ประวัติ ของ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา_ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์_(จาด)

ปี พ.ศ. 2451 นายจิตรได้มอบพระราชพงศาวดารฉบับนี้ให้หอพระสมุดวชิรญาณ โดยอุทิศในนามของพระจักพรรดิพงศ์ (จาด) ผู้เป็นบิดา ระยะแรกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณในขณะนั้น ทรงเข้าพระทัยว่าเป็นฉบับเดียวกับพระราชพงศาวดาร ฉบับหมอบรัดเล เพราะเนื้อหาตอนต้นตรงกัน ภายหลังทรงตรวจสอบอีกครั้งจึงพบว่าเนื้อความตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชต่างกับฉบับอื่น ๆ มาก ความแตกต่างนี้ทรงสันนิษฐานว่าไม่ใช่โดยแทรกเพิ่มเติมหรือแก้ไขในภายหลัง แต่ต่างมาตั้งแต่เมื่อแต่งเนื้อเรื่อง[3] จึงโปรดให้พิมพ์เฉพาะส่วนที่ไม่ตรงกันนั้นออกเผยแพรในชื่อ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์ (จาด) เป็นส่วนหนึ่งของ ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 8 พระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ) เป็นเจ้าภาพพิมพ์ครั้งแรกเพื่อแจกในงานศพคุณหญิงศรีภูริปรีชา (พึ่ง) ในปี พ.ศ. 2460[4]

ต่อมากรมศิลปากรจึงได้จัดพิมพ์พระราชพงศาวดารฉบับนี้อีกครั้ง เป็นฉบับสมบูรณ์ครั้งแรกในชื่อ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) โดยสอบเทียบพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา และทำเชิงอรรถกำกับส่วนที่ต่างกัน[5] พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท พระยากลาโหมราชเสนา (เล็ก ปาณิกบุตร) ในปี พ.ศ. 2502 ถึงปี พ.ศ. 2507 กรมศิลปากรจึงนำมาพิมพ์อีกครั้ง โดยนำพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เฉพาะตอนที่เกี่ยวกับสมัยกรุงศรีอยุธยามาพิมพ์รวมด้วย มีชื่อว่า พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)

ต่อมาองค์การค้าของคุรุสภาได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรให้พิมพ์พระราชพงศาวดารฉบับนี้จำหน่ายในปี พ.ศ. 2533 โดยแยกเป็น 2 เล่มจบ โดยเล่ม 1 จบความที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต[6] ส่วนเล่ม 2 ดำเนินความที่เหลือต่อจนจบพระราชพงศาวดาร

ใกล้เคียง

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท) พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระราชวังต้องห้าม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวังดุสิต พระราชวังสนามจันทร์