ขึ้นเป็นเจ้าเมือง ของ พระยาประจันตประเทศธานี_(โง่นคำ_พรหมสาขา_ณ_สกลนคร)

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ พระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) มีอายุ ๑๙ ปี ได้เข้ารับราชการรับหมายตั้งเป็นที่ ท้าวสุริยภักดี ตำแหน่งนายกอง กรมการเมืองสกลนคร ต่อมา พ.ศ. ๒๔๑๕ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่ พระศรีสกุลวงศ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสกลนคร ต่อมา พ.ศ. ๒๔๒๐ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่ พระยาประจันตประเทศธานี ศรีสกลานุรักษ์ อรรคเดโชชัยอภัยพิริยากรมพาหุ เจ้าเมืองสกลนครองค์สุดท้าย ด้วยหัวเมืองสกลนครนั้นเป็นเมืองเอกและเป็นเมืองใหญ่เจ้าเมืองจึงมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา ภายหลังจากปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ แล้ว พระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสกลนครคนแรก อนึ่ง ราชทินนามคำว่า ประจันต และ ประเทศธานี นั้นมีความหมายว่า ผู้เป็นใหญ่ในชายแดน โดยเป็นราชทินนามประจำของเจ้าเมืองสกลนครมาตั้งแต่เมื่อครั้งเจ้านายวงศ์เมืองกาฬสินธุ์เข้ามาปกครองสกลนครก่อนเจ้านายวงศ์เมืองมหาชัยกองแก้ว

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ พระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ )ได้รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์โท ส่วนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้นได้รับพระราชทานมาโดยลำดับ และได้รับพระราชทานสูงสุดคือ ช้างเผือก ชั้นที่ ๓ ตริตาภรณ์ และมงกุฎชั้นที่ ๓ ตริตาภรณ์ พร้อมด้วยเหรียญปราบฮ่อ ตลอดจนเหรียญที่ระลึกในงานพระราชพิธีต่างๆ ตามบรรดาศักดิ์อีกหลายประการ นอกจากการบริหารการเมืองการปกครองและพัฒนาเมืองสกลนครให้เจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับแล้ว พระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) ยังได้ปฏิบัติราชการพิเศษมากมายหลายครั้ง เช่น ไปราชการคุมทัพปราบฮ่อที่เมืองนครเวียงจันทน์ ไปราชการคุมทัพปราบฮ่อที่เมืองเชียงขวางและทุ่งไหหิน เป็นผู้จัดหาทหารและเสบียงในกรณีพิพาทดินแดนอินโดจีนกับฝรั่งเศสเมื่อ ร.ศ.๑๑๒ เป็นผู้ตัดเส้นทางเพื่อวางสายโทรเลขระหว่างเมืองสกลนครและเมืองอุดรธานี เป็นผู้ส่งเสบียงอาหารและกำลังพลไปยังหัวเมืองใกล้เคียงเมื่อทางราชการสยามต้องการ เป็นต้น

ภายหลังการจัดการหัวเมืองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลแล้ว พระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) ได้รับราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองตลอดมาจนชรา ทางสยามจึงเปลี่ยนเป็นตำแหน่งของพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) ให้เป็นที่ปรึกษาราชการเมืองแทน เหตุด้วยพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) เป็นผู้คุ้นเคยราชการมามากไม่มีผู้ใดเหมือน ในท้องที่เมืองสกลนครนั้น ไม่ว่าจะเป็นเสนาบดีเจ้ากระทรวงก็ดี ข้าหลวงต่างพระองค์ก็ดี สมุหเทศาภิบาลก็ดี เมื่อต้องการใคร่รู้เรื่องราวกิจการอันใดที่ได้เคยมีมาในเมืองสกลนคร จะต้องเดินทางมาปรึกษากับพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) อยู่เป็นนิตย์ จึงนับว่าพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) เป็นเจ้านายลาวผู้ได้ทำคุณประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองฝ่ายสยามอย่างยิ่งท่านหนึ่ง

ใกล้เคียง

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พระยาพิชัยดาบหัก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา)

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระยาประจันตประเทศธานี_(โง่นคำ_พรหมสาขา_ณ_สกลนคร) http://bannakeaw.blogspot.com/2010/10/blog-post_29... http://webcache.googleusercontent.com/search http://sakonnakhonguide.com/index.php?name=knowled... http://www.sakonnakhonguide.com/index.php?name=kno... http://www.ubonpra.com/board/index.php?topic=452.0... http://www.komchadluek.net/detail/20100714 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2450/04... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/D/... http://kanchanapisek.or.th/kp8/culture/sgk/file1/p... https://sites.google.com/site/phiphat1234567/thnbd...