พระสหัสภุชสหัสเนตรอวโลกิเตศวร ของ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรพันหัสตหัตถ์ ศิลปะจีน

รูปเคารพของพระอวโลกิเตศวรมีอยู่หลายปาง ทั้งภาคบุรุษ ภาคสตรี ไปจนถึงปางอันแสดงลักษณาการที่ดุร้าย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการปราบมารคือสรรพกิเลส แต่ปางที่สำคัญปางหนึ่งคือปางที่ทรงสำแดงพระวรกายเป็นพันหัสถ์พันเนตร ซึ่งมีเรื่องราวปรากฏในพระสูตรสันสกฤตคือ สหัสภุชสหัสเนตรอวโลกิเตศวรโพธิสัตวไวปุลยสัมปุรณอกิญจนมหากรุณาจิตรธารณีสูตรมหากรุณามนตร์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า มหากรุณาธารณีสูตร (大悲咒) นำเข้าไปแปลในจีนโดยพระภควธรรมชาวอินเดีย ในสมัยราชวงศ์ถัง ได้กล่าวถึงบทสวดธารณีแห่งพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ คือ “มหากรุณาหฤทัยธารณี” เนื้อหากล่าวถึงเมื่อครั้งที่พระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โปตาลกะบรรพต ในกาลนั้นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ได้ขอพุทธานุญาตแสดงธารณีมนตร์อันศักดิ์สิทธิ์ไว้เพื่อเป็นที่พึ่งแก่สรรพสัตว์ ซึ่งธารณีนี้ย้อนไปในครั้งกาลสมัยของพระพุทธเจ้านามว่าพระสหัสประภาศานติสถิตยตถาคต พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นได้ตรัสธารณีนี้แก่พระอวโลกิเตศวร และตรัสว่า “สาธุ บุรุษ เมื่อเธอได้หฤทัยธารณีนี้ จงสร้างประโยชน์สุขสำราญแก่สัตว์ทั้งหลายในกษายกัลป์แห่งอนาคตกาลโดยทั่วถึง”

ตามเนื้อความของพระสูตรได้กล่าวว่า ในขณะนั้น เมื่อพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ได้สดับมนตร์นี้แล้ว ก็ได้บรรลุถึงภูมิที่ ๘ แห่งพระโพธิสัตว์เจ้า จึงได้ตั้งปณิธานว่า “ในอนาคตกาล หากข้าพเจ้าสามารถยังประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์ได้ ขอให้ข้าพเจ้ามีพันเนตรพันหัตถ์ในบัดดล” เมื่อท่านตั้งปณิธานดังนี้แล้ว พลันก็บังเกิดมีพันหัสถ์พันเนตรขึ้นทันที และเพลานั้นพื้นมหาพสุธาดลทั่วทศทิศก็ไหวสะเทือนเลื่อนลั่น พระพุทธเจ้าทั้งปวงในทศทิศก็เปล่งแสงโอภาสเรืองรองมาต้องวรกายแห่งพระโพธิสัตว์ และฉายรัศมีไปยังโลกธาตุต่าง ๆ อย่างปราศจากขอบเขต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า เนื่องจากปณิธานอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ หากเหล่ามนุษย์และทวยเทพ ตั้งจิตสวดมหากรุณาธารณี มนตร์นี้คืนละ ๗ จบ ก็จะดับมหันตโทษจำนวนร้อยพันหมื่นล้านกัลป์ได้ หากเหล่ามนุษย์ทวยเทพสวดคาถามหากรุณาธารณีนี้ เมื่อใกล้ชีวิตดับ พระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ ทิศจะยื่นพระกรมารับให้ไปอุบัติในพุทธเกษตรทุกแห่ง

จากเรื่องราวในพระสูตรนี้ทำให้เกิดการสร้างรูปพระโพธิสัตว์พันหัสถ์พันเนตร อันแสดงถึงการทอดทัศนาเล็งเห็นทั่วโลกธาตุและพันหัสต์แสดงถึงอำนาจในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ บทสวดในพระสูตรนี้เป็นภาษาสันสกฤตผสมภาษาท้องถิ่นโบราณในอินเดีย ที่หลงเหลือมาในปัจจุบันมีหลายฉบับที่ไม่ตรงกัน ทั้งในฉบับทิเบต ฉบับจีนซึ่งมีทั้งของพระภควธรรม พระอโมฆวัชระ ฯลฯ ต่อมาได้มีการค้นคว้าและปรับปรุงให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์โดย Dr.Lokesh Chandra และตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 1988 เป็นบทสวดสำคัญประจำองค์พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ที่พุทธศาสนิกชนมหายานสวดกันอยู่โดยทั่วไป

ใกล้เคียง

พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระอภัยมณี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ พระอินทร์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช พระวิษณุ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร พระอานนท์ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา