปีก็ถึงแก่กรรม ครั้นถึง ณ ปีขาล อัฐศก ศักราช ๑๑๖๘ ปี ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้า ฯ ตั้งท้าวหมาแพงขึ้นเป็นพระยาชัยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์...

ในพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ : เอกสารฝ่ายสยาม

ในเอกสารพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ซึ่งเรียบเรียงโดย หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) ภาคที่ ๑ (ใน ภาคที่ ๑-๑๐) คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก, ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป, ร.๔) พิมพ์แจกในงานศพของนางพัน ภัทรนาวิก ผู้เป็นมารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ ซึ่งเป็นหนังสือตีพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์เรื่องต่างๆ ของไทย ทั้งเอกสารในประเทศและเอกสารที่แปลจากภาษาต่างประเทศ โดยโบราณคดีสโมสร หอสมุดพระวชิรญาณ และหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เป็นผู้อนุญาตให้จัดพิมพ์ในวาระต่างๆ มีทั้งหมด ๘๒ ภาคนั้น ได้กล่าวถึงพระประวัติของพระยาชัยสุนทร (โสมพะมิตร) ไว้ดังต่อไปนี้

...ลุจุลศักราช ๑๑๕๕ ปีฉลูเบญจศก ท้าวโสมพมิตร ท้าวอุปชา ซึ่งเดิมอยู่บ้านผ้าขาวแขวงเมืองศรีสัตนาคนหุต แลพาครอบครัวยกมาตั้งอยู่บ้านท่าแก่งสำโรงริมน้ำปาวนั้น ได้พาพวกญาติพี่น้องมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพฯ ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารควบคุมบ่าวไพร่ตัวเลขเก็บผลเร่วส่งทูลเกล้าฯ ถวาย จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท้าวโสมพมิตรเปนพระยาไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้ท้าวคำหวาเปนที่อุปฮาด ยกบ้านแก่งสำโรงขึ้นเปนเมืองกาฬสินธุ์ทำราชการขึ้นกรุงเทพฯ อาณาเขตรเมืองกาฬสินธุ์ครั้งนั้นมีว่า ทิศตวันออกลำพยังตกลำน้ำชี ทิศเหนือเฉียงตวันตกภูเหล็กยอดลำน้ำสงครามมาลำไก่เขี่ย ตัดลงคูไชเถ้าเกาะจนกระทั่งห้วยสายบาทตกลำพวง ทิศเหนือเฉียงตวันออกภูศรีถานยอดลำห้วยหลักทอดตกลำพยัง แต่ภูศรีถานเฉียงเหนือยอดห้วยก้านเหลืองลงน้ำก่ำเมืองหนองหาร เฉียงเหนือภูเหล็กยอดลำน้ำสงครามมาลำน้ำยามถึงลำน้ำอุ่น ตัดมาหนองบัวส้างยอดน้ำลาดตกน้ำหนองหาร

ครั้นพระยาไชยสุนทร (โสมพมิตร) อุปฮาด (คำหวา) ถึงแก่กรรมแล้ว จึ่งโปรดตั้งให้ท้าวหมาแพงบุตรท้าวอุปชา เปนพระยาไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้ท้าวหมาสุยเปนอุปฮาด ให้ท้าวหมาพวงเปนราชวงษ์ ทั้งสองคนนี้เปนบุตรพระยาไชยสุนทร (โสมพมิตร) เปนผู้รักษาเมืองกาฬสินธุ์ต่อไป แลโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงขึ้นไปสักตัวเลขเปนเลขขึ้นเมืองกาฬสินธุ์มีจำนวนครั้งนั้นรวม ๔๐๐๐ คน แบ่งเปนส่วนขึ้นกับเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงษ์ตามสมควร

ฝ่ายราชวงษ์ (พอง) นั้น กระทำการเกี่ยงแย่งหาเปนสามัคคีกับพระยาไชยสุนทรไม่ จึ่งอพยพครอบครัวแยกไปตั้งอยู่ณบ้านเชียงชุมแล้วไปยอมสมัคขึ้นอยู่กับเมืองเวียงจันท์ (ศรีสัตนาคนหุต)...[2]

ใกล้เคียง

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พระยาพิชัยดาบหัก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)