พระราชกรณียกิจ ของ พระเมกุฏิสุทธิวงศ์

เศรษฐกิจ

อาณาจักรล้านนามีเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มานานเพราะปัญหาการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างกษัตริย์กับขุนนางอันยาวนาน ทั้งมีปัจจัยภายนอกที่มาจากการรุนรานของรัฐที่เข้มแข็งกว่า สภาพเศรษฐกิจในรัชกาลพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ปรากฏในพับสาเรื่องประวัติศาสตร์ กฎหมายโบราณ ต้นฉบับของวัดป่าลาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่กล่าวถึงเศรษฐกิจในยุคนั้น โดยอธิบายไว้ว่า (คำอธิบายในวงเล็บเป็นของศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล)[20]

...ท้าวพระญาเสนาอามาตย์บ่ควรดีลิดม้างสีมาบ้านเมืองอันใหญ่หนักแท้มี ๓ ประการ

คือม้างหลักพัน ๑ ม้างไสเมือง ๒ ทีอันหนึ่ง ลัดเบี้ยลง หื้อย้อนเสียร้อยนับว่าหื้อพอร้อย

เหตุ ๓ ประการนี้ ขึดแพ้ตัวแพ้บ้านแพ้เมืองแล [ทำร้ายตัวเองและบ้านเมือง] เปนดั่ง

พระเมืองแก้ว แต่งเบี้ย ๙๘ หื้อเปน ๑๐๐ ท้าวอ้ายเกล้า [พระเมืองเกษเกล้า] แต่งเบี้ย ๘๐ เปน ๑๐๐

ท้าวชาย แต่งเบี้ย ๗๐ เปน ๑๐๐ ท้าวอุปโย [พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช] แต่งเบี้ย ๖๐ เปน ๑๐๐

พระแม่กุ แต่งเบี้ย ๕๘ เปน ๑๐๐ เหตุ ๓ ประการนี้ แพ้เจ้าเมืองแพ้บ้านเมืองแล อันใดก็ดี บ่พอหมื่นว่าหมื่น

บ่พอ ๑๐๐๐ ว่า ๑๐๐๐ บ่พอ ๑๐๐ ว่า ๑๐๐ ย่อมหื้อวินาสฉิบหายแล...

จากหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจของล้านนาค่อย ๆ เสื่อมทรามและทรุดลงตามลำดับ เนื่องจากปัญหาค่าเงินตกต่ำหรือที่เรียกว่าการ "ลัดเบี้ยลง" คือการลดค่าเงิน เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งย่ำแย่มาตั้งแต่รัชกาลพระเมืองแก้ว เรื่อยมาจนถึงรัชกาลพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ถือว่าเศรษฐกิจล้านนาอยู่ในระดับหายนะขั้นสุด[20]

และหลังพระเมกุฏิถูกถอดจากราชบัลลังก์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ต้องถูกส่งไปเป็นบรรณาการแก่ราชสำนักหงสาวดี บรรดาเจ้าเมืองในล้านนาที่เคยครอบครองไพร่และส่วยอากรจึงถูกดึงรายได้ และแรงงานท้องถิ่นก็ถูกใช้ในกิจการของพม่า[28]

การศาสนา

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์เป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ล้านนาที่ทรงออกผนวชเป็นพระภิกษุ[32] และในจารึกจุลคิรีระบุว่าพระองค์เป็น "ธรรมิกราชาธิราช"[33]

ใน ตำนานพระธาตุจอมทอง ได้กล่าวถึงปี พ.ศ. 2099 ว่าพระองค์และพระราชชนนีได้อัญเชิญพระบรมธาตุจอมทองเข้าไปพระราชวังที่เชียงใหม่ด้วยความเลื่อมใสจึงถวายข้าวของเงินทอง และกัลปนาคนเป็นข้าวัดพระธาตุจอมทอง ดังปรากฏความว่า[34]

...เมื่อนั้น พระราชบุตต์เจ้าอยู่เกล้าอยู่หัวตนเปนพระองค์ราชมาดามหาเทวี เจ้าทัง 2 พระองค์แม่ลูกทรงราชสัทธาจิ่งนิมนต์พระมหาธาตุเจ้าจอมทองเมือยังหดสรงในราชวัง ยินดีด้วยพระมหาธาตุเจ้าทัง 2 แม่ลูกก็หื้อยังมหาทานอันใหย่ คือว่า ข้าวของ เงินฅำ ข้าฅน ไร่นาที่ดิน ย่านน้ำ เครื่องทาน ขันสรง โกฎแก้วใส่ฅำประดับด้วยแก้วคอวชิระเพก [เพชร] และธารารับน้ำสรงแลสัพพเครื่องแหทังมวลอันพระรัตนราชเจ้าหื้อทานแล้วแต่ก่อน พระเป็นเจ้าทังสองแม่ลูกก็ซ้ำหื้อทานแถมเปนถ้วน 2 จิ่งพระราชอาชญาแก่มหาเสนาผู้ใหย่ทัง 4 คือว่า แสนหลวง สามล้าน จ่าบ้าน เด็กชาย ว่า ตั้งแต่นี้ไปพายหน้า ข้าพระเจ้าจอมทองนี้อย่าได้ใช้สอย...

จากตำนานดังกล่าวก็สอดรับกับจารึกวัดพระธาตุศรีจอมทองที่บันทึกว่าในปี พ.ศ. 2099 พระเมกุฏิสุทธิวงศ์และพระราชชนนีอัญเชิญพระมหาธาตุเจ้าจอมทองไปประดิษฐาน ณ หอบาตรในพระราชวัง และมีพระราชบัญชาให้รวบรวมข้าพระจากครัวเรือนต่าง ๆ ไปดูแลพระมหาธาตุจอมทอง[3]

นอกจากนี้ยังทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ได้แก่ ถวายที่ดินและข้าพระแก่วัดเชียงสา[2] ทำนุบำรุงพระธาตุบนดอยน้อยที่พระนางจามเทวีทรงสร้างไว้[33] และอุทิศข้าพระแก่อารามป่าญางเถียงแซง[35] เป็นต้น

การต่างประเทศ

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงแต่งตั้งพระยากัมพล (พระยารัตนกัมพล) ผู้มีเชื้อราชวงศ์มังรายเป็นเจ้าเมืองเชียงแสนแทนพระยาคำหมู่ ขุนนางล้านช้างที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงแต่งตั้งไว้ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2097 ทำให้สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชไม่พอพระทัยและยกทัพไปตีเมืองเชียงแสน[36]

นอกจากนี้ทรงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเมืองนายอย่างใกล้ชิด เนื่องจากทรงสืบเชื้อสายจากเมืองนาย หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสงคราม อีกฝ่ายหนึ่งก็จะช่วยร่วมรบด้วย ดังในปี พ.ศ. 2098 ที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างทรงยกทัพมาตีเมืองเชียงแสนของล้านนา เจ้าฟ้าเมืองนายก็ทรงช่วยรบที่เมืองเชียงแสน และในปี พ.ศ. 2100 เจ้าฟ้าเมืองนายถูกทัพของพระเจ้าบุเรงนองเข้าล้อม พระเมกุฏิก็ทรงช่วยด้วยการส่งอาวุธและกองกำลังไปช่วย[19]

ใกล้เคียง

พระเมธีวชิโรดม (วุฒิชัย วชิรเมธี) พระเมรุมาศ พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ พระเมืองเกษเกล้า พระเมธีวัชรบัณฑิต (หรรษา ธมฺมหาโส) พระเมตตาของพระเยซู พระเมธังกรพุทธเจ้า พระเมตตคูเถระ พระเมธีสุทธิพงศ์ พระเมตไตรยโพธิสัตว์

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ http://www.chiangraiprovince.com/guide/eng/40_08.h... http://www.cpamedia.com/research/king_mae_ku/ http://www.yangonow.com/eng/culture/nat/37_nat.htm... http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscri... http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscri... http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscri... http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscri... https://www.matichonweekly.com/column/article_6888...