อนุสรณ์ ของ พระยาพิชัยดาบหัก

พระยาพิชัยดาบหัก นับเป็นวีรชนของชาติ ผู้ร่วมกู้เอกราชของชาติไทยในสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองและเป็นชาวอุตรดิตถ์ ดังนั้นจึงได้มีการสร้างอนุสรณ์สถาน รวมถึงการนำนามของท่านไปใช้ตั้งชื่อสถานที่ราชการสำคัญเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของท่านขึ้น ตัวอย่างของอนุสรณ์สถานและสถานที่เหล่านี้ เช่น

อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์พิธีสมโภชอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก‬ ใน พ.ศ. 2513

เพื่อระลึกถึงเกียรติในเรื่องความองอาจ กล้าหาญ รักชาติ และเสียสละของท่าน ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์จึงได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักแห่งแรก เพื่อประดิษฐานหน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2513 ซึ่งต่อมาอนุสาวรีย์ดังกล่าวได้เป็นภาพจำตัวแทนบุคคลของพระยาพิชัยในวัฒนธรรมร่วมสมัย

ภาพพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณพระยาพิชัยดาบหัก ในพิธีปลุกเศกเหรียญพระยาพิชัยดาบหัก‬ ณ ปรำพิธีหน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ. 2513

โดยอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์มาช้านาน ต่อมาในสมัยนายเวทย์ นิจถาวร เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด มีพ่อค้า ประชาชน ร่วมกันบริจาคทรัพย์เป็นทุนก่อสร้าง โดยไม่มีงบประมาณแผ่นดินของทางหน่วยงานราชการมาเกี่ยวข้อง ทุนทรัพย์ทั้งหมดเกิดจากกำลังศรัทธาของชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีพิธีอัญเชิญโกศดวงวิญญาณพระยาพิชัยดาบหัก (แทนอัฐิ) ตามโบราณประเพณี เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2510 มีพิธีวางแผ่นศิลาฤกษ์แท่นฐานอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2511 โดยมี นายถวิล สุนทรศารทูล ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธี

สำหรับองค์พระยาพิชัยดาบหักนั้น ปั้นโดยกรมศิลปากร โดยมีอาจารย์สนั่น ศิลากร เป็นประติมากร และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีนายพ่วง สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี[7]

นายพ่วง สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณพระยาพิชัยดาบหัก ณ ปรำพิธีหน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ. 2513

ในระหว่างวันที่ 7 - 13 มกราคม ของทุกปี จังหวัดอุตรดิตถ์ได้กำหนดให้มีการจัดงานเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของท่าน ถือเป็นงานประจำปีของจังหวัดอุตรดิตถ์ เรียกชื่องานว่า "งานพระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาด" โดยจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ถือเอาวันที่ 7 มกราคม ของทุกปี เป็นวันเปิดงานพระยาพิชัยดาบหักฯ โดยอ้างอิงตามพระราชพงศาวดาร ที่ระบุวันซึ่งพระยาพิชัยออกสู้รบกับกองทัพโปสุพลาจนดาบหักสองท่อนตามปฏิทินสุริยคติ

อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ พิพิธภัณฑ์บ้านเกิดพระยาพิชัยดาบหัก อ.พิชัย

ในปี พ.ศ. 2545 ประชาชนได้ร่วมใจกันจัดสร้างอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ปางนั่งครองเมือง ประดิษฐานด้านหน้าสถูปทรงปรางค์ ณ พิพิธภัณฑ์บ้านเกิดพระยาพิชัยดาบหัก แห่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของอำเภอพิชัย ในหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 บ้านห้วยคา ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อรำลึกถึงเมื่อครั้งที่ท่านได้เป็นผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัยในสมัยธนบุรี นอกจากนี้ในวันที่ 7 เมษายน หน่วยงานราชการพร้อมทั้งประชาชนชาวพิชัยจะมีการจัดพิธีสักการะบวงสรวงดวงวิญญาณพระยาพิชัยดาบหัก เป็นประจำทุก ๆ ปี เพื่อรำลึกถึงวันที่พระยาพิชัยดาบหักถูกประหารชีวิตเมื่อครั้งสิ้นแผ่นดินพระเจ้าตากสินมหาราชอีกด้วย[8]

อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี อ.เมืองอุตรดิตถ์อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี

เพื่อระลึกถึงวีรกรรมและความกล้าหาญของท่าน ที่ได้เคยร่วมรบเคียงคู่พระวรกายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักแกะสลักจากไม้ตะเคียนโบราณองค์แรก ประดิษฐานบริเวณหน้าวัดคุ้งตะเภาหันหน้าสู่ทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี เพื่อรำลึกถึงอดีตเมืองสวางคบุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายซึ่งเคยเป็นพื้นที่ ๆ ท่านได้มาฝึกมวยกับครูเมฆแห่งบ้านท่าเสา-คุ้งตะเภา ในวัยเด็ก และเป็นพื้นที่เกิดวีรกรรมการปรามชุมนุมเจ้าพระฝางแห่งเมืองสวางคบุรี เป็นชุมนุมสุดท้ายในสมัยธนบุรี รวมถึงยังเป็นสถานที่ท่านได้รับเลื่อนยศเป็นพระยาพิชัยผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย รับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในพระราชพงศาวดาร[9]

ฯพณฯ ศาสตราจารย์ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธีบวงสรวงวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี

โดยอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนและผู้เคารพศรัทธาในความกล้าหาญของท่านมาช้านาน ต่อมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ประชาชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ได้พร้อมใจกันจัดพิธีเชิญดวงวิญญาณพระยาพิชัยดาบหัก (แทนอัฐิ) ตามโบราณประเพณี และมีพิธีวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ฯ โดยมี ฯพณฯ ศาสตราจารย์ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ ต่อมาประชาชนได้นำไม้โบราณมาแกะสลักเป็นอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักจากไม้ตะเคียนองค์แรกขนาดเท่าครึ่งเพื่อประดิษฐานในบริเวณดังกล่าวให้ประชาชนผู้เคารพศรัทธาได้ระลึกถึงวีรกรรมความกล้าหาญเสียสละของท่าน ในปี พ.ศ. 2561[10]

ศาลพระยาพิชัยดาบหัก ณ เมืองพิชัย

ในอำเภอพิชัยซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระยาพิชัยดาบหักในสมัยอยุธยาตอนปลาย และเป็นเมืองที่ท่านเคยผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัยในสมัยธนบุรี ประชาชนชาวอำเภอพิชัยต่างยังคงมีความเคารพศรัทธาในวีรกรรมและความกล้าหาญของท่านเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการสร้างศาลเพื่อระลึกถึงพ่อพระยาพิชัยดาบหักในสถานที่ต่าง ๆ

อย่างไรก็ดีศาลที่มีความเก่าแก่และสำคัญกับชาวพิชัยมายาวนานมี 2 แห่ง คือ ศาลท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก ณ วงเวียนหลังสถานีรถไฟพิชัย อำเภอพิชัย สร้างเป็นมณฑปจตุรมุขเปิดโล่งทั้งสี่ด้าน และศาลท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก ณ หน้าวัดมหาธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย ทั้งสองแห่งมีความเก่าแก่และเป็นที่เคารพนับถือของชาวพิชัยมาช้านาน สันนิษฐานว่าสร้างมาก่อนปี พ.ศ. 2513

พิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์พระยาพิชัย ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์พิพิธภัณฑ์อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์

ในบริเวณด้านข้างอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ มีการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พระยาพิชัย โดยงบประมาณภาครัฐบางส่วน และบางส่วนจากจิตศรัทธาของประชาชนจังหวัดอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ. 2539 ด้านซ้ายของอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก สร้างอาคาร "พิพิธภัณฑ์ดาบเหล็กน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลก" โดยจัดสร้างและแสดงดาบเหล็กน้ำพี้ขนาดใหญ่ ที่มีน้ำหนัก 557.8 กิโลกรัม ฝักดาบทำด้วยไม้ประดู่ ฝังลวดลายมุกหุ้มปลอกเงินสลักลาย และด้านขวาของอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก สร้างอาคาร "พิพิธภัณฑ์พระยาพิชัย" ภายในเก็บรวบรวมประวัติของพระยาพิชัยดาบหัก รวมทั้งแบบจำลองสนามรบ และวิถีชีวิตผู้คนเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยโบราณ โดยสถาปัตยกรรมภายนอกนั้นเป็นแบบทรงไทยประยุกต์ โดยมีจุดเด่นที่กรอบซุ้มประตูทางเข้านำมารูปแบบมาจากวิหารวัดดอนสัก อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นวิหารเก่าแก่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

พิพิธภัณฑ์บ้านเกิดพระยาพิชัยดาบหัก อ.พิชัย

แม้ในตำนานประวัติของพระยาพิชัยดาบหัก จะระบุบ้านเกิดของท่านว่าอยู่ที่บ้านห้วยคา เมืองพิชัย แต่ก็ไม่เหลือร่องรอยตำแหน่งบ้านเกิดของท่านแล้วในปัจจุบัน ทำให้ต่อมาเมื่อ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 หน่วยงานภาครัฐและประชาชนที่เคารพศรัทธาในวีรกรรมของท่าน จึงได้พร้อมใจกันสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านเกิดพระยาพิชัยดาบหัก ในเนื้อที่สาธารณประโยชน์ ประมาณ 326 ไร่ บนพื้นที่ หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 บ้านห้วยคา ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ภายในพื้นที่จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นเรือนทรงไทย มีการจัดแสดงชีวประวัติพระยาพิชัยดาบหักและมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และมีการจัดสร้างสถูปทรงปรางค์ที่จำลองจากพระปรางค์ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานอัฐิของท่านในวัดราชคฤห์ กรุงเทพมหานคร[11]

แม้ปัจจุบัน จะมีการอัญเชิญเถ้าอัฐิของท่านจากวัดราชคฤห์กลับบ้านเกิดท่านที่อุตรดิตถ์แล้ว แต่เป็นการอัญเชิญทางพิธีนามเท่านั้น ด้วยว่าเจดีย์ที่บรรจุเถ้าอัฐิ ทางวัดราชคฤห์ไม่อนุญาตให้ขุดค้น

นามสถานที่

  • โรงพยาบาลค่ายพิชัยดาบหัก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
  • ม.พัน.7 ค่ายพิชัยดาบหัก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

ใกล้เคียง

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พระยาพิชัยดาบหัก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)