พระประวัติ ของ พระวรวงศ์เธอ_พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์

พระชนม์ชีพช่วงต้น

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์เป็นพระธิดาองค์โตในสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กับหม่อมเลี่ยม ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม ศุภสุทธิ์) สตรีชาวเพชรบุรี[2] เมื่อแรกประสูติทรงฐานันดรศักดิ์เป็น หม่อมเจ้า พระบิดาทรงออกพระนามว่า หญิงทิพย์ ประสูติ ณ วังบูรพาภิรมย์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2428[3]

ส่วนพระนามหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ ภาณุพันธุ์ นั้นได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งยังทรงมีความใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เพราะโปรดให้ตามเสด็จประพาสหัวเมืองด้วยเสมอ[3]

เสกสมรส

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

หม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์เสกสมรสกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ กรุณาพระราชทานน้ำสังข์ในพิธีเสกสมรส ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ในตอนค่ำวันเดียวกันนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย และเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ออกไปส่งตัวท่านหญิงที่วังนางเลิ้ง[4] อันเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเป็นที่ประทับ[5]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์และหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ มีพระโอรส 3 องค์ คือ

  1. หม่อมเจ้าเกียรติ อาภากร ประสูติและสิ้นชีพิตักษัยในวันเดียวกัน ประมาณปี พ.ศ. 2446
  2. หม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อาภากร (24 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 – 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2489) ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น พระหลานเธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพย์อาภา[6], พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา[7] และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา[8] เสกสมรสกับหม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา (สกุลเดิม วิเศษกุล) ไม่มีพระทายาท[9]
  3. หม่อมเจ้ารังษิยากร อาภากร (11 สิงหาคม พ.ศ. 2449 – 30 ธันวาคม พ.ศ. 2508) เสกสมรสกับหม่อมราชวงศ์ไพเราะ กฤดากร มีธิดา 2 คน[10]

สิ้นชีพิตักษัย

ขณะที่หม่อมเจ้ารังษิยากรพระโอรสองค์เล็กมีพระชันษาเพียง 1 ปี ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เมื่อหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ได้เสวยยาพิษปลงพระชนม์ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2451[11] และได้สิ้นชีพิตักษัยเวลา 10.50 นาฬิกา[12] ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบันทึกไว้ในจดหมายราชกิจรายวัน มีความบางตอนเกี่ยวกับการสิ้นชีพิตักษัยของท่านหญิงทิพย์ ความว่า[13]

"วันนี้เวลาเช้า ๕ โมงเศษ หม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ในกรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์สิ้นชีพตักไษยเพราะเสวยยาพิศม์ เวลาค่ำโปรดให้กรมขุนสมมุต [พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมติอมรพันธุ์] เสด็จไปเยี่ยมสมเด็จกรมพระ [สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช] แลในเวลาค่ำวันนี้ได้มีการรดน้ำแลแต่งศพเหมือนอย่างที่ไว้ที่บ้าน แล้วแห่ศพไปฝัง ณ สุสานวัดเทพศิรินธร์ พระราชทานกลองชนะ ๑๐ จ่าปี ๑ ฉัตร เบ็ญจา ๑๒ คัน..."

ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก 127 (27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452) สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชได้ทูลเกล้าฯ ถวายลายพระหัตถ์พร้อมร่างกำหนดการแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดงานพระราชทานเพลิงพระศพหม่อมแม้น, พระองค์เจ้าศิริวงศ์วัฒนเดช และหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ในคราวเดียวกันที่วัดเทพศิรินทราวาส[13] ความว่า[14]

"ภายหลังที่ได้รับศพชายเล็ก [พระองค์เจ้าศิริวงศ์วัฒนเดช] มาถึงวันนี้แล้ว ไม้ช้าวันนัก ข้าพระพุทธเจ้าก็ได้รับความทุกข์โทมนัสซ้ำเติมขึ้นอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือหญิงทิพย์ต้องมาเปนอันตรายไป แลหญิงทิพย์ก็ได้มีความประสงค์แลสั่งไว้ให้ช่วยจัดการรีบเผาศพ เสียอย่าให้ล่วงเกินปีหนึ่งไปด้วย..."

แต่เมื่อได้รับลายพระหัตถ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงไม่เห็นด้วย ด้วยทรงวิตกเกี่ยวกับพระพลานามัยของพระอนุชาที่กำลังทรุดโทรมเพราะตรอมพระทัยจากการสูญเสียพระโอรสธิดาในเวลาไล่เลี่ยกัน จึงพระราชทานพระราชกระแสไม่เห็นด้วย ปรากฏในพระราชหัตถเลขาลงวันที่ 1 ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ความว่า[14]

"ถึงท่านเล็ก ฉันได้รับหนังสือขอกำหนดการที่จะทำการเผาศพเริ่มงานตั้งแต่ ๒ มกราคมนั้น จะเปนงานติดต่อกันไปถึง ๑๒ วัน เหนว่าในเดือนมกราคม ตั้งแต่ต้นเดือนก็เปนเวลามีงาน แลต่อไปก็คงมีการโกนจุก การศพแต่ก่อนมาก็เคยทำแต่ไม่เกินเดือน ๓ ซึ่งเปนเวลาแล้งแลว่างไม่มีการงาน ถ้าจะรีบเข้ามาทำในเดือน ๒ ก็เปนเวลาที่เธอเหน็จเหนื่อย ร่างกายทรุดโทรม เมื่อมีงานมากเช่นนี้ก็จะต้องเหน็จเหนื่อยมาก ทั้งงานก็เปนงานฝ่ายทุกข์โศก จะเปนเครื่องเตือนให้เกิดความทุกข์โศกประกอบขึ้นอีก..."

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสเช่นนั้น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนภาณุพันธุวงศ์วรเดชต้องทรงน้อมรับ และเลื่อนงานพระศพออกไปในเดือนกุมภาพันธ์ โดยงานพระราชทานเพลิงได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2451 ซึ่งได้มีการขุดหลุมบรรจุพระศพขึ้นมา เพื่ออัญเชิญไปพระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส[15] ส่วนพิธีพระราชทานเพลิงพระศพก็ได้จัดขึ้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธาน[15] และวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ได้อัญเชิญพระสรีรังคารไปประดิษฐานที่อนุสาวรีย์ของราชสกุลภาณุพันธุ์หลังตึกแม้นนฤมิตร์ โรงเรียนเทพศิรินทร์ ส่วนพระอัฐินั้นได้อัญเชิญไปตั้งไว้ในวังนางเลิ้งของพระสวามี[15]

หลังการสิ้นพระชนม์สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้เป็นบิดา ได้นิพนธ์กลอนขึ้นมาบทหนึ่ง จากการที่ทรงเศร้าเสียพระทัยในการสูญเสียพระธิดาอันเป็นที่รัก ความว่า[16]

เขาไม่รักเราแล้วหนอพ่อจะเลี้ยง
ถึงเวียงวังเราก็มีที่อาศัย
เขาไม่รักเราแล้วก็แล้วไป
จะไปรักใครเขาใยให้ป่วยการ

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอัฐิเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์

แม้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จะไม่สามารถลืมความสูญเสียครั้งนี้ได้ แต่ด้วยทรงร่วมงานกระทรวงทหารเรือกับกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์โดยไม่คำนึงถึงเหตุการณ์ในอดีต ด้วยทรงตระหนักดีถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศ พระองค์จึงได้ให้การสนับสนุนพระดำริของกรมหลวงชุมพรฯ ในฐานะที่ทรงเป็นเสนาธิการทหารเรือเสมอมา[17]

ใกล้เคียง

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศวโรทัย พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระวรวงศ์เธอ_พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ http://www.abhakara.com/webboard/index.php?topic=8... http://www.dmgbooks.com/site/product.asp?intProdID... http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURO... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2443/05... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2444/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2449/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2451/01... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2452/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2453/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/A/...