กระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของรัฐสภา ของ พระราชบัญญัติ_(ประเทศไทย)

[8]ร่างพระราชบัญญัติจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน แล้วจึงค่อยได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎร

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสภาผู้แทนราษฎร จะต้องเป็นการพิจารณาเป็น 3 วาระ ตามลำดับดังนี้:

วาระที่ 1 ขั้นตอนรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่ 1 จะลงมติว่าจะรับหลักการร่างพระราชบัญญัติหรือไม่ ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติมีหน้าที่ชี้แจงหลักการและเหตุผลการร่างพระราชบัญญัติ เมื่อผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติชี้แจงหลักการและเหตุผลเรียบร้อยแล้ว ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอภิปราย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุน คัดค้าน หรือตั้งข้อสังเกตุก็ตาม ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะให้โอกาสผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติในการชี้แจงข้อซักถามหรือข้อสังเกต เมื่อจบการอภิปรายแล้ว ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติจะขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอมติจากที่ประชุมว่าจะรับหลักการนี้หรือไม่ หรือบางกรณี สภาฯ จะให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการร่างพระราชบัญญัตินั้นก็ได้

ในกรณีที่ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอ ให้คณะรัฐมนตรีรับร่างไปพิจารณาก่อนที่สภาฯจะลงมติรับหลักการก่อนก็ได้ เมื่อครบกำหนดเวลา ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็จะสั่งบรรจุร่างพระราชบัญญัติเข้าระเบียบวาระเพื่อการพิจารณา

หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่รับหลักการ ร่างพระราชบัญญัตินั้นก็ตกไปและจะไม่สามารถพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในลักษณะเดียวกันได้อีกในสมัยประชุมนั้นๆ ในทางกลับกัน หากร่างพระราชบัญญัติผ่านวาระที่ 1 จะเข้าสู่วาระที่ 2 ขั้นตอนการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการ

วาระที่ 2 ขั้นตอนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการ

การพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการ สามารถกระทำได้ 2 ลักษณะดังนี้

ลักษณะที่ 1 การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการเต็มสภา โดยจะต้องได้รับการร้องขอจากคณะรัฐมนตรี หรือ ได้รับการร้องขอจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยมีจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคนและที่ประชุมลงมติเสียงข้างมากอนุมัติให้ดำเนินการดังกล่าว ซึ่งหากมติมีมากกว่ากึ่งหนึ่ง ให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรทุกคนทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น กรรมาธิการลักษณะนี้ มักจะใช้สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่จำเป็นเร่งด่วนหรือร่างพระราชบัญญัติที่ไม่มีรายละเอียดซับซ้อนมากนัก หรือ ไม่ยาวมากเกินไปที่จะพิจารณา โดยเป็นการพิจารณาครั้งเดียวสามวาระ ไม่มีขั้นตอนคำขอแปรญัตติ เป็นการพิจารณาเป็นรายมาตราในชั้นกรรมาธิการและเป็นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่สองในคราวเดียวกัน

ลักษณะที่ 2 การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการที่สภาแต่งตั้ง อาจจะเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ หรือ คณะกรรมาธิการวิสามัญก็ได้ ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการ ชุดนั้นเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติก็ให้เสนอคำขอ “แปรญัตติ” ต่อประธานคณะกรรมาธิการที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นภายใน 7 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่สภารับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ เว้นแต่สภาจะได้กำหนดเวลาแปรญัตติสำหรับร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว จะทำรายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการเสนอต่อประธานสภา โดยในรายงานจะแสดงร่างเดิม การแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราใดบ้าง คำแปรญัตติ การสงวนคำแปรญัตติ หรือการสงวนความเห็นของกรรมาธิการ หากกรณีมีข้อสังเกตที่ควรเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ศาล หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ควรทราบหรือควรปฏิบัติก็ให้บันทึกไว้ด้วยเพื่อให้สภาพิจารณา

วาระที่ 3 ขั้นลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่ 3 จะไม่มีการอภิปรายใดๆทั้งสิ้น และจะแก้ไขข้อความอย่างใดมิได้ โดยที่ประชุมจะลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ให้ความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป ถ้าสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภา

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวุฒิสภา

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยวุฒิสภา จะต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติจากสภาผู้แทนราษฎร หากร่างพระราชบัญญัติมีลักษณะเกี่ยวข้องกับการเงิน จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ทั้งนี้เว้นแต่วุฒิสภาจะมีมติให้ขยายเวลาออกไปเป็นกรณีพิเศษ แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน กำหนดเวลาดังกล่าวให้หมายถึงวันในสมัยประชุม และให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติมาถึงวุฒิสภา หากวุฒิสภาไม่สามารถพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้เสร็จภายในเวลากำหนด ให้ถือว่าวุฒิสภาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินั้น กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติการเงิน ให้ถือว่าความเห็นต่อลักษณะดังกล่าวของร่างพระราชบัญญัติเป็นที่สุด

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของวุฒิสภา จะทำในลักษณะเดียวกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วย 3 วาระเช่นกัน [8]

ในกรณีที่วุฒิสภาเห็นชอบในวาระที่ 3 เช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติแต่อย่างใด ให้ถือว่าร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าร่างพระราชบัญญัติถวายแก่พระมหากษัตริย์ภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติจากรัฐสภา เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ร่างพระราชบัญญัตินั้น ถือว่ามีผลบังคับใช้ทางกฎหมายทันที

หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อนและส่งคืนให้แก่สภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ได้เมื่อเวลาผ่านพ้นไป 180 วัน นับแต่วันที่วุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นคืน (ยกเว้นถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเกี่ยวข้องกับการเงิน ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาใหม่ทันที) และถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างพระราชบัญญัติเดิมด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยได้ทันที [9]

ใกล้เคียง

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท) พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระราชวังต้องห้าม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวังดุสิต พระราชวังสนามจันทร์