บทบาททางการเมือง ของ พระยาศรยุทธเสนี_(กระแส_ประวาหะนาวิน)

ภายหลังจากที่คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ “คณะราษฎร” ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว ในวันที่ 25 มิถุนายน 2475 ผู้แทนคณะราษฎรประกอบด้วย พลเรือตรี ศรยุทธเสนี, พันเอก พะยาฤทธิอัคเนย์, พันเอก พระยาทรงสุรเดช, พันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ, พันตรี หลวงวีระโยธิน, หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี, นายประยูร ณ บางช้าง ได้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อกราบบังคมทูลขอพระกรุณาอภัยในการกระทำของคณะราษฎร และนำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผนดินสยาม พุทธศักราช 2475 และร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมเพียงฉบับเดียว ส่วนร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผนดินสยาม พุทธศักราช 2475 ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 โดยทรงพระอักษรต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัตินั้นว่า “ชั่วคราว”[6] ซึ่งพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 กำหนดให้รัฐสภามีเพียงสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎร ให้คณะราษฎรซึ่งมีคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทนจัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นเป็นจำนวน 70 นาย เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ใช้ธรรมนูญการปกครองฉบับนี้จนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยที่ 2 จะเข้ารับตำแหน่ง[7] โดยพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวในครั้งนี้ด้วย[8]

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2[9] รองประธานสภาผู้แทนราษฎร[10] และได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรแทนเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ที่ขอลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากเจ็บป่วย[11] ต่อมาพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการในคณะรัฐมนตรี ชุดที่ 6 ซึ่งมีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี[12] ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2486 พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง[13]

24 พฤษภาคม 2489 พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกพฤฒสภา[14] และได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานรัฐสภาและประธานพฤฒสภา ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2489 - 9 พฤษภาคม 2490 และตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2490 - 8 พฤศจิกายน 2490[15]

พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี ได้ก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นพรรคหนึ่งใช้ชื่อว่า “พรรคกสิกร” เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2490 แต่ต่อมาได้ยกเลิกพรรคการเมืองไปเนื่องจากเกิดการรัฐประหารขึ้นในปี พ.ศ. 2494 ซึ่งได้มีการประกาศยกเลิกกลุ่มการเมือง และห้ามมีการชุมนุมทางการเมือง[16]

ใกล้เคียง

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พระยาพิชัยดาบหัก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)