ประวัติ ของ พระสุนทรราชวงศาฯ_(เจ้าฝ่ายบุต)

พระสุนทรราชวงศาฯ หรือ เจ้าฝ่ายบุต เป็นพระโอรสของเจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช เจ้าผู้ครองอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ องค์ที่ 3 สมภพที่นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ทรงอภิเสกสมรสกับเจ้านางพรหมมา มีพระโอรส 1 องค์ คือ เจ้าเหม็น

ปี พ.ศ. 2334 เกิดเหตุกบฏอ้ายเชียงแก้วที่อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ทางฝ่ายนครจำปาศักดิ์ไม่สามารถรับมือได้ เนื่องจากพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ในเวลานั้น ถึงแก่พิราลัยกะทันหันหลังจากได้รับทราบข่าวศึก (ก่อนหน้านั้นพระเจ้าองค์หลวงฯ เองก็ประชวรเรื้อรังมานานแล้ว) เจ้าฝ่ายหน้า ได้นำเจ้าคำสิงห์ และเจ้าฝ่ายบุต พระโอรสทั้งสองไปร่วมมือกับพระประทุมราชวงศา (เจ้าคำผง) เจ้าผู้ครองเมืองอุบล ผู้เป็นพระเชษฐา ยกทัพไปปราบกบฏอ้ายเชียงแก้วจนราบคาบ และเจ้าฝ่ายหน้าได้จับตัวอ้ายเชียงแก้วประหารชีวิตที่แก่งตะนะ (อยู่ในแม่น้ำมูล ระหว่างอำเภอพิบูลมังสาหารกับอำเภอสิรินธรในปัจจุบัน) ก่อนหน้าที่กองทัพเมืองนครราชสีมาจะยกมาถึงตามรับสั่งจากกรุงเทพฯ ด้วยความดีความชอบในครั้งนี้ ทำให้เจ้าหน้าได้รับการแต่งตั้งเป็น "พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช"[1] เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ องค์ที่ 3 แลพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชก็ยังให้เจ้าฝ่ายบุต ผู้เป็นพระราชโอรสลงไปรับราชการสนองที่นครจำปาศักดิ์อีกด้วย

ปี พ.ศ. 2370 พระยาราชสุภาวดีจึงกราบบังคมทูลความดีความชอบของเจ้าฝ่ายบุตในคราวปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าฝ่ายบุตเป็นพระสุนทรราชวงศา มหาขัติยชาติ ประเทศราชวงศ์เวียง ดำรงรักษ์ภักดียศฦๅไกร ศรีพิไชยสงคราม[2] เจ้าผู้ครองเมืองยศสุนทร องค์ที่ 3 (พ.ศ. 2370-2400) พร้อมพระราชทานพระพุทธรูปสำคัญคือ พระพุทธปฏิมาบุษยรัตน์ หรือ พระแก้วหยดน้ำค้าง อันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองยโสธรในปัจจุบัน , พระราชทานเชลยศึกจากนครเวียงจันทน์ จำนวน 500 ครอบครัว และพระราชทานปืนใหญ่ไว้สำหรับเมืองยศสุนทร 1 กระบอก อันมีชื่อว่า "ปืนนางป้อง" ซึ่งยังคงปรากฏอยู่ที่ศาลหลักเมืองยโสธรมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อเจ้าฝ่ายบุตได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองเมืองแล้ว ได้ให้ไพร่พลนำหินศิลาจากบ้านแก้งหินโงม มาสร้างพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานที่มณฑปวัดป่าอัมพวัน สร้างวัดขึ้นที่ท่าน้ำริมฝั่งแม่น้ำชี เรียกว่า วัดท่าแขก (หรือวัดศรีธรรมารามในปัจจุบัน) และสร้างวัดขึ้นที่กลางเมือง เรียกว่า วัดกลางศรีไตรภูมิ ไว้เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสืบมา

ใกล้เคียง

พระสุนทรโวหาร (ภู่) พระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) พระสุริโยทัย พระสุพรรณกัลยา พระสุนทรธรรมเมธี (สุเทพ อาสโภ) พระสุธน มโนราห์ พระสุตตันตปิฎก พระสุนทรราชวงศาฯ (เจ้าฝ่ายบุต) พระสุรัสวดี พระสุนทรีวาณี