ประวัติ ของ พระราชอุดมมงคล_(เอหม่อง_อุตฺตมรมฺโภ)

หลวงพ่ออุตตมะ เดิมชื่อ เอหม่อง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2453 ที่หมู่บ้านโมกกะเนียง ตำบลเกลาสะ อำเภอเย จังหวัดเมาะลำเลิง ประเทศพม่า เป็นบุตรคนโตในครอบครัวเชื้อสายมอญ จำนวน 12 คน ของนายโง และนางทองสุก หลังเรียนหนังสือจบจากพม่าเมื่ออายุ 18 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเกลาสะ ได้ศึกษาภาษาบาลี และพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นโท อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเกลาสะ ได้รับฉายาว่า อุตตมรัมโภ แปลว่า ผู้มีความพากเพียรอันสูงสุด โดยได้ตั้งเจตจำนงที่จะบวชไม่สึกจนตลอดชีวิต

เมื่อ พ.ศ. 2475 อุตตมรัมโภภิกขุสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก จากสำนักเรียนวัดปราสาททอง อำเภอเย จังหวัดมะละแหม่ง ต่อมา พ.ศ. 2484 สอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ในประเทศพม่า ที่สำนักเรียนวัดสุขการี อำเภอสะเทิม จังหวัดสะเทิม อุตตมรัมโภภิกขุจึงได้เดินทางไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐานที่วัดตองจอย และวัดป่าเลไลยก์ จนมีความรู้ความสามารถในเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนวิชาไสยศาสตร์และพุทธาคมเป็นอย่างดี และชอบออกเดินธุดงค์ไปตามที่ต่าง ๆ ในประเทศพม่า

อุตตมรัมโภภิกขุเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกทางจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2486 โดยเดินธุดงค์มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสวนดอก ก่อนจะออกธุดงค์ไป แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงราย น่าน กาญจนบุรี

เนื่องจากเหตุการณ์บ้านเมืองในประเทศพม่าขณะนั้น อุตตมรัมโภภิกขุจึงเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยอีกครั้งทางหมู่บ้านอีต่อง ตำบลปิล็อก อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเกาะ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีคนมาแจ้งข่าวว่าที่สังขละบุรีมีชาวมอญจากบ้านเดิมของท่าน อพยพเข้าเมืองไทย และต้องการนิมนต์ท่านไปเยี่ยม ท่านได้พบกับชาวมอญที่อพยพมาจากโมกกะเนียง เจ้าคะเล และมะละแหม่ง และพาชาวมอญเหล่านี้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านวังกะล่าง ถือเป็นจุดกำเนิดของชุมชนชาวมอญในสังขละบุรี

ในปี พ.ศ. 2499 หลวงพ่ออุตตมะร่วมกับชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญ ได้พร้อมใจกันสร้างศาลาวัดขึ้น มีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า วัดหลวงพ่ออุตตมะ ตั้งอยู่บนเนินสูงในบริเวณที่เรียกว่าสามประสบ เพราะมีแม่น้ำ 3 สายไหลมาบรรจบกัน คือแม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ แม่น้ำรันตี ในปี พ.ศ. 2505 ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาให้ใช้ชื่อว่า "วัดวังก์วิเวการาม" ซึ่งตั้งตามชื่ออำเภอวังกะ ในวัดมีการก่อสร้างเจดีย์จำลองแบบจากวัดมหาโพธิ เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย เริ่มก่อสร้าง พ.ศ. 2518 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2529

ต่อมาทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ก่อสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ์ ซึ่งเมื่อกักเก็บน้ำในปี พ.ศ. 2527 น้ำในเขื่อนเขาแหลมจะท่วมตัวอำเภอเก่ารวมทั้งหมู่บ้านชาวมอญ ทางวัดจึงได้ย้ายมาอยู่บนเนินเขาในที่ปัจจุบัน โดยทางราชการได้ช่วยเหลือในการอพยพผู้คนซึ่งมีอยู่ราว 1,000 หลังคาเรือน บนพื้นที่ 1,000 ไร่เศษ ส่วนบริเวณวัดหลวงพ่ออุตตมะเดิม ปัจจุบันจมอยู่ใต้น้ำ และมีชื่อเสียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว Unseen Thailand เป็นที่รู้จักในชื่อว่า วัดใต้น้ำ สังขละบุรี

ใกล้เคียง

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท) พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระราชวังต้องห้าม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวังดุสิต พระราชวังสนามจันทร์