หมู่พระที่นั่งและหอในพระอภิเนาว์นิเวศน์ ของ พระอภิเนาว์นิเวศน์

พระอภิเนาว์นิเวศน์ที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ประกอบด้วย พระที่นั่ง 8 องค์ และหอ 3 หอ รวมทั้งหมด 11 หลัง แต่การตั้งนามพระที่นั่งและอาคารต่าง ๆ นั้น ได้รวมเอานามพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทและพระที่นั่งไชยชุมพลเข้ามาเป็นหมู่พระที่นั่งเดียวกันด้วย นอกจากนี้ นามของหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์นั้นยังได้ตั้งให้สอดคล้องกัน ดังนี้ ไชยชุมพล ภูวดลทัศไนย สุทไธสวรรย์ฯ อนันตสมาคม บรมพิมาน นงคราญสโมสร จันทรทิพโยภาส ภานุมาศจำรูญ มูลมนเทียร เสถียรธรรมปริตร ราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ โภชนลีลาศ และ ประพาสพิพิธภัณฑ์ โดยมีรายละเอียดของพระที่นั่งและหอแต่ละแห่ง มีดังนี้

พระที่นั่งไชยชุมพล

พระที่นั่งไชยชุมพล เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นบนกำแพงพระราชวัง ตรงกับพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฝั่งถนนสนามไชย เป็นพระที่นั่งชั้นเดียว หันไปทางถนนกัลยาณไมตรีอันเป็นทางตรงไปสู่เสาชิงช้า เพื่อใช้เป็นที่ประทับในการทอดพระเนตรกระบวนแห่พระยาชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย และเพื่อทอดพระเนตรตรวจตราการฝึกทหารด้วย[7] ต่อมา เมื่อพระองค์ทรงสร้างพระอภิเนาว์นิเวศน์นั้น พระองค์ได้นำเอานามของพระที่นั่งแห่งนี้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระอภิเนาว์นิเวศน์ด้วย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งไชยชุมพลเคยใช้เป็นที่สังเวยพระสยามเทวาธิราช พระที่นั่งองค์นี้ยังคงปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน[8]

พระที่นั่งภูวดลทัศไนย

ซ้ายสุด คือ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ถัดมา คือ ประตูเทวาพิทักษ์และพระที่นั่งภูวดลทัศไนย ซึ่งด้านบนมีนาฬิกาติดอยู่ทั้ง 4 ด้าน ส่วนขวาสุด คือ ป้อมสิงขรขัณฑ์

พระที่นั่งภูวดลทัศไนย ตั้งอยู่หน้าในสวนหน้าพระพุทธนิเวศน์ เป็นพระที่นั่งมีความสูง 5 ชั้น โดยด้านบนสุดมีนาฬิกาติดอยู่ทั้ง 4 ด้าน โดยพระองค์มีพระราชประสงค์ให้ใช้เป็นหอนาฬิกาหลวง เพื่อทำหน้าที่บอกเวลามาตรฐาน ดังปรากฏในประกาศรัชกาลที่ 4 ฉบับที่ 306, พ.ศ. 2411 ว่า

"...จะเป็นเหตุให้เขาหัวเราะเยาะเย้ยได้ว่าเมืองเรา ใช้เครื่องมือนับทุ่มโมง เวลาหยาบคายนักไม่สมควรเลย เพราะเหตุฉะนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพินิจพิจารณาตรวจตราคำนวณความดำเนินพระอาทิตย์ ให้ฤดูทั้งปวงสอบกับนาฬิกา ที่ดีมาหลายปีทรงทราบถ้วนถี่ทุกประการ แจ้งในพระราชหฤทัยแล้ว..."

โดยพระองค์ทรงกำหนดเส้นแวง 100 องศา 29 ลิปดา 50 พิลิปดา ตะวันออก เป็นเส้นแวงหลักผ่านพระที่นั่งภูวดลทัศไนย พร้อมทั้ง จัดให้มีพนักงานตำแหน่งพันทิวาทิตย์ มีหน้าที่เทียบเวลากลางวันจากดวงอาทิตย์ และตำแหน่งพันพินิตจันทรา ทำหน้าที่เทียบเวลากลางคืนจากดวงจันทร์ พระที่นั่งองค์นี้ได้ถูกรื้อลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[9]

หอนาฬิกาแห่งนี้สร้างก่อนหอนาฬิกาพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (บิกเบน) ที่อังกฤษถึง 2 ปี[ต้องการอ้างอิง] และเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง ทวิภพ[ต้องการอ้างอิง]

พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท

พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยตั้งอยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศตะวันออก มีลักษณะเป็นพลับพลาโถง หลังคาไม่มียอด เป็นเครื่องไม้ทั้งหมด เพื่อใช้เป็นที่ประทับเพื่อทอดพระเนตรกระบวนแห่ในพระราชพิธีสระสนานใหญ่ หรือ การสวนสนามจตุรงคเสนา ซึ่งเป็นริ้วขบวน ประกอบด้วย พลเดินเท้า กระบวนช้าง กระบวนม้า และกระบวนรถ เดินขบวนผ่านหน้าที่ประทับ ในการรับประพรมน้ำมนต์เพื่อชัยมงคล นอกจากนี้ ยังใช้เป็นสถานที่ทอดพระเนตรการฝึกช้างด้วย[10] โดยมีการสันนิษฐานว่าคงสร้างตามแบบอย่างของพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ ที่สร้างขึ้นบนกำแพงภายในพระราชวังหลวง สมัยกรุงศรีอยุธยา[11]

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งองค์นี้ แล้วสร้างขึ้นใหม่โดยการก่ออิฐ พร้อมทั้งมีการยกยอดปราสาทขึ้น และพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งสุทธาสวรรย์" ซึ่งการเปลี่ยนนามพระที่นั่งในครั้งนี้มีข้อสันนิษฐานว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงเปลี่ยนนาม "พระที่นั่งสุทธาสวรรย์" ภายในพระราชวังบวรสถานมงคลใหม่เป็น "พระที่นั่งพุทไธสวรรย์" เพื่อให้ชื่อพระที่นั่งแตกต่างออกไป[12] ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนี[13]

เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณะซ่อมแซม[14] และพระราชทานนามพระที่นั่งใหม่ว่า "พระที่นั่งสุทไธสวรรย์" พร้อมทั้งทรงนำนามพระที่นั่งองค์นี้เข้าเป็นหนึ่งในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระที่นั่งองค์นี้ยังคงปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน

พระที่นั่งอนันตสมาคม

ท้องพระโรงภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม

พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นพระที่นั่ง 2 ชั้น โดยมีมุข 3 มุข ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก หลังพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท มุขกลางยาว 3 ห้อง ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จว่าราชการ และประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ มุขเหนือและมุขใต้เป็นโถงห้องเดียว ใช้เป็นที่เฝ้าของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ

พระที่นั่งอนันตสมาคมนี้ใช้เป็นสถานที่ในการออกรับคณะทูตที่เดินทางมาทำหนังสือเจริญสัมพันธไมตรี ซึ่งถ้ารับแบบเต็มยศจะเรียกว่า "ออกใหญ่" แต่ถ้ารับแบบครึ่งยศจะเรียกว่า "ออกกลาง" ตามธรรมเนียมที่มีมาตั้งแต่ต้นรัชกาล

นอกจากนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตนั้น พระที่นั่งองค์นี้ยังใช้เป็นที่รอเฝ้าฟังพระอาการประชวรของพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และยังเป็นสถานที่ที่ใช้ประชุมหารือกันในการถวายสิริราชสมบัติแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ และแต่งตั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีกด้วย

ต่อมา ในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระที่นั่งองค์นี้อยู่ในสภาพชำรุดผุพังเป็นอันมาก ไม่เหมาะสมกับการใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีเพราะเกรงว่าจะพังลงมา และการบูรณะซ่อมแซมนั้นก็ต้องใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้น จึงโปรดให้รื้อพระที่นั่งองค์นี้ลง แต่พระองค์ก็โปรดให้นำนามพระที่นั่งองค์นี้ไปเป็นนามพระที่นั่งที่สร้างขึ้นใหม่บริเวณพระราชวังดุสิต นั่นคือ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในปัจจุบัน [15]

พระที่นั่งบรมพิมาน

พระที่นั่งบรมพิมาน เป็นพระที่นั่งสูง 3 ชั้น ตั้งอยู่ระหว่างพระที่นั่งอนันตสมาคมและพระที่นั่งนงคราญสโมสร เป็นพระที่นั่งที่มีความสูงมากกว่าพระที่นั่งอื่น ๆ ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ โดยชั้นล่างเป็นส่วนที่ยกพื้น หรือที่เรียกว่า ใต้ถุนชั้นที่ 2 นั้นเป็นส่วนท้องพระโรงซึ่งใช้เป็นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองเป็นการส่วนพระองค์ส่วนชั้นที่ 3 เป็นพระวิมานที่บรรทมภายใต้พระมหาเศวตฉัตรซึ่งพระที่นั่งองค์นี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตามที่พระองค์มีพระราชดำริไว้ ตราบจนหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ได้ถูกรื้อลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้าง "พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ" ขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร แต่เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สิ้นพระชนม์เสียก่อน จึงพระราชทานให้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร หลังจากเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธทรงครองสิริราชสมบัติแล้วได้มีพระบรมราชโองการเปลี่ยนนาม "พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ" เป็น พระที่นั่งบรมพิมาน เพื่อเชิดชูพระเกียรติคุณพระบรมอัยกาธิราช [16]

พระที่นั่งนงคราญสโมสร

พระที่นั่งนงคราญสโมสร เป็นพระที่นั่ง 2 ชั้น อยู่ถัดจากพระที่นั่งบรมพิมาน โดยใช้เป็นท้องพระโรงฝ่ายใน และเป็นที่เสวย ซึ่งพระที่นั่งองค์นี้เรียกได้ว่าเป็นที่ส่วนพระองค์โดยเฉพาะ มักใช้ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญ ๆ เช่น พระราชพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ก็เริ่มต้นที่พระที่นั่งองค์นี้ อย่างไรก็ตาม พระที่นั่งองค์นี้ก็ได้ถูกรื้อลงในภายหลัง

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการสร้างท้องพระโรงขึ้นในบริเวณสวนสุนันทา เมื่อปี พ.ศ. 2467 ซึ่งใช้เป็นท้องพระโรงส่วนกลาง พระราชทานนามพระที่นั่งว่า "พระที่นั่งนงคราญสโมสร" ดังนั้น นามพระที่นั่งนงคราญสโมสรจึงมาปรากฏ ณ สวนสุนันทา[17] โดยพระที่นั่งองค์นี้ใช้สำหรับพระราชวงศ์พระองค์ใดก็ตาม จะทรงใช้ในการบำเพ็ญพระกุศลหรือจัดงานรื่นเริง ปัจจุบัน อยู่ในความดูแลของกรมการปกครอง[18][19]

พระที่นั่งจันทรทิพโยภาส

ภาพถ่ายจากพระที่นั่งภูวดลทัศไนย โดยจะเห็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาโค้ง ซึ่งเป็นหอพระพุทธรูปหรือหอพระบรมอัฐิ ภายในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์

พระที่นั่งจันทรทิพโยภาส เป็นพระที่นั่งมีความสูง 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นส่วนยกพื้นเช่นเดียวกันกับพระที่นั่งบรมพิมาน หลังคาแบน มีทางขึ้นไปยังหอพระบรมอัฐิ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ จึงได้รับลมประจำในฤดูร้อน เดิมใช้เป็นที่ประทับของพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ต่อมาพระองค์ได้ย้ายประทับที่ "พระตำหนักหอ" พระที่นั่งองค์นี้ได้ถูกรื้อลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้น โดยใช้นามพระที่นั่งว่า พระที่นั่งจันทรทิพโยภาส ซึ่งเป็นนามพระที่นั่งเดิมที่อยู่ฝ่ายใน แต่เนื่องจากพระที่นั่งองค์ใหม่นี้สร้างในที่ตั้งเดิมของพระที่นั่งราชฤดี ดังนั้น พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระที่นั่งจันทรทิพโยภาสเป็น พระที่นั่งราชฤดี และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักแบบไทยภายในพระราชวังพญาไท พระราชทานว่า พระที่นั่งจันทรทิพโยภาส เพื่อให้ตรงกับนามพระที่นั่งองค์เดิมที่เคยตั้งอยู่ฝ่ายใน[20]

พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ

พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ เป็นพระที่นั่งสูง 2 ชั้น มีลักษณะเด่นเช่นเดียวกับพระที่นั่งจันทรทิพโยภาส คือ มีหลังคาที่แบน และมีทางขึ้นไปยังหอพระเจ้า ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปที่ทรงบูชา และชั้นบนเป็นพระวิมานที่บรรทม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งจะได้รับลมประจำในปลายฤดูฝนและต้นฤดูหนาว โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ ต่อมา พระที่นั่งองค์นี้ก็ได้ถูกรื้อลง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่เพื่อพระราชทานเป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ได้นำชื่อ "พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ" มาตั้งเป็นชื่อพระที่นั่งองค์นี้ ซึ่งภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระที่นั่งใหม่เป็น พระที่นั่งบรมพิมาน ดังเช่นปัจจุบัน[16]

พระที่นั่งมูลมนเทียร

พระที่นั่งมูลมนเทียร เป็นพระตำหนักเดิมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เคยประทับเมื่อยังทรงพระเยาว์ พระองค์โปรดให้รื้อพระที่นั่งองค์นี้มาสร้างขึ้นใหม่ภายในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ โดยเปลี่ยนจากตำหนักไม้มาเป็นพระที่นั่งตึก มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทยสองหลังแฝดก่ออิฐฉาบปูน ทาสีขาว[21] ตั้งอยู่ระหว่างพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญกับพระพุทธนิเวศน์

เมื่อ พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รื้อพระที่นั่ง แล้วนำมาปลูกไว้ที่วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร จังหวัดนนทบุรี สำหรับใช้เป็นสถานที่เรียนและนับเป็นอาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม ปัจจุบัน พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นห้องสมุดประชาชนของวัดเขมาภิรตาราม[22]

หอเสถียรธรรมปริตร

หอเสถียรธรรมปริตร ตั้งอยู่ริมกำแพงพระอภิเนาว์นิเวศน์ ณ มุมตะวันออกเฉียงเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม สร้างขึ้นตามธรรมเนียมในการสร้างพระราชมนเทียร เพื่อใช้เป็นสถานที่ให้พระสงฆ์รามัญทำพิธีสวดพุทธมนต์พระปริตรคาถา เพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์สำหรับถวายสรงและประพรมโดยรอบพระราชมนเทียร

หอราชฤทธิ์รุ่งโรจน์

หอราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ ตั้งอยู่ต่อจากหอเสถียรธรรมปริตรทางด้านตะวันตก สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นหอเก็บเครื่องพิชัยสงคราม

หอโภชนลีลาศ

หอโภชนลีลาศ ตั้งอยู่บริเวณมุมตะวันออกเฉียงใต้ของพระที่นั่งอนันตสมาคม ใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงพระราชทาน โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับแนวคิดมาจากพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี ที่มีสถานที่จัดเลี้ยงต้อนรับแขกเมืองเช่นกัน

พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์

พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระที่นั่งอนันตสมาคม ใกล้ ๆ กับหอโภชนลีลาศ โดยมีสวนคั่นระหว่างกลาง เป็นพระที่นั่งสำหรับเก็บเครื่องราชบรรณาการจากประเทศต่าง ๆ ที่นำมาทูลเกล้าฯ ถวายและจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ทรงรวบรวมไว้เมื่อครั้งผนวชโดยถือเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ หรือ “รอยัล มิวเซียม” (Royal Museum) มิได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม[23][24] และอาจจะถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศ[25] ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งองค์นี้อยู่ในสภาพชำรุดมาก จึงโปรดเกล้าฯให้รื้อลง และได้สร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้นในตำแหน่งเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2421 พร้อมทั้งพระราชทานนามพระที่นั่งว่า "พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท"[26]

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระอภิเนาว์นิเวศน์ http://203.155.220.217/dusit/travel.html http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp?st... http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp... http://travel.sanook.com/bangkok/bangkok_07054.php http://travel.sanook.com/bangkok/bangkok_07092.php http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=News... http://web.archive.org/20050711080412/www.geocitie... http://www.rspg.org/royals/grandpalace/grandpalace... http://www.kus.ac.th/history.html http://www.tv5.co.th/service/mod/heritage/king/grd...