พระราชประวัติ ของ พระเมกุฏิสุทธิวงศ์

พระชนม์ชีพตอนต้น

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ มีพระนามเดิมว่าท้าวแม่กุ[1] พระราชประวัติในช่วงต้นแทบไม่ปรากฏเลย ทราบแต่เพียงว่าแต่เดิมเป็นเจ้านายจากเมืองนาย[11]ในหัวเมืองเงี้ยวซึ่งมีเชื้อสายราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏพระนามพระราชชนก ทราบแต่เพียงว่าพระราชชนกนั้นสืบเชื้อสายมาจากขุนเครือ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพญามังรายที่ไปครองเมืองนาย อันเป็นดินแดนที่มีชาวไทใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ภายหลังขุนเครือทรงพยายามที่จะชิงราชบัลลังก์ของพญาไชยสงครามพระเชษฐาแต่ไม่สำเร็จ และถูกเจ้าน้ำท่วมสังหารในเวลาต่อมา[12][13] บางแห่งก็ว่ายึดสำเร็จ แต่ภายหลังถูกจับได้ จึงถูกขังไว้จนถึงแก่กรรม[14] อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเมืองนายจะมีเจ้านายเป็นเครือญาติกับกษัตริย์ล้านนา[15] ทว่าเมืองนายคุกคามเมืองเชียงใหม่ในบางโอกาส บางครั้งก็ตกเป็นประเทศราชของล้านนาในช่วงเวลาที่ล้านนารุ่งเรือง[14]

ส่วนพระราชชนนีของพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ก็ไม่ปรากฏพระนามเช่นกัน แต่พระราชชนนีนี้ยังมีพระชนม์ชีพอยู่จนกระทั่งพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เสวยราชย์ครองล้านนา ปรากฏพระนามในจารึกวัดพระธาตุศรีจอมทองว่า "พระอัครราชมาดา พระมหาเทวีเจ้า"[3] ซึ่ง รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ได้สันนิษฐานว่าพระราชชนนีของพระองค์คือพระนางวิสุทธิเทวี ที่ครองเมืองเชียงใหม่ต่อจากพระเมกุฏิสุทธิวงศ์หลังถูกพระเจ้าบุเรงนองยึดครอง โดยให้เหตุผลว่าเป็นหลักประกันเพื่อมิให้เจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า[16]

ใน พระราชพงศาวดารพม่า ระบุว่า พระเมกุฏิสุทธิวงศ์หรือพระสารเป็นพระราชโอรสของพญาขยัน และเป็นพระราชนัดดาสอนะยัต (พญายอดเชียงราย) ซึ่งพญาขยันเสวยราชย์ก่อนพระอนุชาเมืองอี (พระเมืองแก้ว)[7] ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะ ว่าพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เป็นพระราชโอรสของพระเมืองแก้วกับพระนางวิสุทธิเทวี และกล่าวว่าพระนางวิสุทธิเทวีเป็นเจ้าหญิงไทใหญ่จากเมืองนาย[17]

เสวยราชย์

ก่อนหน้านี้อาณาจักรล้านนามีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรล้านช้างและกลายเป็นรัฐเครือญาติกันผ่านการอภิเษกสมรสระหว่างนางยอดคำพระราชธิดาในพระเมืองเกษเกล้า กับพระยาโพธิสาลราชพระเจ้าล้านช้าง มีพระราชโอรสด้วยกันพระองค์หนึ่งคือเจ้าเชษฐวงษ์ ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอุปโยวราช[18] เมื่อพระเมืองเกษเกล้าเสด็จสวรรคต ล้านนาเกิดกลียุคมีสงครามยาวนาน พระนางจิรประภาเทวีจึงเสวยราชย์ ช่วงนั้นได้เกิดกบฏชาวไทใหญ่และการรุกรานของอาณาจักรอยุธยา ทั้งขุนนางแห่งล้านนาเองก็มีอำนาจเหนือกษัตริย์เสียด้วย[4] ล้านช้างที่ขณะนั้นกำลังเจริญรุ่งเรืองสูงสุดจึงเข้าแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือล้านนาจนฝ่ายอยุธยาพ่ายแพ้ไป พระยาโพธิสาลราชในฐานะผู้ปกป้องล้านนาจึงมีความชอบยิ่งนัก ได้นำพระราชโอรสคือเจ้าเชษฐวงษ์ผู้เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของพญามังรายทางฝ่ายมารดาขึ้นครองล้านนา มหาเทวีจิรประภาสละราชสมบัติให้พระอุปโยวราชครองราชย์ในปี พ.ศ. 2089[4] ทรงพระนาม พระเป็นเจ้าอุปปโยวราชะ

ครั้นในปี พ.ศ. 2090 พระยาโพธิสาลราชสวรรคตกะทันหัน พระเป็นเจ้าอุปปโยวราชะเสด็จกลับไปครองราชย์ล้านช้างในปีนั้น ทรงพระนามว่าสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช และได้นำมหาเทวีจิรประภาและพระแก้วมรกตไปล้านช้างด้วย อาณาจักรล้านนาว่างกษัตริย์และเกิดการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างขุนนางกลุ่มต่าง ๆ ช่วงปี พ.ศ. 2091-2094 ล้านนาได้เข้าสู่กลียุคอีกครั้ง[4] สุดท้ายขุนนางล้านนามีมติว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชคงไม่เสด็จกลับมาแล้ว จึงเห็นควรให้อัญเชิญพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ เจ้านายเมืองนายผู้มีเชื้อสายแห่งราชวงศ์มังรายมาเสวยราชย์แทน[4] ซึ่งจากจารึกวัดเชียงสา จะพบว่าเนื้อหาเขียนว่าพระองค์อ้างสิทธิ์เหนือดินแดนล้านช้างเสียด้วย[2]

หลังพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เสวยราชย์ได้ไม่ช้านานนัก พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ขณะนั้นได้เสวยราชย์ครองล้านช้างแล้วไม่พอพระราชหฤทัย ที่ขุนนางล้านนาอัญเชิญพระเมกุฏิสุทธิวงศ์มาเสวยราชย์โดยที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมิทรงเห็นชอบ จึงนำไปสู่การยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนในปี พ.ศ. 2098[4]

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงพยายามแก้ไขปัญหาการขาดฐานอำนาจในเชียงใหม่ด้วยการนำขุนนางจากเมืองนายติดตามเข้ามา ขุนนางท้องถิ่นล้านนาจึงไม่พอใจนักที่ถูกลดทอนบทบาทลง ซึ่งใน ตำนานเมืองเชียงใหม่ ระบุว่า การกระทำของพระองค์ผิดจารีตล้านนาเพราะใช้จารีตเงี้ยว ส่งผลให้บ้านเมืองเสื่อม[4] ทั้งทรงรักษาสัมพันธภาพอันดีกับเมืองนายอย่างใกล้ชิด หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสงคราม อีกฝ่ายหนึ่งก็จะช่วยร่วมรบด้วย การกระทำของพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เสมือนการชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน เพราะทรงช่วยเหลือเมืองนายที่ถูกพระเจ้าบุเรงนองทรงล้อมไว้[19] ด้วยเหตุนี้พระเจ้าบุเรงนองจึงดำเนินการปราบปรามล้านนาในเวลาต่อมา[4]

ใต้การปกครองของพม่า

ในช่วงเวลาที่ล้านนาอ่อนแอที่สุด พระเจ้าบุเรงนองทรงใช้ระยะเวลาเพียง 3 วันในการยึดเมืองเชียงใหม่ และเสียเมืองเชียงใหม่แก่พม่าในปี พ.ศ. 2101[20] พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงยอมศิโรราบ แต่พระเจ้าบุเรงนองก็ทรงให้เกียรติแก่พระเมกุฏิให้ครองเชียงใหม่ตามเดิม ดังปรากฏใน มหาราชวงศ์ ความว่า[21]

"ครั้นจุลศักราช ๙๒๐ [พ.ศ. 2101] พระองค์ [พระเจ้าบุเรงนอง] ก็มีไชยชนะประเทศน้อยใหญ่ทั้งสิ้น คือ ประเทศเงี้ยว [รัฐชาน] ประเทศลาวญวน [ยวนหรือโยนกคือล้านนา] เชียงใหม่แต่เมืองเชียงใหม่นั้นมิได้รบพุ่ง เจ้าเมืองเชียงใหม่ [พระเมกุฏิสุทธิวงศ์] เข้ายอมสวามิภักดิ์ เมื่อพระองค์สมพระราชประสงค์แล้ว ให้เจ้าเชียงใหม่ครองเชียงใหม่ตามเดิม..."

ส่วนใน พงศาวดารโยนก ก็ได้บันทึกไว้ว่าพระเจ้าบุเรงนองทรงตั้งพิธีราชาภิเษกแก่พระเมกุฏิเช่นเดียวกัน หากแต่ยังคงกองกำลังไว้รั้งเมืองเชียงใหม่ ความว่า[22]

"...สมเด็จพระเจ้ากรุงหงสาวดี ให้ตั้งพิธีราชาภิเษกสรงพระเมกุฏิให้เป็นพระเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ตามเดิม ให้พระยาสุรโยธานายทัพ ๑ พระยาจักรวุฒิ ขุนเมืองซังเหยียบเป็นปลัดทัพ ๑ ขุนเมืองมรวดีเป็นยกกระบัตรทัพ ๑ ถือพลหมื่นอยู่รั้งเมืองเชียงใหม่กับพระเมกุฏิเจ้านครพิงค์เชียงใหม่..."

ด้านการบริหารบ้านเมืองของเชียงใหม่ พระเจ้าบุเรงนองยังทรงให้พระเมกุฏิมีส่วนร่วมในการปกครองภายใต้การพระราชบัญชาของพระองค์[23] และมีพระราชบัญชาให้ขุนนางพม่าที่อยู่รั้งเมืองเชียงใหม่เคารพและน้อมรับพระราชบัญชาของกษัตริย์เชียงใหม่เสียด้วย[24][25] ดังจะเห็นได้ว่าแม้ล้านนาจะตกเป็นประเทศราชของพม่าแล้ว แต่พระมหากษัตริย์พม่ายังทรงยกย่องให้เกียรติและยอมรับสถานะของพระเมกุฏิในฐานะเจ้าผู้ครองเชียงใหม่อย่างสมบูรณ์[26]

ในช่วงที่พระองค์ปกครองเชียงใหม่ภายใต้การปกครองของพม่า กองทัพพันธมิตรล้านนาที่นำโดยเจ้าเมืองแพร่ เจ้าเมืองน่าน เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองเชียงราย และเจ้าเมืองเชียงของซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างเข้าโจมตีกองทัพพม่าในเชียงใหม่หลังพระเจ้าบุเรงนองเสด็จกลับหงสาวดีราว 2-3 เดือน ด้วยเหตุนี้พระเจ้าบุเรงนองจึงส่งทัพใหญ่มาช่วยเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2101 ประกอบไปด้วยทัพม้า 6,000 ตัว ช้าง 500 เชือก และทหาร 150,000 นาย[27] สามารถป้องกันเชียงใหม่ได้ และสามารถรุกขึ้นไปตีเมืองเชียงรายแตก พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชและบรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่กำลังล้อมเมืองเชียงแสนอยู่จึงหนีออกไป[28]

ต่อมาพระเมกุฏิสุทธิวงศ์และพระยากระมลเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนร่วมกันคิดกบฏต่อกรุงหงสาวดี เพราะไม่ยอมส่งทัพช่วยพม่ารบกับอาณาจักรอยุธยาเมื่อคราวสงครามช้างเผือกในปี พ.ศ. 2106 โดยมีเจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองน่าน และเจ้าเมืองลำปางร่วมก่อกบฏด้วยโดยมีพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชสนับสนุน แต่คราวนี้หลังพม่าเสร็จศึกที่อยุธยา ก็ยกทัพขึ้นมาปราบล้านนาอีกครั้ง บรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่เคยลุกขึ้นมาต่อต้านกลับพากันหลบลี้ไปล้านช้างเสียหมดยกเว้นพระเมกุฏิที่ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดีและจัดบรรณาการมาถวาย[28] โดยทรงอ้างว่าพระยาแสนหลวง เสนาบดีผู้รั้งเมืองเชียงแสน กับพระยาสามล้าน เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองน่าน และเจ้าเมืองเชียงรายสมคบกันก่อกบฏ[29] ทว่าความผิดที่พระเมกุฏิฝ่าฝืนการปฏิบัติคำสั่งถือเป็นโทษร้ายแรง[28] เป็นเหตุให้พระเจ้าบุเรงนองถอดพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ออกจากพระราชบัลลังก์ล้านนาและพาตัวไปหงสาวดีเป็นการลงทัณฑ์ ดังปรากฏใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ความว่า[29]

"...สกได้ ๙๒๖ ตัว เจ้าท้าวแม่กุฟื้น [กบฏ] เจ้าเปิงภวะมังทราฟ้าหงสา [พระเจ้าบุเรงนอง] ฟ้ามังทรายกริพลมาคุมเอาเชียงใหม่ได้ ลวดเอาเจ้าท้าวแม่กุเมือไว้เสียเมืองหงสา ไว้นางวิสุทธเทวีกินเมืองแทนหั้นแล..."

หลังจากนั้นพระเมกุฏิสุทธิวงศ์จึงได้รับพระราชทานตำหนักขาวให้ประทับอยู่ภายในราชธานีหงสาวดี ดังปรากฏใน มหาราชวงศ์ฉบับหอแก้ว ที่กล่าวถึงปี พ.ศ. 2110 ความว่า (คำอธิบายในวงเล็บเป็นของ รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์)[30]

"...ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานตำหนักให้กับนะระปะติเจ้าเมืองแพร่ ๑ อะวะนะระปะติจีสู ๑ [นะระปะติสีตู] พระสังข์เจ้าเมืองเชียงใหม่ ๑ [ที่ถูกต้องคือพระตาน มาจากคำว่าเจ้าขนานแม่กุ] พระสาธิราชพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา [พระเธียรราชา] แล้วพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก..."

หลังจากนั้นพระเจ้าบุเรงนองจึงตั้งพระนางวิสุทธิเทวี ขัตติยนารีผู้มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายครองล้านนาสืบต่อไป ซึ่ง รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ สันนิษฐานว่าพระนางวิสุทธิเทวีนี้คือพระราชชนนีของพระเมกุฏิ โดยให้เหตุผลว่าเป็นหลักประกันเพื่อมิให้เจ้าแผ่นดินล้านนาพระองค์ใหม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า[16] เพราะฝ่ายพม่าได้ยกไพร่พลและขุนนางรามัญไปอยู่ในเมืองเชียงใหม่เสียด้วย ปรากฏใน พงศาวดารโยนก ความว่า[31]

"...แล้วตั้งราชเทวีอันเป็นเชื้อสายเจ้าเชียงใหม่แต่ก่อน ทรงนามพระวิสุทธิเทวี ขึ้นเป็นราชินีครองเมืองนครเชียงใหม่สืบไป ให้ขุนนางรามัญอยู่เป็นข้าหลวงกำกับเมือง..."

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ประทับอยู่ในพระตำหนักขาวในหงสาวดี จนกระทั่งพิราลัยด้วยพระโรคบิด[5]

ใกล้เคียง

พระเมธีวชิโรดม (วุฒิชัย วชิรเมธี) พระเมรุมาศ พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ พระเมืองเกษเกล้า พระเมธีวัชรบัณฑิต (หรรษา ธมฺมหาโส) พระเมตตาของพระเยซู พระเมธังกรพุทธเจ้า พระเมตตคูเถระ พระเมธีสุทธิพงศ์ พระเมตไตรยโพธิสัตว์

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ http://www.chiangraiprovince.com/guide/eng/40_08.h... http://www.cpamedia.com/research/king_mae_ku/ http://www.yangonow.com/eng/culture/nat/37_nat.htm... http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscri... http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscri... http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscri... http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscri... https://www.matichonweekly.com/column/article_6888...