ประวัติ ของ พระสุธรรมยานเถร_(อินถา_อินฺทจกฺโก)

วัยเยาว์

พระสุธรรมยานเถร หรือ ครูบาอินทจักร มีนามเดิมว่า อินถา พิมสาร เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2439 ตรงกับวันแรม 12 ค่ำ เดือน 11 ปีวอก ภูมิลำเนาอยู่บ้านป่าแพ่ง ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นบุตรของนายเป็งและนางสาร พิมสาร มีพี่น้องรวมทั้งหมด 13 คน ท่านเป็นคนที่ 6 พระสุพรหมยานเถร (พรหมา พฺรหฺมจกฺโก) เป็นคนที่ 7 และพระครูสุนทรคัมภีรญาณ (คำ คมฺภีโร) เป็นคนที่ 8 โยมบิดามารดาของท่านเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด ทำบุญตักบาตร รักษาศีล ทำวัตร ทำสมาธิ เดินจงกรม เป็นประจำและได้ปลูกฝังบุตรธิดาทุกคนให้ปฏิบัติตาม[1]

อุปสมบท

ครูบาอินทจักรได้ขออนุญาตมารดาบิดาบวชเป็นเณร บิดาจึงพาท่านมาฝากเป็นศิษย์พระอธิการแก้ว ขตฺติโย เจ้าอาวาสวัดป่าเหียง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน และได้บรรพชาเป็นสามเณรในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2445 เมื่อบวชแล้วก็ได้ศึกษาพระธรรมทั้งฝ่ายปริยัติและปฏิบัติกับพระอุปัชฌาย์ จนสอบได้นักธรรมชั้นตรี[2] และเรียนสายสามัญจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

เมื่ออายุครบ 20 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 ณ วัดป่าเหียง โดยพระอุปัชฌาย์รูปเดิม พระฮอม โพธาโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระสม สุรินฺโท เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาทางธรรมว่า อินฺทจกฺโก หลังบวชท่านยังคงช่วยสอนพระธรรมในวัด จนกระทั่งเห็นว่าควรปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งความหลุดพ้น จึงกราบลาพระอุปัชฌาย์ออกธุดงค์โดยมีครูบาพรหมา น้องชาย ติดตามไปด้วย[3]

ธุดงค์

ครูบาอินทจักรได้จาริกไปทั่วจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้าประเทศพม่า แล้วกลับเข้าประเทศไทยทางจังหวัดเชียงราย แล้ววกกลับมาจังหวัดเชียงใหม่ ตลอดการธุดงค์ท่านได้รับความลำบากต่าง ๆ ทั้งจากสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ และอาหารอัตคัด แต่ท่านก็อดทนจนผ่านมาได้ ท่านธุดงค์อยู่นานถึง 16 ปี จึงอยู่จำพรรษาที่วัดน้ำบ่อหลวง ตามคำอาราธนาของขุนอนุพลนคร[4]

ศาสนกิจ

ท่านเข้าอยู่วัดน้ำบ่อหลวงตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 นับแต่นั้นท่านได้พัฒนาวัดหลายประการ ทั้งก่อสร้างเสนาสนะ ถนน และแหล่งน้ำใช้เพื่อความสะดวกของแก่ผู้มาวัด[5]

เมื่อวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหารเปิดสอนวิปัสสนากรรมฐานแบบสติปัฏฐาน 4 (ยุบหนอ-พองหนอ) ท่านได้ลงไปศึกษาด้วย โดยมีพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) เป็นผู้สอน เมื่อกลับมาวัดน้ำบ่อหลวง ท่านก็ได้นำวิธีการเจริญวิปัสสนานั้นมาเผยแผ่แก่ประชาชน วัดน้ำบ่อหลวงจึงเป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานมานับแต่นั้น[6]

ใกล้เคียง

พระสุนทรโวหาร (ภู่) พระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) พระสุริโยทัย พระสุธน มโนราห์ พระสุพรรณกัลยา พระสุนทรธรรมเมธี (สุเทพ อาสโภ) พระสุรัสวดี พระสุตตันตปิฎก พระสุนทรราชวงศาฯ (เจ้าฝ่ายบุต) พระสุนทรีวาณี