นัยทางศาสนา ของ พระลักษมณ์พระราม

แม้ศาสนาฮินดูจะสูญไปจากลาว แต่ยังหลงเหลือความเชื่อเทพเจ้าฮินดูปรากฏอยู่ในพระรามชาดก ทั้งได้รับอิทธิพลนาฏกรรมจากเขมร ไทย และชวาผสมกับการร่ายรำพื้นเมืองเล็กน้อย โดยเฉพาะโขนและละครมีลักษณะ การแต่งกาย และโครงเรื่องใกล้เคียงกับฉบับเขมร ไทย และชวา

พระลักษมณ์พระรามบางฉบับมีโครงเรื่องอย่างชาดก เพราะพระรามเป็นผู้เสียสละ มีจริยธรรม และประพฤติอยู่ในศีลธรรมอันดี เป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ต่างจากราพณาสูร (ຮາບມະນາສວນ ฮาบมะนาสวน) ที่ประพฤติตนชั่วร้าย เปรียบดั่งพระเทวทัต พระญาติของพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้พระลักษณ์พระรามจึงมีการสอดแทรกความรู้ทางศาสนาและแสดงให้เห็นว่าความดีย่อมดีกว่าความชั่ว[7] ราพณาสูรเป็นมารผู้ล่อใจให้พระพุทธเจ้าขณะบำเพ็ญเพียร ระบบจักรวาลวิทยาของฮินดูก็อยู่ในพระไตรปิฎกและเทพเจ้าผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องคือ พระอินทร์ และพระอิศวร[8] และยังปรากฏในชาดกช่วงอื่น ๆ[9]

ส่วนร่องรอยการนับถือผีในพระลักษมณ์พระรามนี้มีแม่น้ำโขงเป็นองค์ประกอบแทนแม่น้ำคงคา รวมทั้งมีพญานาคมาบอกบิดาของพระรามว่าให้ย้ายราชธานีจากเมืองมหาธานีศรีพันพร้าว (ปัจจุบันคืออำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย) ไปยังเมืองจันทบุรีศรีสัตตนาค (ปัจจุบันคือนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว) ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแทน ซึ่งพญานาคยังได้รับการบูชาโดยชาวลาวและชาวอีสานมาจนถึงปัจจุบัน พระลักษมณ์พระรามยังเพิ่มเติมในเรื่อง "ควายทรพี" ซึ่งมุ่งไปที่การต่อสู้ของพาลี (ພະລີຈັນ พะลีจัน) สุครีพ (ສັງຄີບ สังคีบ) กับควายทรพี ซึ่งสื่อให้เห็นถึงศาสนาพุทธที่เข้ามาแทนที่การบูชาควายของชาวลาวในอดีต[10]

ใกล้เคียง