พระราชวังจันทรเกษม
พระราชวังจันทรเกษม

พระราชวังจันทรเกษม

พระราชวังจันทรเกษม หรือวังหน้า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก (คลองคูขื่อหน้า) ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระราชวังที่ปรากฏหลักฐานตามพระราชพงศาวดารสันนิษฐานได้ว่า สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2120 ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยามเสด็จจากเมืองพิษณุโลกเพื่อมาเฝ้าพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา พระราชวังแห่งนี้พระนเรศวรทรงใช้เป็นกองบัญชาการรับศึกหงสาวดีเมื่อปี พ.ศ. 2129 นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระมหาอุปราชที่สำคัญถึง 8 พระองค์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ เจ้าฟ้าสุทัศน์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขุนหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 พระราชวังจันทรเกษมได้ถูกทิ้งร้างไป จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2404 ทรงโปรดฯให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชิดเชื้อพงศ์เป็นแม่กองในการดูแลก่อสร้างพระตำหนักและพลับพลาที่ประทับ จึงได้มีปรับปรุงบูรณะ เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับในเวลาที่พระองค์เสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา และโปรดพระราชทานนามว่า พระราชวังจันทรเกษม เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2436 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ทำการของมณฑลกรุงเก่า โดยใช้พระที่นั่งพิมานรัตยาเป็นที่ทำการ จนพระยาโบราณราชธานินทร์ ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ได้มีการจัดสร้างอาคารที่ทำการภาค ขึ้น แล้วย้ายที่ว่าการมณฑลจากพระที่นั่งพิมานรัตยามาตั้งที่อาคารที่ทำการภาค พระยาโบราณราชธานินทร์ ได้รวบรวมวัตถุสิ่งของสำคัญในบริเวณกรุงเก่าและบริเวณใกล้เคียงไว้เป็นจำนวนมาก มาเก็บรักษาไว้ที่พระราชวังจันทรเกษม จนในปี พ.ศ. 2445 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงแนะนำให้พระยาโบราณราชธานินทร์ จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่เรียกว่า โบราณพิพิธภัณฑ์ โดยใช้ตึกโรงม้าพระที่นั่งเป็นที่เก็บรวมรวม ต่อมาในปี พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายวัตถุต่างๆ จากโรงม้าพระที่นั่งเข้ามาเก็บรักษาและตั้งแสดงที่บริเวณอาคารพลับพลาจตุรมุข และต่อเติมระเบียงตามแนวอาคารด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก เพื่อจัดตั้งวัตถุ ศิลาจารึก และประติมากรรมต่างๆ ใช้ชื่อพิพิธภัณฑ์ว่า อยุธยาพิพิธภัณฑ์ ต่อมา ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2479 กรมศิลปากร ได้ประกาศให้อยุธยาพิพิธภัณฑ์เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในนาม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม

ใกล้เคียง

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระราชวังต้องห้าม พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระราชวังดุสิต พระราชวังสนามจันทร์ พระราชวังบางปะอิน พระราชวังพญาไท