พระราชประวัติ ของ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่_3_แห่งอังกฤษ

เบื้องต้น

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จพระราชสมภพที่พระราชวังวินด์เซอร์เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1312 เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงพระนามว่า “เอ็ดเวิร์ดแห่งวินด์เซอร์” สมัยการปกครองของพระราชบิดาพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 เป็นสมัยที่เต็มไปด้วยความพ่ายแพ้ทางทหาร ความขัดแย้งกับขุนนางผู้มีอำนาจ การฉ้อโกงของข้าราชสำนัก แต่การทรงมีรัชทายาทที่เป็นผู้ชายในปี ค.ศ. 1312 ก็เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับราชบัลลังก์อยู่ชั่วระยะหนึ่ง[2] เพื่อให้ความความมั่นคงยั่งยืนต่อไปพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 จึงทรงแต่งตั้งเอ็ดเวิร์ดแห่งวินด์เซอร์ขึ้นเป็น “เอิร์ลแห่งเชสเตอร์” เมื่อพระชนมายุเพียง 12 วันและอีกสองเดือนต่อมาก็พระราชทานข้าราชบริพารครบชุดสำหรับการมีราชสำนักเป็นการส่วนพระองค์ให้แก่พระราชโอรส เพื่อให้ทรงมีความอิสระในการเป็นขุนนางเต็มตัวด้วยพระองค์เองราวกับเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว[1]

เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1327 เมื่อเอ็ดเวิร์ดแห่งวินด์เซอร์มีพระชนมายุได้ราว 14 พรรษา พระนางอิสซาเบลลาแห่งฝรั่งเศส สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษพระราชมารดาและโรเจอร์ มอร์ติเมอร์และรัฐสภาก็ปลดพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 จากราชบัลลังก์ และยกเอ็ดเวิร์ดแห่งวินด์เซอร์ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ โดยทรงเข้าพิธีราชาภิเษกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1327 โดยมีสมเด็จพระราชินีอิสซาเบลลาและโรเจอร์ มอร์ติเมอร์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มอร์ติเมอร์ถือได้ว่าเป็นผู้ปกครองอังกฤษโดยพฤตินัย อีกทั้งยังข่มเหงน้ำพระทัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดโดยไม่ให้ความนับถือต่อพระองค์และทำให้ทรงเสียพระพักตร์โดยตลอด เมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1328 ในขณะมีพระชนมายุได้ 15 พรรษา ก็ได้ทรงเสกสมรสกับฟิลิปปาแห่งเฮนอลต์ วัย 16 พรรษา ณ ยอร์กมินสเตอร์[3]

มอร์ติเมอร์ทราบว่าฐานะของตนเองออกจะไม่มั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 และพระนางฟิลิปปามีพระราชโอรสพระองค์แรกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1330[4] มอร์ติเมอร์จึงใช้อำนาจในการนำมาซึ่งตำแหน่งขุนนางและอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่ได้มาเดิมเป็นของเอ็ดมันด์ ฟิทซ์แอแลน เอิร์ลแห่งอารันเดลที่ 9 (Edmund FitzAlan, 9th Earl of Arundel) ฟิทซ์แอแลน ผู้ยังจงรักภักดีต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ขณะที่ทรงมีความขัดแย้งกับพระราชินีอิซาเบลลาและมอร์ติเมอร์ จึงถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1326 ความโลภและความทะนงตัวของมอร์ติเมอร์ทำให้เป็นที่เกลียดชังในหมู่ขุนนางซึ่งทำให้เป็นประโยชน์ต่อสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3

ไม่นานหลังจากมีพระชนมายุได้ 18 พรรษา พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ด้วยความช่วยเหลือของผู้ที่ทรงไว้วางใจก็ก่อรัฐประหารขึ้นที่ปราสาทนอตติงแฮม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1330 โดยทรงส่งทหารเข้าไปตามทางลับซึ่งเชื่อมต่อถึงปราสาท แล้วทรงสั่งจับพระนางอิสซาเบลลาและโรเจอร์ มอร์ติเมอร์ ในพระนามของกษัตริย์ มอร์ติเมอร์ถูกส่งไปจำขังที่หอคอยแห่งลอนดอน เขาถูกริบที่ดินและยศทั้งหมด และถูกกล่าวหาว่าถือสิทธิ์อำนาจของกษัตริย์เหนือดินแดนอังกฤษ ส่วนพระมารดา พระนางอิสซาเบลลา ทรงร้องขอให้โอรสของพระองค์ทรงไว้ชีวิต พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงทรงตัดสินประหารชีวิตมอร์ติเมอร์หนึ่งเดือนภายหลังรัฐประหาร ส่วนพระนางอิซาเบลลาทรงถูกเนรเทศไปยังปราสาทไรส์ซิง เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ทรงมีอำนาจโดยพฤตินัยในฐานะผู้ปกครองอังกฤษ

ต้นรัชสมัย

จุลจิตรกรรมภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1327พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดในภาพการล้อมเมืองเบอริค

เมื่อเริ่มขึ้นครองราชย์สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ก็เลือกที่จะริเริ่มความขัดแย้งกับราชอาณาจักรสกอตแลนด์ขึ้นอีกตามนโยบายของ พระราชบิดาและพระอัยกาก่อนหน้านั้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงยกเลิกสนธิสัญญาเอดินบะระ-นอร์ทแธมป์ตัน (Treaty of Edinburgh-Northampton) ที่ลงนามระหว่างสมัยผู้สำเร็จราชการ ซึ่งเป็นการประกาศสิทธิในการปกครองของอังกฤษในราชอาณาจักรสกอตแลนด์ จึงเป็นผลให้เกิด สงครามอิสรภาพสกอตแลนด์ครั้งที่ 2 (Second War of Scottish Independence)

สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 มีพระราชประสงค์ที่จะยึดดินแดนที่อังกฤษเสียไปคืน และทรงสามารถยึดเบอร์ริคคืนได้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1333 พระองค์ก็ทรงได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดที่ ยุทธการฮาลิดันฮิลล์ (Battle of Halidon Hill) ต่อกองทัพของยุวกษัตริย์พระเจ้าเดวิดที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงอยู่ในฐานะที่จะแต่งตั้งให้เอ็ดเวิร์ด บาล์ลิโอล (Edward Balliol) ขึ้นครองราชบัลลังก์สกอตแลนด์โดยได้รับดินแดนทางใต้ของสกอตแลนด์เป็นรางวัล (โลเธียนส์, ร็อกซเบิร์กเชอร์, เบอร์วิคเชอร์, ดัมฟรีสเชอร์, แลนนาร์คเชอร์ และพีเบิลเชอร์) แม้ว่าจะทรงได้รับชัยชนะที่ดูพพลินและฮาลิดัน แต่ไม่นานนักโรเบิร์ต บรูซ (Robert the Bruce) ก็ยึดกลับ และภายในปี ค.ศ. 1335 การยึดครองของอังกฤษโดยบาล์ลิโอลก็อ่อนตัวลง หลังจากยุทธการคัลเบรียน (Battle of Culblean)

ในปี ค.ศ. 1336 จอห์นแห่งเอลแธม เอิร์ลแห่งคอร์นวอลพระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ก็มาสิ้นพระชนม์ลง จอห์นแห่งฟอร์ดุนอ้างไว้ในบันทึกเจสตา (Gesta Annalia) ว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดปลงพระชนม์จอห์นแห่งเอลแธมหลังจากที่ทรงมีปากมีเสียงกัน

แม้ว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจะทรงใช้กองทัพใหญ่ในการรณรงค์ยึดดินแดนสกอตแลนด์ แต่ภายในปี ค.ศ. 1337 ดินแดนส่วนใหญ่ก็ถูกยึดกลับโดยพระเจ้าเดวิดที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ อังกฤษจึงเหลือเพียงปราสาทอยู่ไม่กี่แห่งเช่นเอดินบะระห์ ร็อกซเบิร์ก และสเตอร์ลิง ซึ่งไม่เพียงพอที่จะใช้ในการครอบครองสกอตแลนด์ทั้งหมดได้ ฉะนั้นภายในปี ค.ศ. 1338/1339 นโยบายของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงเปลี่ยนจากการยึดดินแดนที่เสียไปคืนมาเป็นเพียงการรักษาดินแดนที่ยังอยู่ในมือไม่ให้เสียไปอีก

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดไม่ทรงแต่จะมีปัญหาทางสกอตแลนด์เท่านั้นแต่ยังมีปัญหาทางทางฝรั่งเศสด้วย ปัญหาทางฝรั่งเศสมีด้วยกันสามประการ ประการแรกฝรั่งเศสให้การสนับสนุนสกอตแลนด์ตาม สัญญาพันธมิตรฝรั่งเศส-สกอตแลนด์ (Auld Alliance หรือ Franco-Scottish alliance) โดยการที่พระเจ้าฟิลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศสทรงให้ความคุ้มครองแก่พระเจ้าเดวิดที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ผู้เสด็จมาลี้ภัย และทรงสนับสนุนสกอตแลนด์ในการโจมตีดินแดนอังกฤษทางตอนเหนือ ประการที่สองฝรั่งเศสโจมตีเมืองชายฝั่งทะเลของอังกฤษหลายเมืองทำให้เกิดข่าวลือกันว่าฝรั่งเศสจะมารุกรานราชอาณาจักรอังกฤษอย่างเป็นทางการ[5] และประการสุดท้ายดินแดนอังกฤษในฝรั่งเศสก็อยู่ในฐานะที่ไม่มั่นคงโดยที่พระเจ้าฟิลลิปที่ 6 ทรงยึดบริเวณอากีแตงและปองทู (Ponthieu) ในปี ค.ศ. 1337

แทนที่จะทรงแก้ปัญหาในทางสงบโดยการประกาศความสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดกลับทรงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสโดยทรงอ้างว่าทรงเป็นผู้สืบเชื้อสายชายเพียงองค์เดียวของพระอัยกาทางพระราชมารดาพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส แต่ทางฝรั่งเศสโต้ด้วยการอ้างกฎหมายซาลลิค (Salic law) ซึ่งเป็นกฎการลำดับสิทธิการสืบราชบัลลังก์ที่จำกัดมิให้สตรีหรือผู้สืบเชื้อสายจากสตรีมีสิทธิในการครองบัลลังก์ฝรั่งเศส และไม่ยอมรับข้ออ้างของพระองค์ และประกาศว่าพระเจ้าฟิลิปที่ 6 เป็นพระนัดดาของพระเจ้าฟิลลิปที่ 4 ผู้ทรงเป็นรัชทายาทที่แท้จริง ข้อขัดแย้งนี้เป็นข้อหนึ่งที่นำไปสู่ สงครามร้อยปี การอ้างสิทธิของพระองค์ไม่แต่จะทรงอ้างด้วยวาจาเท่านั้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดยังทรงออกตราประจำพระองค์ที่ประกอบด้วยตราประจำราชอาณาจักรอังกฤษ สิงห์ และตราประจำราชอาณาจักรฝรั่งเศส และตราลิลี (fleurs de lys) ก็เท่ากับว่าทรงประกาศพระองค์ว่าเป็นพระมหากษัตริย์ของทั้งสองอาณาจักร[6]

ในการต่อสู้กับฝรั่งเศสพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงสร้างพันธมิตรกับแคว้นย่อยๆ ในฝรั่งเศสซึ่งทำให้สามารถทรงต่อสู้กับฝรั่งเศสได้โดยฉันทะ (by proxy) โดนแคว้นที่ทรงเป็นพันธมิตรด้วยต่อสู้แทนพระองค์ ในปี ค.ศ. 1338 จักรพรรดิลุดวิกที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ผู้ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็น vicar-general ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ทรงสัญญาว่าจะสนับสนุนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ความเป็นพันธมิตรเหล่านี้ทำให้ได้ผลบางอย่าง ที่สำคัญที่สุดคือชัยชนะของราชนาวีอังกฤษที่ยุทธการซลุส (Battle of Sluys) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1340 ซึ่งทำให้ทั้งทหารราบและทหารเรือฝรั่งเศสเสียชีวิตด้วยกันรวมทั้งสิ้น 16,000 คน

ขณะเดียวกันภายในราชอาณาจักรอังกฤษเองก็ประสบปัญหาทางการเงินจากค่าใช้จ่ายในการสงคราม และการเป็นพันธมิตรซึ่งทำให้เกิดความไม่พึงพอใจในบรรดาขุนนาง พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงเสด็จกลับอังกฤษโดยมิได้ทรงประกาศล่วงหน้าเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1340 เมื่อทรงมาพบว่ากิจการบ้านเมืองอยู่ในสภาพที่ยุ่งเหยิง พระองค์จึงทรงกำจัดผู้บริหารต่างๆ ออกหมด[7] แต่ก็มิได้ทำให้สถานการณ์มั่นคงขึ้น นอกจากว่าจะเป็นการประจันหน้ากันระหว่างพระองค์กับจอห์น แสตร็ทฟอร์ด อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี

ในเดีอนเมษายน ค.ศ. 1341 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงถูกรัฐสภาอังกฤษบังคับให้ยอมรับสถานการณ์อันจำกัดทางการเงิน แต่ในเดือนตุลาคมก็ทรงละเมิดและทรงขับจอห์น แสตร็ทฟอร์ดจากราชสำนัก แต่การปฏิบัติของรัฐสภาในปี ค.ศ. 1341 ในการบังคับพระเจ้าแผ่นดินให้ทำตามคำสั่งรัฐสภาเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมาก่อนหน้านั้น เพราะอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินในยุคกลางเป็นอำนาจที่ไม่มีขอบเขตและพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงใช้อำนาจนี้ในการละเมิดคำสั่ง[8]

ชนะสงคราม

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและพระเจ้าฟิลิปที่ 6

หลังจากการรณรงค์บนผืนแผ่นดินใหญ่ยุโรปหลายครั้ง พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงนำทัพจำนวน 15,000 ไปนอร์ม็องดี ในปี ค.ศ. 1346[9] ทรงเผาเมืองแคนก่อนที่จะเดินทัพต่อไปทางเหนือของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมก็ทรงพบกับกองทัพฝรั่งเศสในยุทธการเครซี (Battle of Crécy) ที่ทรงได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ขณะเดียวกันทางอังกฤษวิลเลียม ซูค (William Zouche) อาร์ชบิชอปแห่งยอร์กก็รวบรวมกำลังกันต่อต้านพระเจ้าเดวิดที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ผู้กลับมาจากฝรั่งเศส ได้รับชัยชนะและจับตัวพระเจ้าเดวิดได้ที่ยุทธการเนวิลล์ครอส (Battle of Neville's Cross) เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม เมื่อพรมแดนทางเหนือมีความมั่นคงขึ้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงต่อสู้กับฝรั่งเศสได้อย่างเต็มที่ ทรงล้อมเมืองคาเลส์ (Calais) จนเสียเมืองเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1347

หลังจากการสวรรคตพระเจ้าหลุยส์ที่ 4 ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1347 แล้ว พระเจ้าหลุยส์ที่ 5 แห่งบาวาเรียพระราชโอรสก็ทรงเจรจาต่อรองกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเพื่อต่อต้านพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 4 แห่งเยอรมนีในการเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่ในเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ. 1348 ก็ทรงเปลี่ยนพระทัยไม่เข้าร่วมแข่งขันในการครองราชบัลลังก์เยอรมัน

ในปี ค.ศ. 1348 ก็เกิดกาฬโรคระบาดในยุโรปซึ่งทำให้อังกฤษเสียประชากรไปหนึ่งในสาม[10] การสูญเสียประชากรครั้งนี้หมายถึงการสูญเสียทั้งทางกำลังคนและกำลังทรัพย์ ซึ่งทำให้ทรงไม่สามารถดำเนินสงครามต่อได้ นอกจากนั้นก็ยังทำให้เกิดภาวะค่าแรงงานที่สูงขึ้นที่ทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงพยายามควบคุมโดยการออกพระราชบัญญัติแรงงาน ค.ศ. 1349 (Ordinance of Labourers) และ พระราชบัญญัติแรงงาน ค.ศ. 1351 (Statute of Labourers of 1351) เพื่อการจัดระบบและควบคุมค่าแรงงาน แต่ถึงแม้ว่ากาฬโรคจะคร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนมากแต่ก็มิได้นำไปสู่ความหายนะของรัฐบาลหรือสังคม นอกจากนั้นการฟื้นตัวก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว[11]

ในปี ค.ศ. 1356 ขณะที่ทรงต่อสู้ในสงครามอยู่ทางเหนือของอังกฤษเจ้าชายดำพระราชโอรสองค์โตก็ได้รับชัยชนะในยุทธการปัวตีเยร์ (Battle of Poitiers) ในฝรั่งเศสแม้ว่ากองทัพฝรั่งเศสมีกำลังเหนือกว่า ฝ่ายอังกฤษนอกจากจะสามารถเอาชนะได้แล้วก็ยังจับตัวพระเจ้าจอห์นที่ 2 แห่งฝรั่งเศสได้ด้วย หลังจากที่ได้รับชัยชนะต่อเนื่องกันหลายครั้งอังกฤษก็ยึดดินแดนต่างๆ ในฝรั่งเศสมามาก พระเจ้าจอห์นที่ 2 ตกอยู่ในความควบคุมของอังกฤษ รัฐบาลฝรั่งเศสก็เกือบล่ม ไม่ว่าการอ้างสิทธิของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสจะจริงแท้เท่าใดหรือเป็นเพียงแต่ข้ออ้างในการริเริ่มสงครามก็ตาม[12] สถานะการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้การอ้างสิทธิใกล้ความเป็นจริงขึ้น แต่การรณรงค์ต่างๆ ในปี ค.ศ. 1359 ซึ่งเป็นการรณรงค์ที่ตั้งใจจะให้เป็นการตัดสินก็ไม่ได้มีผลที่เด็ดขาด ในปี ค.ศ. 1360 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงทรงยอมรับสนธิสัญญาเบรตีญี (Treaty of Brétigny) ซึ่งเป็นการยกเลิกการอ้างสิทธิในการครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศสของพระองค์เป็นการแลกเปลี่ยนกับดินแดนต่างๆ ที่ทรงยึดจากฝรั่งเศส

ปลายรัชสมัย

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 และเจ้าชายดำ

ขณะที่รัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเป็นรัชสมัยที่โดยทั่วไปแล้วเป็นสมัยที่ประสบความสำเร็จ แต่ในปลายรัชสมัยเป็นช่วงระยะเวลาของความล้มเหลวในการรณรงค์ทางทหารและปัญหาการเมืองภายในราชอาณาจักร พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดไม่ทรงสนพระทัยกับการปกครองในวันหนึ่งๆเท่ากับการออกยุทธการ ดังนั้นในคริสต์ทศวรรษ 1360 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงทรงหันไปพึ่งผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์มากขึ้นทุกวันโดยเฉพาะวิลเลียมแห่งวิคแคม (William of Wykeham) ผู้ยังค่อนข้างเป็นมือใหม่ในด้านการบริหารผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรีตราประจำพระองค์ (Lord Privy Seal) ในปี ค.ศ. 1363 และอัครมหาเสนาบดี ต่อมาในปี ค.ศ. 1367 แต่วิคแคมก็สร้างปัญหาทางการเมืองเนื่องจากความขาดประสบการณ์ที่ทำให้รัฐสภาต้องบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีในปี ค.ศ. 1371[13]

นอกจากการลาออกของอัครมหาเสนาบดีแล้วพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ยังสูญเสียผู้ที่ทรงไว้ใจหลายคนระหว่าง ค.ศ. 1361 ถึง ค.ศ. 1362 จากโรคระบาดที่เกิดขึ้นหลายครั้ง วิลเลียม มองตาคิว เอิร์ลแห่งซอลสบรีที่ 1 (William Montacute, 1st Earl of Salisbury) พระสหายในการรณรงค์ในคริสต์ทศวรรษ 1330 เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1344, วิลเลียม เดอ คลินตัน เอิร์ลแห่งฮันติงดันที่ 1 (William de Clinton, 1st Earl of Huntingdon) ผู้ที่ในการรณรงค์กับพระองค์ที่น็อตติงแฮมเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1354, เอิร์ลจากปี ค.ศ. 1337 วิลเลียม เดอ โบฮุน เอิร์ลแห่งนอร์ทแธมป์ตันที่ 1 (William de Bohun, 1st Earl of Northampton) เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1360 และปีต่อมาเฮนรี โกรสมอนต์ ดยุกแห่งแลงคาสเตอร์ที่ 1 (Henry of Grosmont, 1st Duke of Lancaster) ผู้ที่อาจจะถือว่าเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของพระองค์จากอาจจะด้วยโรคระบาด การสูญเสียทำให้เหลือแต่ขุนนางส่วนใหญ่ที่ยังหนุ่มผู้ที่หันไปสนับสนุนเจ้าชายรัชทายาทแทนที่จะสนับสนุนพระองค์

พระราชโอรสองค์ที่สองไลโอเนลแห่งอันท์เวิร์พ ดยุกแห่งแคลเรนซ์ที่ 1 ทรงพยายามกำหราบอำนาจของขุนนางอังกฤษ-ไอร์แลนด์ในไอร์แลนด์แต่ก็ไม่สำเร็จ สิ่งเดียวที่ทรงทำได้คือการบังคับใช้พระราชบัญญัติคิลเค็นนีย์ (Statutes of Kilkenny)ในปี ค.ศ. 1366[14]

ขณะเดียวกันในฝรั่งเศส สิบปีหลังจากสนธิสัญญาเบรตีญีเป็นช่วงที่สงบสุขอยู่ระยะหนึ่ง แต่เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1364 เมื่อพระเจ้าจอห์นที่ 2 แห่งฝรั่งเศส เสด็จสวรรคตขณะที่ทรงถูกจำขังอยู่ในอังกฤษหลังจากที่ทรงพยายามหาทุนสำหรับค่าไถ่จากฝรั่งเศสแต่ไม่สำเร็จ การเสด็จสวรรคตของพระองค์ตามด้วยการขึ้นครองราชสมบัติของพระเจ้าชาร์ลที่ 5 ผู้ไปเกณฑ์ความช่วยเหลือจาก Constable of France แบร์ทรันด์ ดู เกอสแคลง (Bertrand du Guesclin) ผู้มีความสามารถ[15] ในปี ค.ศ. 1369 สงครามร้อยปีก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง พระราชโอรสองค์รองของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด จอห์นแห่งกอนท์ ดยุกที่ 1 แห่งแลงแคสเตอร์ก็ได้รับมอบให้มีความรับผิดชอบในการรณรงค์ต่อต้านผู้แข็งข้อแต่ไม่ทรงสำเร็จ ในที่สุดก็ต้องลงนามในสนธิสัญญาบรูดจ์สในปี ค.ศ. 1375 ซึ่งทำให้เสียดินแดนต่างๆ ของอังกฤษให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ดินแดนต่างๆ ของอังกฤษในฝรั่งเศสก็ลดลงเหลือแต่เพียงเมืองคาเลส์ที่เป็นเมืองริมทะเลทางตอนเหนือสุด, บอร์โดซ์ และ เบยอนน์[16]

ความเพลี่ยงพล้ำทางการทหารในต่างประเทศและปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการรณรงค์ทำให้เกิดความไม่พึงพอใจกันในบรรดาผู้บริหารราชอาณาจักรในอังกฤษ ปัญหาถึงจุดวิกฤติในรัฐสภาในปี ค.ศ. 1376 รัฐสภาที่เรียกตัวเองว่า “รัฐสภาดี” (Good Parliament) รัฐสภาถูกเรียกเพื่ออนุมัติการเก็บภาษีเพิ่มแต่สภาสามัญชนถือโอกาสอ่านคำร้องทุกข์ โดยเฉพาะคำวิพากษ์วิจารณ์โดยตรงที่มีต่อที่ปรึกษาผู้ใกล้ชิดในพระองค์ สมุหพระราชวัง (Lord Chamberlain) วิลเลียม ลาติเมอร์ (William Latimer) และ เจ้ากรมพระราชวัง (Lord Steward) จอห์น เนวิลล์ บารอนเนวิลล์ เดอ ราบีย์ที่ 3 (John Neville, 3rd Baron Neville de Raby) ผู้ถูกปลดจากตำแหน่ง ส่วนพระสนมของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดอลิซ เพร์เรอร์ (Alice Perrers) ผู้ที่รัฐสภาเห็นว่ามีอิทธิพลต่อพระองค์มากเกินไปก็ถูกห้ามไม่เข้าราชสำนัก[17]

แต่อุปสรรคที่แท้จริงของสภาสามัญที่นำโดยกลุ่มผู้มีอำนาจเช่นเอ็ดมันด์ มอร์ติเมอร์ เอิร์ลแห่งมาร์ชที่ 3 (Edmund Mortimer, 3rd Earl of March) คือจอห์นแห่งกอนท์ ในขณะนั้นทั้งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและเจ้าชายดำต่างก็ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถทำอะไรได้เพราะการประชวร อำนาจการปกครองทั้งหมดจึงตกอยู่ในมือของจอห์นแห่งกอนท์ผู้ที่รัฐสภาบังคับให้ยอมรับข้อเรียกร้องของรัฐสภา แต่ในปี ค.ศ. 1377 แต่ทุกอย่างที่รัฐสภาเรียกร้องก็ถูกละเมิด[18]

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเองในขณะนั้นก็ไม่ทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด หลังจากราวปี ค.ศ. 1375 บทบาททางการปกครองของพระองค์ก็เป็นไปอย่างจำกัด[19] ราววันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1376 พระองค์ก็ทรงล้มประชวรด้วยฝีใหญ่ หลังจากที่ทรงรู้สึกดีขึ้นอยู่ระยะหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์พระองค์ก็เสด็จสวรรคตด้วยหลอดเลือดสมองแตก (แต่บางกระแสก็ว่าด้วยโรคหนองใน (gonorrhea)[20]) ที่พระราชวังริชมอนด์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน[21] ผู้ที่สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์คือพระนัดดาพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 พระโอรสของเจ้าชายดำผู้สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1376 พระเจ้าริชาร์ดขณะนั้นมีพระชนม์เพียง 10 พรรษา

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ