ประวัติ ของ พระราชวังบวรสถานมงคล

สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน

หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และโปรดเกล้าสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าพระยาสุรสีห์ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท)[1] ได้มีการย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมายังกรุงเทพมหานคร และโปรดเกล้าให้สร้างพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นในคราวเดียวกัน[2]

พระราชวังบวรสถานมงคลนั้นเป็นศูนย์กลางทางการปกครองของผู้ดำรงพระอิสริยยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงมีความสำคัญมาก พระราชวังแห่งนี้ใช้เวลาสร้าง 3 ปีแล้วเสร็จและมีการฉลองพระราชวังพร้อมกับการสมโภชพระนครและฉลองพระบรมมหาราชวังเมื่อ พ.ศ. 2328 พระราชวังบวรสถานมงคลเมื่อแรกสร้างนั้นเป็นเครื่องไม้ทั้งสิ้น ในการสร้างพระบรมมหาราชวังในระยะแรกนั้นได้ถ่ายแบบมาจากพระราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่พระราชวังบวรสถานมงคลนั้นไม่มีหลักฐานว่าถ่ายแบบมาจากพระราชวังจันทรเกษมซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชในสมัยกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม ในการสร้าง พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน ซึ่งเป็นท้องพระโรงนั้น ตั้งอยู่บริเวณด้านตะวันออกของสระน้ำ ได้ถ่ายแบบมาจากพระที่นั่งทรงปืนในพระราชวังหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น จึงมีบางคนเรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า พระที่นั่งทรงปืน[3] หรือ บ้างก็เรียกพระที่นั่งทรงธรรม เนื่องจากใช้เป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วย[2]

พระราชมณเฑียรภายในพระราชวังสถานมงคลนั้น สร้างเป็นพระวิมาน 3 หลังเรียงติดกัน ได้แก่

ทั้งด้านหน้าและด้านหลังพระวิมานนั้น สร้างเป็นพระราชมณเฑียรขวางตลอดแนวพระวิมานทั้ง 3 หลัง โดยด้านหน้าพระวิมานถัดจากพระที่นั่งวายุสถานอมเรศนั้น มุขหน้าเป็นท้องพระโรงหน้า เรียกว่า พระที่นั่งพรหมพักตร์ ส่วนมุขหลังเป็นท้องพระโรงหลัง โดยมี พระที่นั่งบูรพาภิมุข พระที่นั่งทักษิณาภิมุข พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข และพระที่นั่งอุตราภิมุข ล้อมรอบพระราชมณเฑียรทั้ง 4 ด้าน โดยชื่อพระที่นั่งทั้ง 4 นั้น มีขึ้นในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ[4]

พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ หรือ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมี พระพิมานดุสิตา ซึ่งพระองค์โปรดให้สร้างถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา และเมื่อ พ.ศ. 2330 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดให้สร้างพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ที่ได้อัญเชิญลงมาหลังจากเสด็จขึ้นไปยังนครเชียงใหม่

บริเวณด้านเหนือของพระราชวัง พระองค์โปรดให้สร้าง "วัดหลวงชี" ขึ้นเพื่อเป็นสถานที่จำศีลของนางชีนามว่า นักนางแม้น ซึ่งเป็นมารดาของนักองค์อีธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชา พระเจ้ากรุงกัมพูชา ซึ่งเป็นพระสนมเอกในพระองค์[5][6]

พระองค์ทรงสร้างพระราชวังบวรสถานมงคลด้วยความประณีต ด้วยตั้งพระราชหฤทัยว่า เมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชสวรรคต ถึงเวลาพระองค์ทรงครอบครองราชสมบัติ จะเสด็จประทับอยู่พระราชวังบวรฯ ตามแบบอย่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ไม่เสด็จลงมาอยู่วังหลวง[7]

ครั้นเมื่อพระองค์ทรงพระประชวรใกล้สวรรคตนั้น พระองค์มีรับสั่งว่า พระราชมณเฑียรสถานได้ทรงสร้างไว้ใหญ่โตมากมายเป็นของปราณีตบรรจง ประชวรมาช้านานไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นให้รอบคอบ จะใคร่ทอดพระเนตรให้สบายพระราชหฤทัย ดังนั้น จึงโปรดฯ ให้เชิญพระองค์ขึ้นทรงพระเสลี่ยงบรรทมพิงพระเขนยไปโดยรอบพระราชมณเฑียร โดยการเสด็จในครั้งนี้มีบางคนกล่าวว่า พระองค์ทรงบ่นว่า "ของนี้อุตส่าห์ทำขึ้นด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นนักหนา หวังว่าจะได้อยู่ชมให้สบายนานๆ ก็ครั้งนี้จะไม่ได้อยู่แล้ว จะได้เห็นวันนี้เป็นที่สุด ต่อนี้ไปก็จะเป็นของท่านผู้อื่น" และเล่าอีกอย่างหนึ่งว่า พระองค์มีรับสั่งว่า "ของใหญ่ของโตดีดีของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุนให้แรง ก็สร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครมิใช่ลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง ขอให้ผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข" ซึ่งมีปรากฏในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย[7]

ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระราชวังบวรสถานมงคลก็ถูกปล่อยให้รกร้าง เนื่องจากกรมพระราชวังสถานมงคลพระองค์ต่อมา คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรนั้น ไม่ได้เสด็จเข้าประทับที่พระราชวังแห่งนี้ แต่ยังคงประทับที่พระราชวังเดิม ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์)[1] พระองค์ทรงสมรสกับพระธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และได้เสด็จเข้าประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล ในสมัยของพระองค์นั้น ไม่ได้มีการสร้างสิ่งใดเพิ่มเติมภายในพระราชวังบวรสถานมงคล แต่มีการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมลง พระองค์ทรงให้รื้อพระพิมานดุสิตาลง โดยนำไม้ที่ได้จากการรื้อไปใช้ในการสร้างวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร รื้อกุฎิวัดหลวงชีซึ่งชำรุด ทำเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย นอกจากนี้ ภายในพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระองค์ทรงย้ายปราสาทปรางค์ 5 ยอด ซึ่งเดิมสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ แต่ภายหลังการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานภายในพระบรมมหาราชวังแล้ว พระองค์จึงทรงให้ตั้งพระที่นั่งเศวตฉัตรแทน เพื่อเป็นที่เสด็จออกแขกเมืองและพระสงฆ์ถวายพระธรรมเทศนา

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2360พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ และไม่มีการสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นอีกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ

พระที่นั่งอุตราภิมุข บริเวณหมู่พระวิมาน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ออกพระนามว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ)[1] หลังจากนั้น พระองค์ทรงประทับอยู่ที่พระราชวังบวรสถานมงคลตลอดพระชนม์ชีพ โดยพระองค์ได้ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงพระราชวังบวรสถานมงคลมากมาย

พระองค์ทรงซ่อมแซมพระราชมณเฑียรทั้ง 3 หลัง และต่อมุขบริเวณด้านหลังพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ เรียกว่า พระที่นั่งปฤษฎางค์ภิมุข และมุขด้านหน้า เรียกว่า พระที่นั่งพิมุขมณเฑียร พร้อมทั้งขนานนามพระที่นั่งที่ที่ล้อมรอบพระราชมณเฑียรทั้ง 4 มุมว่า พระที่นั่งบูรพาภิมุข พระที่นั่งทักษิณาภิมุข พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข และพระที่นั่งอุตราภิมุข

พระองค์ยังให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ต่อจากพระที่นั่งพิมุขมณเฑียรเพื่อใช้เป็นท้องพระโรง เรียกว่า พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ซึ่งสร้างเลียนแบบ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ภายในพระบรมมหาราชวัง และเปลี่ยนนามพระที่นั่งพรหมเมศรังสรรค์เป็นพระที่นั่งพรหมเมศธาดา เพื่อให้คล้องจองกับพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย รวมทั้ง เปลี่ยนนามพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ด้วย

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงให้สร้างพระที่นั่งเครื่องไม้ ขนานนามว่าพระที่นั่งรังสรรค์จุฬาโลก ขึ้นบริเวณสระน้ำที่เป็นที่ตั้งของพระที่นั่งพิมานดุสิตา ภายหลังหักพังเสียหมด และสร้างวัดพระแก้ววังหน้า ขึ้น โดยโปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์ จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก มาประดิษฐานที่พระอุโบสถของวัด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า วัดบวรสถานสุทธาวาส[8]

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2375 โดยไม่มีการสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นอีกตลอดรัชกาล ทำให้พระราชวังสถานมงคลว่างลงอีกครั้ง

สมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ มีตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประดับอยู่บนอาคาร

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลรับพระบวรราชโองการ พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 มีพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้เรียกพระราชวังบวรสถานมงคลว่า พระบวรราชวัง ขณะที่วังหลวงเรียกว่าพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าประทับในพระบวรราชวังซึ่งอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก ดังนั้น ในสมัยนี้จึงมีการปรับปรุง ซ่อมแซม พระบวรราชวังครั้งใหญ่เพื่อให้สมพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีต้นแบบมาจากพระบรมมหาราชวังเป็นส่วนใหญ่

พระองค์ทรงสร้างพระที่นั่งคชกรรมประเวศเป็นองค์แรก บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ซึ่งใช้เป็นพระที่นั่งในการเกยช้าง พระที่นั่งองค์นี้มีลักษณะคล้ายพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง และโปรดให้สร้างพระที่นั่งบริเวณมุมข้างใต้และเหนือของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย นามว่า พระที่นั่งมังคลาภิเษก และ พระที่นั่งเอกอลงกฎ สร้างตามแบบพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ ภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระที่นั่งทั้ง 2 องค์มีที่เกยสำหรับทรงพระราชยาน รวมทั้ง ยังสร้างพระที่นั่งสนามจันทร์ และสร้างพลับพลาสูงตามแบบพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท เหมือนอย่างพระราชวังหลวง และทรงย้ายตำหนักแดงจากพระราชวังเดิม มาปลูกไว้ที่พระบวรราชวังด้วย[9]

พระองค์โปรดให้สร้างพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ซึ่งเป็นตึกแบบฝรั่ง 2 ชั้น เพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระองค์ และเสด็จเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังโปรดให้สร้างพระที่นั่งบริเวณหน้าพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ แต่พระองค์เสด็จสวรรคตไปเสียก่อน ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนสำเร็จ พร้อมทั้งพระราชทานนามพระที่นั่งว่า พระที่นั่งบวรบริวัติ

เมื่อพระองค์จัดตั้งทหารวังหน้าขึ้น จึงมีการสร้างสถานที่สำหรับการทหารขึ้นภายในพระบวรราชวัง เช่น โรงปืนใหญ่ โรงทหาร คลังสรรพาวุธ เป็นต้น รวมทั้ง ยังสร้างโรงช้างต้น และ ม้าต้น ตามแบบพระบรมมหาราชวังอีกด้วย

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังการเสด็จทิวงคตของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทนั้น กลับมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ดังเดิม

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงตั้งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีกตลอดรัชกาล

สมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เนื่องจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการปรับปรุงพระบวรราชวังครั้งใหญ่ และยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงไม่ค่อยมีการสร้างพระที่นั่งใหม่มากนัก พระองค์ทรงสร้าง พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส ต่อจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนแล้วเสร็จและเสด็จเข้าประทับในพระที่นั่งองค์นี้

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคตเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2428 หลังจากนั้น ก็ไม่มีการสถาปนาเจ้านายพระองค์ใดที่ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

จุดสิ้นสุดของพระราชวังบวรสถานมงคล

หลังจากการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้สถาปนาเจ้านายพระองค์ใดในตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีก แต่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. 2429 ทำให้ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลถูกยกเลิกไป ดังนั้น พระราชวังบวรสถานมงคลจึงไม่ได้เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนับตั้งแต่นั้นมา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ดัดแปลงสนามวังหน้าเป็นส่วนหนึ่งของสนามหลวง และรื้อป้อมปราการต่าง ๆ ลง และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานไปไว้ที่ พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ใน พ.ศ. 2430 และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคลจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครใน พ.ศ. 2469[10] ปัจจุบัน พื้นที่ส่วนใหญ่ของพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โรงละครแห่งชาติและท้องสนามหลวงตอนเหนือฟากตะวันตก

ใกล้เคียง

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท) พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระราชวังต้องห้าม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวังดุสิต พระราชวังสนามจันทร์

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระราชวังบวรสถานมงคล http://maps.google.com/maps?ll=13.757930,100.49148... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=13.7579... http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp... http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.thaifolk.com/Doc/watborwornsathan.htm http://www.thailandmuseum.com/bangkok/keang.htm http://www.thailandmuseum.com/bangkok/mapmuseum.ht... http://www.thailandmuseum.com/bangkok/tumnakdang.h... http://www.globalguide.org?lat=13.757930&long=100....