พระประวัติ ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ_พระองค์เจ้าพลับ_(ในรัชกาลที่_1)

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ ประสูติเมื่อปีมะเส็ง สัปตศก จ.ศ. 1147 ตรงกับ พ.ศ. 2328 เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 15 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาคุ้ม หลังประสูติไม่นานเจ้าจอมมารดาคุ้มได้ถึงแก่อนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงพระราชทานพระราชธิดาให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ทรงดูแล พระองค์เจ้าพลับมีพระชันษายืนยาวได้เป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายใน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับใน ปฐมวงศ์ ว่า

"...พระองค์เจ้าพลับพระองค์หนึ่ง เปนกำพร้าไม่มีเจ้าจอมมารดา พระราชทานมอบให้กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ทำนุบำรุง มีพระชนม์ยืนนานได้เปนพระบรมวงษ์เธอผู้ใหญ่ข้างใน ในแผ่นดินประจุบันนี้..."

ในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ เป็นพระบรมวงศ์ฝ่ายในที่มีพระชันษาสูงที่สุด และเป็นผู้ถวายดอกหมากทำด้วยทองคำและพระแส้หางช้างเผือก ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ว่า

"...ครั้นเสด็จถึงในที่ทรงจุดเทียนนมัสการแล้วเสด็จขึ้นพระแท่นบรรทม พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่คือพระองค์เจ้าพลับ ถวายดอกหมากทำด้วยทองคำแปด น้ำหนัก ๕ ตำลึง พระแส้หางช้างเผือกผู้ ทรงรับแล้ววางไว้ข้างที่..."[1]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์กุลเชษฐ์แห่งพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเวลายาวนานถึง 29 ปี ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2380 ต่อจากสมเด็จพระศรีสุลาลัย กระทั่งประชวรพระโรคชรา และสิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อปีขาล อัฐศก จ.ศ. 1228 ตรงกับ พ.ศ. 2409 สิริพระชันษา 81 ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันอังคารเดือน 3 แรม 14 ค่ำ ปีขาล อัฐศก จ.ศ. 1228 ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2409 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2410)[2] ซึ่งการพระศพของพระองค์มีบันทึกใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ว่า

"ครั้นณวันเสาร์ เดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ ได้เชิญพระโกศพระศพพระบรมวงศ์เธอฝ่ายใน พระองค์เจ้าพลับ ซึ่งประชวรพระโรคชราสิ้นพระชนม์นั้น ตั้งกระบวนแห่แต่หอธรรมสังเวชออก ประตูศรีสุนทรทวารไปออกประตูสกัดเหนือ ตามทางหน้าวัดมหาธาตุไปเข้าประตูพระเมรุด้านตะวันตก เชิญพระศพขึ้นบนพระเบญจา มีการมโหรสพ ๓ วัน ๓ คืน ครั้นรุ่งขึ้นณเดือน ๓ แรม ๑๔ ค่ำ พระราชทานเพลิง"[3]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ