พระราชประวัติ ของ พระเจ้าพรหมมหาราช

พระเจ้าพรหมมหาราช (พระองค์พรหมกุมาร) เป็นพระโอรสองค์ที่ 2 ของพระองค์พังคราชกับพระนางเทวี กษัตริย์เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น องค์ที่ 45

ตามตำนานสิงหนติกุมาร (ไม่ใช่สิงหนวัติ หรือ สิงหนวติ เพราะไม่ปรากฏในเอกสารใบลานชั้นต้น ซึ่งปรากฏเพียง สิงหนติ) กล่าวว่า ภายหลังจากพระองค์พังคราชเสียเมืองให้พระยาขอมและถูกขับไปเป็นแก่บ้านเวียงสี่ทวง ต้องส่งส่วยให้พระยาขอมเป็นทองคำปีละ 4 ทวงหมากพินน้อย(คือมะตูมลูกเล็ก นำมาผ่าซีก 4 ส่วน นำทองคำหลอมลงไปเพียง 1 ซีก) และมีโอรสองค์แรกชื่อ ทุกขิตะกุมาร ต่อมาได้มีสามเณรชาวเวียงสี่ทวง เดินเข้ามาบิณฑบาตรในคุ้มหลวงของพระยาขอม เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น พระยาขอมเห็นจึงถามว่ามาจากไหน เมื่อได้ทราบว่าเป็นชาวสี่ทวงจึงโกรธและสั่งให้ไล่สามเณรออกไป สามเณรได้ยินจึงรู้สึกโกรธ เลยเดินออกจากเมืองขึ้นไปยังพระธาตุดอยกู่แก้ว แล้วเจาะบาตรใส่หัวถวายข้าวให้พระธาตุ แล้วอธิษฐานขอให้ตัวเองได้เกิดเป็นลูกของพระองค์พังคราชและได้ปราบพวกขอมให้พ่ายแพ้ไป แล้วจึงลงไปที่ตีนดอยกู่แก้วนั่งใต้ต้นไม้อดอาหาร 7 วันจนมรณภาพ แล้วไปเกิดเป็นลูกคนที่ 2 ของพระองค์พังราช ชื่อ พรหมกุมาร

เมื่อพรหมกุมารอายุได้ 13 ปี เทวดาได้มาเข้าฝันว่าพรุ่งนี้ให้ไปที่แม่น้ำโขง จะมีช้างเผือก 3 ตัวล่องตามน้ำมา จับได้ตัวแรกจะปราบได้ทวีปทั้ง 4 จับได้ตัวที่สองจะปราบได้ชมพูทวีป จับได้ตัวที่สามจะปราบพวกขอมดำได้ พรหมกุมารพร้อมกับบริวาร 50 คนจึงไปแม่น้ำโขง เห็นมีงูสองตัวล่องมาตามน้ำแล้วผ่านไป เมื่อเห็นงูตัวที่สาม พรหมกุมารจึงสั่งให้จับงูตัวนั้น งูก็พลันกลับร่างเป็นช้าง แต่ไม่ยอมขึ้นมาบนฝั่ง พระองค์พังคราชจึงเอาทองคำพันหนึ่งตีเป็นพาน (พาน อ่านว่าปาน คือเครื่องดนตรีล้านนาชนิดหนึ่ง คล้ายฆ้องแต่ไม่มีโหม่ง ใช้ตี) แล้วให้ทุกขิตะกุมารนำมาส่งให้พรหมกุมารตี เมื่อช้างได้ยินเสียงพานคำจึงเดินตามเสียงพานคำ ช้างตัวนั้นจึงชื่อ ช้างพานคำ และทำการขุดคูเมือง ปรับปรุงกำแพงและประตูเมือง แล้วเปลี่ยนชื่อเวียงสี่ทวงเป็น เวียงพานคำ (สันนิษฐานว่าเวียงสี่ทวงและเวียงพานคำควรอยู่บริเวณเมืองโบราณที่เรียกว่าเวียงแก้ว บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน และเวียงสี่ทวงกับเวียงพานคำไม่ควรอยู่บริเวณเมืองโบราณที่ อ.แม่สาย เพราะตำนานหลายฉบับกล่าวว่าบริเวณนั้นเป็นเมืองหิรัญนครเงินยาง) และทำการซ่องสุมผู้คน แข็งเมืองต่อพระยาขอม

เมื่อพระยาขอมทราบจึงโกรธและยกทัพมาสู้กันที่ทุ่งสันทราย พรหมกุมารขี่ช้างพานคำต่อสู้และได้รับชัยชนะ ไล่ตามตีกองทัพพระยาขอมแตกและสามารถชิงเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นกลับคืนมาได้ ถวายเมืองคืนพระองค์พังคราช เมื่อเสร็จศึกแล้ว พรหมกุมารได้เดินทางกลับเวียงพานคำ เมื่อลงจากหลังช้างพานคำ ช้างพานคำได้หนีออกจากเมืองและกลับร่างเป็นงูเช่นเดิม เลื้อยหายเขาไปในดอยแห่งหนึ่ง ภายหลังเรียกชื่อดอยนั้นว่า ดอยช้างงู ต่อมาชาวอาข่าเรียกเพี้ยนเป็น “ดอยสะโง้” (ปัจจุบันอยู่ที่ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย)

พระองค์พังคราชจะตั้งให้พรหมกุมารเป็นอุปราช แต่พรหมกุมารไม่รับ กลับยกให้ผู้พี่ทุกขิตะกุมารเป็นแทน พระองค์พังคราชได้จัดการสู่ขอพระนางแก้วสุภา ลูกพญาเรือนแก้ว เจ้าเมืองเวียงไชยนารายณ์เมืองมูล ให้กับพระองค์พรหมราช พระองค์พรหมราชได้กลัวว่าจะมีข้าศึกมาอีก จึงไปสร้างเมืองใหม่ คือ เวียงไชยปราการ (สันนิษฐานว่าควรอยู่บริเวณ บ้านร่องห้า (ร่องห้าทุ่งยั้ง) ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย)

ต่อมา พระพุทธโฆษาจารย์ หลังจากเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาจากประเทศลังกาแล้ว จึงกลับมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในมอญ พม่า ตามลำดับจนเข้ามาในโยนกนคร ได้นำพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระนลาฏ (หน้าผาก) 16 องค์ พระองค์พังคราช พระองค์พรหมราช และพญาเรือนแก้ว ได้สร้างโกศเงิน โกศทอง โกศแก้ว บรรจุพระธาตุ ได้แบ่งให้พญาเรือนแก้วนำไปบรรจุในพระธาตุจอมทอง(คือวัดพระธาตุดอยจอมทอง ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย) ส่วนพระธาตุที่เหลือ พระองค์พังคราช พระองค์พรหมราช และพระพุทธโฆษาจารย์ได้สร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุไว้บนดอยน้อย (คือวัดพระธาตุจอมกิตติ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย)

พระองค์พรหมราช ครองราชย์ในเวียงไชยปราการได้ถึง 77 พรรษา ก็สิ้นพระชนม์ไป พระองค์ชัยสิริ พระโอรสได้ขึ้นครองราชย์เวียงไชยปราการต่อมา ทรงพระนามว่า พระเจ้ามหาไชยชนะ [1][2][3]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ