ชีวิตการทำงาน ของ พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน_(แฉล้ม_อมาตยกุล)

พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (แฉล้ม อมาตยกุล) ถวายตัวเป็นมหาดเล็กใน รัชกาลที่ 4 เมื่อปีพ.ศ. 2407 โปรดเกล้าฯ ให้ช่วยบิดาทำราชการในโรงกษาปณ์สิทธิการและโรงแก๊ส ท่านชอบการถ่ายรูปและทำโคมลอยอย่างต่างประเทศ

ต่อมาในสมัยของรัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงพินิจจักรภัณฑ์ ปลัดกรมโรงกษาปณ์ (กรมกษาปณ์สิทธิการ) ในปีพ.ศ. 2412 โดยเป็นผู้ที่ทรงใช้สอยใกล้ชิดในด้านกิจการสมัยใหม่ในยุคนั้น เช่น การแต่งพระที่นั่งและตำหนักรักษา ในเวลานั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ และข้าราชการต่าง ๆได้สนิทสนมคุ้นเคยกับท่าน จึงทำให้มีมิตรสหายเป็นจำนวนมาก

พระยาอภิรักษ์ฯ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ 5 วิจิตรราภรณ์ ภายในปีแรกที่สร้างเครื่องราชอิศริยาภรณ์ และเมื่อปีพ.ศ. 2417 รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างสวนสราญรมย์ โปรดให้พระยาอภิรักษ์ราชอุทยานที่ยังเป็นหลวงพินิจจักรภัณฑ์ เป็นผู้ดูแลควบคุมการก่อสร้าง

ในปีพ.ศ. 2417 ถังโรงทำไฟแก๊สในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งอยู่ตรงพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญในปัจจุบันเกิดไฟใหม้และระเบิดขึ้น รัชกาลที่ 5ได้โปรดให้ย้ายโรงแก๊สไปสร้างใหม่ที่หน้าวัดสุทัศน์ และฝังท่อใช้ไฟแก๊สทั้งในพระบรมมหาราชวังและถนนในพระนครด้วย โดย รัชกาลที่ 5โปรดให้พระยาอภิรักษ์ราชอุทยานเป็นผู้บังคับการโรงแก๊สนี้อีกตำแหน่งหนึ่ง จนได้พระราชทานเหรียญบุษปมาลาเป็นบำเหน็จในวิชาช่าง เมื่อปีพ.ศ. 2418

นอกจากนี้ ท่านได้ริเริ่มธุรกิจต่าง ๆ ด้วยความที่เป็นผู้มีนิสัยอยู่ในทางวิชาช่างและได้รับการถ่ายทอดวิชาเครื่องกลจากบิดามากกว่าผู้อื่น จนสามารถอ่านแผนทางเดินของไฟฟ้าตามที่ใช้ในทวีปยุโรปได้ ท่านได้คิดค้นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยร่วมมือกับนายช่างไฟฟ้าชาวอังกฤษนายเลียว นาดี เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นจำหน่าย [10] โรงไฟฟ้านี้เป็นที่รู้จักทั่วไปในชื่อ โรงไฟฟ้าวัดเลียบเนื่องจากสร้างขึ้นในบริเวณวัดราชบูรณะ ที่อยู่ตรงข้ามบ้านของท่าน [11] ท่านได้ตั้งบริษัทชื่อ บางกอกอิเล็กตริกไลท์ ซินดีเคต จำกัด (Bangkok Electric Light Syndicate) เมื่อพ.ศ. 2440 กิจการนี้ได้เรียกหุ้นในลักษณะของห้างหุ้นส่วนจากเจ้านายบางพระองค์ เช่น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ ข้าราชการ รวมทั้งพี่น้องของท่าน คือ พระปรีชากลการและ พระยาเพชรพิชัย ส่วนนายช่างชาวอังกฤษผู้นำแผนผังการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตลอดจนอุปกรณ์ไฟฟ้ามานั้น ก็ได้รับหุ้นลมด้วยอีกผู้หนึ่ง

โรงไฟฟ้าวัดเลียบ

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าโรงไฟฟ้านี้ไม่อาจประกอบกิจการได้นาน เนื่องจากในขณะนั้นประชาชนยังไม่นิยมใช้ไฟฟ้า อีกทั้งลูกค้าส่วนมากเป็นเพียงวังเจ้านาย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และสถานที่ราชการเท่านั้น ดังนั้น รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าจึงไม่คุ้มกับที่ต้องลงทุนไป กิจการจึงประสบภาวะขาดทุน กิจการโรงไฟฟ้านี้จึงได้โอนให้กับนายเว้สเตนโฮลส์ ชาวเดนมาร์ค เป็นผู้ดำเนินการต่อมา โดยตั้งขึ้นเป็นบริษัทจำกัดชื่อว่าบริษัทไฟฟ้าสยาม (Siam Electricity Company Ltd.) ที่จะทะเบียนที่กรุงโคเปนฮาเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2441 โดยมีทุนจดทะเบียน 33,400 ปอนด์ ซึ่งในปัจจุบันกิจการนี้ก็คือ การไฟฟ้านครหลวง บริษัทไฟฟ้าสยามได้รับสัมปทานให้จำหน่ายกระแสไฟฟ้าเป็นการผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวในเขตพระนครและธนบุรี และยังคงมีที่ทำการอยู่ที่เดิมตลอดจนกระทั่งบริษัทตกเป็นของรัฐบาล [12] อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากิจการบริษัทไฟฟ้าซึ่งพระยาอภิรักษ์ราชอุทยานได้เป็นผู้จัดตั้งขึ้นนี้ จะเปลี่ยนมือเป็นของคนต่างชาติ แต่สมาชิกในสกุลอมาตยกุลหลายท่านยังคงถือหุ้นใหญ่ และกลายเป็นมรดกตกทอดสู่ลูกหลานในเวลาต่อมา

เมื่อโอนกิจการโรงไฟฟ้าไปแล้ว พระยาอภิรักษ์ราชอุทยานได้ริเริ่มทำโรงน้ำแข็งขึ้นอีกธุรกิจหนึ่ง โดยจำหน่ายให้กับประชาชนในพระนคร กิจการนี้ตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านของท่านเองที่หน้าวัดราษฎรบูรณะ ทั้งนี้ การลงทุนทำโรงน้ำแข็ง ท่านมิได้เรียกหุ้นจากผู้อื่น แต่ใช้เงินส่วนตัวในการลงทุน ดังนั้น จึงมีข้อจำกัดในการประกอบกิจการที่ไม่สามารถทำได้ใหญ่โตนัก

จนเมื่อพ.ศ. 2442 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน เจ้ากรมพระราชอุทยานสราญรมย์ เและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ภูษณาสรณ์ (ช้างเผือกชั้น 4) เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2447 ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ในรัชกาลที่ 4 และต่อมาได้รับตรามัณฑนาภรณ์ (มงกุฏสยาม ชั้น 3)

ครั้นต่อมาเมื่อทรงสร้างพระราชวังดุสิต โปรดให้ไปดูการทำสวนในบริเวณพระราชวัง และในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2451 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้จัดการโรงทำโซดาดุสิต ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า น้ำโซดาดุสิต มาจนตลอดรัชกาล พระยาอภิรักษ์ราชอุทยานประกอบคุณงามความดีรับใช้เบื้องพระยุคลบาทนานับประการ จึงได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 เหรียญราชรุจิ เหรียญประพาสยุโรป เหรียญทวีทาภิเษก เหรียญรัชมงคล เหรียญรัชมังคลาภิเษก เข็มครุฑ และในปีพ.ศ. 2455 ได้รับพระราชทานเหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6 อีกด้วย

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งคณะเสือป่าขึ้น ท่านก็ได้เข้าเป็นเสือป่าด้วยเช่นกัน แต่ขณะนั้นท่านมีอายุถึง 62 ปี เข้าสู่วัยชราภาพแล้ว จึงจำต้องเป็นเสือป่านอกกอง แต่ก็ได้พยายามไปทำการตามหน้าที่เสือป่าอย่างสม่ำเสมอ จนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียร จึงพระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นนายหมู่ตรีเสือป่า เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2455 [13]

ใกล้เคียง

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พระยาพิชัยดาบหัก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา)

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน_(แฉล้ม_อมาตยกุล) http://www.9engineer.com/index.php?m=article&a=pri... http://www.amatyakulschool.com http://info.gotomanager.com/news/printnews.aspx?id... http://ww.sahaoffice.com/content/detail/reference/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2447/04... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2451/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2460/D/... http://www.mea.or.th/profile/91/96 https://www.egat.co.th/index.php?option=com_conten...