ดยุกแห่งนอร์ม็องดี ของ พระเจ้าวิลเลียมที่_1_แห่งอังกฤษ

ความวุ่นวายในช่วงวัยเยาว์

ดยุกรอแบร์ พระบิดาของวิลเลียมตัดสินใจเดินทางออกจากนอร์ม็องดีเพื่อไปแสวงบุญที่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากไม่มีทายาทคนอื่นนอกจากวิลเลียมซึ่งเป็นบุตรนอกสมรส ดยุกรอแบร์จึงแต่งตั้งวิลเลียมเป็นทายาทและบังคับให้ขุนนางปฏิญาณตนถวายความภักดีต่อวิลเลียม วิลเลียมถูกส่งตัวไปถวายบังคมต่อพระเจ้าอ็องรีที่ 1 กษัตริย์แห่งฝรั่งเศสผู้เป็นเจ้าเหนือหัวของดัชชีนอร์ม็องดี พระองค์ได้ประดับยศอัศวินให้แก่วิลเลียม จากนั้นดยุกรอแบร์ได้เริ่มออกเดินทางในช่วงปี ค.ศ. 1034–1035

หลังบรรลุเป้าหมายในการไปแสวงบุญที่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างการเดินทางกลับดยุกรอแบร์ล้มป่วยในอานาโตเลียและถึงแก่กรรมในกรุงไนซีอาของจักรวรรดิไบแซนไทน์ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1035 วิลเลียมจึงได้ขึ้นเป็นดยุกแห่งนอร์ม็องดีตั้งแต่พระชนมายุ 7 พรรษา โดยมีวิลเลียมซึ่งเป็นผู้ที่คอยสนับสนุนพระบิดาของพระองค์เป็นผู้พิทักษ์กลุ่มแรกร่วมกับรอแบร์ อัครมุขนายกแห่งรูอ็อง, อาล็อง เคานต์แห่งเบรอตาญ และอูสแบน มหาดเล็กประจำตัวของวิลเลียม อีกคนที่คอยสนับสนุนวิลเลียมคือตูโรลด์ หนึ่งในคณะอาจารย์ของวิลเลียม

ในคณะผู้พิทักษ์ผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดคืออัครมุขนายกแห่งรูอ็อง ในช่วงแรกของการขึ้นครองตำแหน่งของวิลเลียมเป็นไปอย่างสงบ อาจเป็นเพราะไม่มีใครอยากเป็นศัตรูกับอัครมุขนายก กระทั่งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1037 เมื่ออัครมุขนายรอแบร์ถึงแก่กรรม เริ่มมีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจเกิดขึ้น ทุกคนในครัวเรือนของวิลเลียมตกอยู่ในอันตราย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ให้การสนับสนุนวิลเลียมตั้งแต่แรก อาล็องแห่งเบรอตาญถูกสังหารในช่วงปี ค.ศ. 1039–1040 ผู้ที่เข้ามาแทนที่ตำแหน่งของเขาคือกีลแบร์ เคานต์แห่งบรียอน เพื่อนสนิทของดยุกรอแบร์ กีลแบร์ถูกสังหารระหว่างกำลังขี่ม้าตามคำสั่งการของราล์ฟแห่งแกซี บุตรชายของอัครมุขนายกรอแบร์แห่งรูอ็อง ในเวลาไล่เลี่ยกันตูโรลด์ถูกลอบสังหาร มหาดเล็กอูสแบนถูกสังหารในห้องนอนของวิลเลียม

เมื่อผู้พิทักษ์ถูกสังหารหมด วอลแตร์ พี่น้องของแอร์เลวา พระมารดาของวิลเลียมได้มานอนเป็นเพื่อนในห้องนอนของวิลเลียม บ่อยครั้งที่เขาต้องลากวิลเลียมออกจากห้องนอนไปหลบภัยในบ้านของคนยากไร้กลางดึกเพื่อความปลอดภัย วิลเลียมยังมีอาอีกสองคน คือ มูฌีร์ อัครมุขนายกแห่งรูอ็อง และกีโยม เคานต์แห่งอาร์คี ทั้งคู่เป็นพี่น้องต่างมารดาของพระบิดาและต่างกระหายในอำนาจ การทำสงครามกันเองภายในครอบครัวของดยุกแห่งนอร์ม็องดีทำให้สถานการณ์ของวิลเลียมยิ่งย่ำแย่

เสาในจุดที่มีการทำยุทธการที่วาเลสดุน

เมื่อวิลเลียมมีพระชนมายุเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น พระองค์ยังคงมีอำนาจน้อย มีการวางแผนสมคบคิดในนอร์ม็องดีล่างโดยมีกีย์แห่งบูร์กอญ ผู้อ้างสิทธิ์ตามกฎหมายในตำแหน่งดยุกแห่งนอร์ม็องอีกคนเป็นแกนนำ กีย์รวมรวบแรงสนับสนุนจากดินแดนในครอบครองและจากนอร์ม็องดีกลางและตะวันตก ว่ากันว่าแผนการคือจะจับตัวและสังหารวิลเลียมที่เมืองแวโลญซึ่งตั้งอยู่ใจกลางอาณาเขตของศัตรูของวิลเลียม แต่มีคนนำแผนการมาบอกวิลเลียม พระองค์จึงขี่ม้าหนีในยามวิกาล ทรงเดินทางไปเมืองฟาเลสและแก้ปัญหาด้วยการขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าอ็องรี

วิลเลียมร้องขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าอ็องรีแบบตัวต่อตัว กษัตริย์แห่งฝรั่งเศสผู้เป็นเจ้าเหนือหัวตอบรับคำขอของข้าราชบริพารของพระองค์ ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1047 พระเจ้าอ็องรีนำทัพเข้าสู่นอร์ม็องดีและรวมกำลังพลเข้ากับกองทัพของวิลเลียมจากนอร์ม็องดีเหนือที่เมืองก็อง กองทัพเผชิญหน้ากับกลุ่มกบฏ ณ ที่ราบวาเลสดุน ชัยชนะในยุทธการที่เวเลสดุนเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเรืองอำนาจของวิลเลียมในนอร์ม็องดี

ยุคเรืองอำนาจในนอร์ม็องดี

ดยุกวิลเลียมแห่งนอร์ม็องดีสมรสกับ มาทิลดา แห่งฟลานเดอร์ ในปี ค.ศ. 1053 ที่มหาวิหารโนเทรอดามแห่งอูเมื่อพระชนมายุได้ 24 พรรษาและมาทิลดา 22 พรรษา ซึ่งเป็นการแต่งงานที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพระสันตะปาปาลีโอที่ 9 กล่าวกันว่าดยุกวิลเลียมเป็นสามีที่รักและซึ่อตรงต่อมาทิลดา ดยุกวิลเลียมและมาทิลดามีบุตรธิดาด้วยกันสิบคน ชายสี่ หญิงหก เพื่อเป็นการไถ่บาปจากการแต่งงานกับญาติ (consanguine marriage) เพราะดยุกวิลเลียมเป็นญาติห่างๆ กับมาทิลดา ดยุกวิลเลียมก็ทรงสร้างวัดเซนต์สตีเฟน (Abbaye-aux-Hommes) และมาทิลดาเซนต์ทรินิตี (Abbaye aux Dames)

พระเจ้าอ็องรีที่ 1 ทรงรู้สึกถึงอันตรายจากอำนาจของดยุกวิลเลียมจากการแต่งงานกับมาทิลดา จึงทรงพยายามรุกรานนอร์ม็องดีสองครั้งในปี ค.ศ. 1054 และ ในปี ค.ศ. 1057 แต่ก็ไม่สำเร็จทั้งสองครั้ง ฝ่ายทางดยุกวิลเลียมก็ยิ่งมีอำนาจและมีผู้สนับสนุนมากขึ้นจากภายในนอร์ม็องดีรวมทั้งจากโอโดแห่งบายูน้องต่างบิดาและจากโรเบิร์ตเคานต์แห่งมอร์แตง (น้องของโอโด) ผู้ที่มามีความสำคัญต่อชีวิตของวิลเลียมต่อมา ต่อมาวิลเลียมได้ประโยชน์จากความอ่อนแอของศัตรูทั้งสองด้าน ทำให้ได้รับชัยชนะต่อพระเจ้าอ็องรีที่ 1 และต่อ เจฟฟรีแห่งอ็องฌู ในปี ค.ศ. 1060 ในปี ค.ศ. 1062 ตามลำดับ หลังจากนั้นดยุกวิลเลียมก็รุกรานดินแดนเมนซึ่งแต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอ็องฌู[6]

ปัญหาการสืบราชบัลลังก์อังกฤษ

เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขีเสด็จสวรรคตโดยไม่มีรัชทายาท ผู้ที่อ้างสิทธิในราชบัลลังก์มีด้วยกันอย่างน้อยสามฝ่าย -- ดยุกวิลเลียมแห่งนอร์ม็องดี, ฮาโรลด์ กอดวินสัน เอิร์ลผู้มีอำนาจแห่งเวสเซ็กซ์ และพระเจ้าฮาโรลด์ที่ 3 แห่งนอร์เวย์ ดยุกวิลเลียมอ้างว่ามีเชื้อสายเกี่ยวข้องกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทางพระปิตุฉาเอ็มมาแห่งนอร์ม็องดีผู้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าเอเธล์เรดที่ 2 และเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด นอกจากนั้นดยุกวิลเลียมยังอ้างว่าขณะที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงลึ้ภัยอยู่ในนอร์ม็องดีระหว่างการยึดครองของเดนมาร์กในอังกฤษ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงให้สัญญายกราชบัลลังก์ให้เมื่อดยุกวิลเลียมเดินทางมาเยึ่ยมพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ลอนดอนในปีค.ศ. 1052 และยังอ้างว่าหลังจากที่ได้ช่วยฮาโรลด์ กอดวินสันจากเรือแตกและเคานต์แห่งปัวตู ทั้งสองคนก็ได้ร่วมกันต่อสู้โคนันที่ 2 ดยุกแห่งบริตานี จนได้รับชัยชนะ ดยุกวิลเลียมจึงแต่งตั้งให้ฮาโรลด์เป็นอัศวิน ฮาโรลด์จึงได้ให้คำปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อดยุกวิลเลียมต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในปีค.ศ. 1064[7]

ในปีค.ศ. 1066 ตามที่เข้าใจกันว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและจากมติของสภาวิททัน ฮาโรลด์ กอดวินสันก็ได้รับการสวมมงกุฏเป็นสมเด็จพระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน โดยอัครบาทหลวงอัลเดรด หลังจากนั้นพระเจ้าฮาโรลด์ก็ทรงเตรียมกองทัพเตรียมรับผู้ที่จะมารุกรานจากหลายฝ่าย หลังจากที่ทรงได้รับชัยชนะต่อพระอนุชาทอสทิก พระเจ้าฮาโรลด์ที่ 3 แห่งนอร์เวย์ หรือ หรือ ฮาราลด์ ฮาร์ดดราดา ทางด้านเหนือของอังกฤษ พระเจ้าฮาโรลด์ก็ต้องเดินทัพกลับลงมาทางใต้อย่างเร่งด่วนเป็นระยะทางราว 241 ไมล์เพื่อมาเตรียมรับทัพของดยุกวิลเลียม สองกองทัพประจันหน้าต่อสู้กันที่ยุทธการเฮสติงส์ (Battle of Hastings) ซึ่งเชื่อกันว่าพระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสันทรงถูกยิงทะลุพระเนตรจนสวรรคต

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ