ประวัติ ของ พระยาบุเรศผดุงกิจ_(รวย_พรหโมบล)

พันตำรวจเอก พระยาบุเรศผดุงกิจ (รวย พรหโมบล) เกิดเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2424 ที่อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรของ นายขำ และนางบุญรอด มีพี่น้องทั้งหมด 5 ท่าน คือ

  • นางปลั่ง สมรสกับ หลวงราชเดชา (ชม บุนนาค)
  • นางผ่อง สมรสกับ พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (เชย ไชยคุปต์)
  • นางแปลก สมรสกับ นายกราย บุนนาค
  • นางสาวสาย พรหโมบล
  • คุณหญิงน้อมพิชัยภูเบนทร์ สมรสกับ พันเอก พระยาพิชัยภูเบนทร์ (ผ่าน อินทรทัต)

ท่านสืบเชื้อสายโดยตรงจากราชตระกูลแห่งอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ โดยนายขำ บิดาของท่าน เป็นหลานตาของเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ มีมารดาชื่อ เจ้าหนูจีน เป็นธิดาลำดับที่ 18 ในจำนวน 23 คน ของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เมื่อเจ้าอนุวงศ์ถูกถอดถอนจากการเป็นกษัตริย์ลาวและถึงแก่พิราลัยเมือ พ.ศ. 2371 แล้ว บุตร ภริยา บริวารที่ถูกกวาดต้อนควบคุมตัวมาจากเวียงจันทน์ พระโอรส-ธิดาของเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ก็แตกกระจายพลัดพรากกันไป แต่มีญาติทางฝ่ายลาวที่ครอบครัวของพระยาบุเรศผดุงกิจได้ติดต่อโดยใกล้ชิดสมัยเมื่อท่านยังมีชิวิตอยู่ มีอยู่ 2 ท่าน คือ เจ้าคลี่ และ เจ้าเสือ

ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงญาติทางพระมารดาด้วยพระเมตตา พี่น้องฝ่ายหญิงของพระยาบุเรศผดุงกิจ โดยเฉพาะน้องสาวคนเล็กคือ คุณหญิงน้อม พิชัยภูเบนทร์ นั้น ก็ถวายตัวเป็นข้าหลวงในเสด็จทั้งสองพระองค์ และรับใช้จนพระองค์เจ้าประดิษฐาสารีสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2505 ดังนั้น บุตรและธิดาของพระยาบุเรศผดุงกิจ จึงได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเสด็จพระองค์หญิงโดยสม่ำเสมอ

  • เจ้าเสือ เป็นบุตรคนที่ 9 ของเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ มีบุตรคือเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ เจ้าผู้ครองเมือง"อุบลราชธานี" ท่านนี้มีศักดิ์เป็นลุงของพระยาบุเรศผดุงกิจ ซึ่งพระยาบุเรศผดุงกิจได้รับพระราชทานนามสกุลจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ตามชื่อและบรรดาศักดิ์ของท่านลุงว่า "พรหโมบล"

ตอนที่พระยาบุเรศผดุงกิจท่านเกิดมานั้น ครอบครัวมีฐานะร่ำรวย บิดาจึงได้ตั้งชื่อท่านว่า "รวย" แต่ต่อมาทรัพย์สินที่มีอยู่ต้องสูญสิ้นเพราะการพนัน ทำให้ครอบครัวอยู่ในฐานะลำบาก และบิดาก็ถึงแก่กรรมลงอีก ตั้งแต่ท่านเยาว์วัย จึงเป็นเหตุให้พระยาบุเรศผดุงกิจรังเกียจการพนันทุกชนิดจนตลอดชีพ ต่อมาท่านได้ช่วยมารดาประกอบอาชีพขายใบยาสูบ แต่การเรียนของท่านยังกระท่อนกระแท่นเนื่องจากขัดสนเรื่องเงินทอง ต้องอยู่ในอุปการะของพี่สาวคนโตทั้งสองคนคือ นางปลั่ง และนางผ่อง ซึ่งเป็นภริยาตำรวจ แต่หลังจากนั้นท่านเองก็ได้ไปสมัครเป็นตำรวจ เพราะพี่เขยเป็นตำรวจ ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้สนใจอาชีพนี้เลย เนื่องจากกลัวและไม่ชอบตำรวจเป็นทุนเดิม แต่ภายหลังพระยาบุเรศผดุงกิจได้เจริญก้าวหน้าในกรมตำรวจ จนได้รับตำแหน่งสูงสุดในกรม และบุตรหลานของพระยาบุเรศผดุงกิจ หลายคน ก็เป็นข้าราชการตำรวจเป็นส่วนใหญ่

ความเจริญก้าวหน้าในราชการของท่าน ตั้งแต่เข้ารับราชการเป็นตำรวจตั้งแต่ปี 2441 คือ

  • ปี 2441 เริ่มรับราชการในตำแหน่งพลตำรวจเสมียน พลตระเวนประจำสถานีตำรวจนครบาลสามยอด
  • ปี 2444 ได้เลื่อนยศเป็นนายหมวด สารวัตรแขวง สารวัตรใหญ่
  • 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2453 หลวงบุเรศผดุงกิจ ถือศักดินา ๖๐๐[1]
  • พ.ศ. 2453 ปลัดกรมกองตระเวน
  • 23 มิถุนายน พ.ศ. 2459 - ได้เลื่อนยศ เป็น พันตำรวจโท [2]
  • 26 เมษายน พ.ศ. 2461 - ได้เลื่อนยศ เป็น พันตำรวจเอก [3]
  • 20 ธันวาคม พ.ศ. 2463 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบุเรศผดุงกิจ ศักดินา ๑๐๐๐ [4]
  • 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 - พ้นจากตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจและโรงเรียนพลตำรวจและรั้งตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาลสายบางรักแทน พันตำรวจเอก พระยาพลพรรคภิบาล ที่ย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการตำรวจนครบาลสายพระนคร[5]
  • 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจสายดุสิต[6]
  • 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ได้รับแต่งตั้งเป็น อธิบดีกรมตำรวจ สืบต่อจาก พลตำรวจโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) [7]

หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนชื่อ กรมตำรวจภูธร เป็น กรมตำรวจ [8] พันตำรวจเอกพระยาบุเรศผดุงกิจ สามารถปราบปรามอาชญากรรมต่างๆ จนได้รับสมญานามว่า “มือปราบของกรมตำรวจ” ในยุคนั้น

นอกจากนี้ ยังนับได้ว่า ท่านเป็นต้นสกุล "พรหโมบล" (เขียนเป็นตัวอักษรโรมันว่า Brahmopala) เพราะท่านเป็นผู้ขอและได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2457 เป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ ๑๔๐๔ ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงบุเรศผดุงกิจ ปลัดกรมกองตระเวน ผู้บังคับการโรงเรียนนายหมวด [9]

ใกล้เคียง

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พระยาพิชัยดาบหัก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระยาบุเรศผดุงกิจ_(รวย_พรหโมบล) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2453/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2459/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2459/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2461/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2461/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2463/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2465/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2466/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2469/D/...