สถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ของ พระเมรุมาศ

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

การออกแบบสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ พระเมรุ ต้องอาศัยการสร้างสรรค์ออกแบบจากผู้รอบรู้เจนจบงานศิลปกรรมของชาติ ช่างที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากครูบาอาจารย์ทั้งงานออกแบบรูปลักษณ์ ก่อสร้างอาคาร การคิดลวดลายขึ้นประดิษฐ์ตกแต่งทุกส่วนให้เข้ากับอาคาร โดยมีหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงว่าพระเมรุมาศของพระองค์ใด ที่แสดงลักษณะของพระองค์นั้น เช่น ความเป็นพระมหากษัตริย์ พระราชินี นักรบ เป็นต้น อีกทั้งการใช้ลวดลายที่สอดคล้องกับสีที่เกี่ยวกับพระองค์เป็นสำคัญ สายช่างสมัยรัตนโกสินทร์ มีอยู่ 3 สายคือ สายพระยาราชสงคราม, สายพระยาจินดารังสรรค์ และ สายสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งกล่าวกันว่า จะมีศิษย์ผู้สืบงานศิลป์รวมทั้งอาจารย์ผู้เป็นต้นแบบ ในแต่ละสายนั้นเพียงสายละ 3 ช่วงคนเท่านั้น[35]

ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นอย่างสถาปัตยกรรมไทย มีลักษณะเป็น "กุฎาคาร หรือ เรือนยอด" คือเรือนซึ่งหลังคาต่อเป็นยอดแหลม ยึดรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย อาจมีรูปทรงปรางค์ ยอดปรางค์ อาจมีพรหมพักตร์หรือไม่มีก็ได้ หรือเป็นรูปปราสาท[36] โดยสมมติอาคารหลังนี้เป็นพระวิมาน บางครั้งก็มีมุขยื่นออกมา เป็นมุขเดี่ยวบ้าง เป็นจัตุรมุขบ้าง

ผังอาคารและอาคารประกอบ

แผนผังของพระเมรุมาศ มีแนวคิดจากผังของเขาพระสุเมรุ ในสมัยโบราณจะปรับพื้นที่พูนดินสร้างเขาให้มีลักษณะ ประดุจเขาพระสุเมรุก่อน แล้วจึงก่อสร้างอาคารประกอบพระราชพิธี ส่วนประกอบอื่นอย่าง ศาลาและอาคารที่ใช้สอยต่าง ๆ มีความหมายถึงสร้างวังทั้งวังขึ้นบนเขา มีรั้วราชวัติล้อมรอบ ประดับฉัตร ธงทิว รายล้อมด้วยรูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นการล้อเลียนธรรมชาติตามคติในเขาพระสุเมรุ และทิวเขาสัตบริภัณฑ์[6]

อาคารหลักคือ พระเมรุมาศ 1 องค์ และอาคารประกอบอย่าง ประดุจโบสถ์ วิหาร มีระเบียงล้อมรอบ ซึ่งเรียกว่าทับเกษตร อันมีความหมายว่า “เขตอันเป็นที่พัก” ตรงส่วนมุมคดของทับเกษตรทั้ง 4 มุมเรียกว่า “ส้างหรือสำสร้าง” เป็นที่ที่สวดอภิธรรมของพระสงฆ์ นอกจากนี้อาคารบริวาร มีราชวัติ ฉัตร ธง รายล้อม หลังส้างหรือสำส้างมีรูปสัตว์รายรอบถัดจากนั้นมี เสาดอกไม้ พุ่ม ดอกไม้ไฟ ส่วนพระที่นั่งชั่วคราวที่เรียกว่า พระที่นั่งทรงธรรม จะอยู่ด้านตรงข้ามพระเมรุมาศ สำหรับทรงบำเพ็ญพระราชกุศลก่อนถวายพระเพลิงพระบรมศพ[8]

ในบริเวณส่วนกลางของพระเมรุมาศหรือพระเมรุ จะประดิษฐานพระจิตกาธานซึ่งประดิษฐานพระโกศ พระศพ จะประดับด้วยพระโกศไม้จันทน์ และดอกไม้สดเป็นลวดลายก้าน ดอก ใบ ที่มีฝีมืออันประณีต สำหรับพระมหากษัตริย์-ราชวงศ์-ข้าราชการ ถวายพระเพลิง

ส่วนยอดพระเมรุมาศ สามารถแสดงฐานันดรของพระศพได้จากยอด คือหากเป็นพระเมรุมาศสำหรับพระบรมศพพระมหากษัตริย์ ยอดจะเป็น "พระมหาเศวตฉัตร" หรือหากเป็นพระบรมราชวงศ์ ชั้นฉัตรก็ลดหลั่นลงมา หรืออาจไม่มีฉัตรแต่เป็นยอดนภศูลก็ได้[3]

โครงสร้าง

โครงสร้างของพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำด้วยเหล็กรูปพรรณทั้งหมด

การออกแบบมีหลักเกณฑ์ข้อกำหนด เช่น ในส่วนโครงสร้างทุกส่วนต้องแข็งแรงพอรับน้ำหนักประจำและน้ำหนักจรได้อย่างมั่นคงแข็งแรง วิศวกรผู้ออกแบบโครงสร้างปัจจุบัน ออกแบบพระเมรุ อาคารประกอบของพระเมรุคิดน้ำหนักเฉลี่ยโดยทั่วไปอยู่ที่ 300 กิโลกรัม ต่อ ตารางเมตร ส่วนองค์พระเมรุคิดน้ำหนักไว้ที่ 500 กิโลกรัม ต่อ ตารางเมตร และในคราวสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ส่วนรับเตาเผาที่ใช้ในการพระราชทานเพลิงพระศพมีน้ำหนักมากถึง 5 ตัน หรือ 5 พันกิโลกรัม จึงออกแบบเพิ่มน้ำหนักส่วนของพระเมรุเพิ่มขึ้น[37]

แต่เดิมส่วนฐานรากแต่เดิมใช้ไม้ซุงยาว 5-6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 นิ้ว ตอกเป็นฐานราก หนุนเป็นแบบระนาดวางไว้ที่ฐานเพื่อรับน้ำหนักแรงกระทำแนวดิ่ง จนพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเปลี่ยนฐานรากจากไม้เป็นคอนกรีตสำเร็จรูป นำมาตัดเป็น ท่อนๆ ตามขนาดของน้ำหนักที่จะกดลงตรงที่นั้นๆ ส่วนพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ใช้แผ่นพื้นสำเร็จวางปูเพื่อเป็นฐาน[37] ส่วนเสาแต่เดิมใช้เสาไม้สักเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร ยาวประมาณ 40 เมตร เป็นเสาหลัก แต่ปัจจุบันใช้เสาเหล็กผสมไม้ และส่วนประกอบอื่นอย่างลวดลาย ไม้ตัวโครงสร้าง ใช้ไม้และไม้อัด[38]

สำหรับโครงสร้างพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ใช้โครงสร้างแบบชั่วคราว สามารถรื้อถอดไปประกอบติดตั้งใหม่ได้ มีโครงสร้างเป็นไม้เนื้อแข็งและเหล็กรูปพรรณประกอบกันเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้แข็งแรงปลอดภัยเพียงพอในการใช้งาน[9]

การตกแต่ง

หุ่นเทวดาถือเครื่องสูง ประดับรอบพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

การตกแต่ง จะเป็นไปตามแบบแผนของการก่อสร้างตามหลักสถาปัตยกรรม มี 2 ลักษณะคือ ตกแต่งอย่างพระเมรุทอง และตกแต่งอย่างพระเมรุสี โดยการตกแต่งพระเมรุทอง (มักจะใช้กับพระเมรุมาศ ของพระมหากษัตริย์) เช่น การปิดทองล้วนทั้งทองจริงและทองเทียม หรือปิดทองล่องชาด อย่างเช่นทองคำเปลว กระดาษทอง[39] พื้นเมรุสีแดงมีลายทอง หรือจะปิดกระดาษทองย่นมีสายสีแดง ส่วนการตกแต่งเมรุสี หรือ เมรุลงยาราชาวดี จะใช้สีจากวัสดุหลากหลายประเภท อย่าง กระจกสีต่าง ๆ สอดสีด้วยกระดาษสี กระดาษกั่วสี โดยการเลือกสีจะสัมพันธ์กับผู้ที่จะรับการถวายพระเพลิง เช่น เป็นสีประจำวันพระราชสมภพ เป็นต้น [35]

อาคารประดับตกแต่งด้วยหุ่นเทวดา ถือเครื่องสูง เพื่อเป็นการแสดงพระอิสริยยศ บางครั้งประดับด้วยสัตว์หิมพานต์ที่อยู่บนเชิงเขาพระสุเมรุ เช่นเสาหงส์[40]

งานภูมิสถาปัตยกรรม

การออกแบบภูมิทัศน์บริเวณพระเมรุมาศ คำนึงที่พื้นที่ว่างระหว่างอาคารภายในขอบเขตรั้วราชวัติและบริเวณโดยรอบตามประโยชน์ใช้สอย เพื่อเสริมส่งให้พระเมรุมาศและบรรยากาศโดยรอบมีความงดงาม อีกทั้งให้ความหมายในเรื่องคติของแผนภูมิจักรวาลให้สมบูรณ์ โดยจำลองเขาพระสุเมรุ คือบริเวณโดยรอบพระเมรุมาศจะเปรียบเสมือนเขาพระเมรุตั้งอยู่กลางจักรวาล ส่วนที่ว่างปลูกต้นไม้บริเวณฐานเปรียบเหมือนป่าหิมพานต์ที่อยู่เชิงเขาโดยมีลวดลายของเส้นเป็นตัวกำหนด ส่วนบริเวณถัดมาใช้สำหรับเชิญพระโกศเวียนพระเมรุมาศ จะเปรียบเสมือนสีทันดรมหาสมุทรล้อมรอบเขาพระสุเมรุ

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระเมรุมาศ http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t... http://cons-mag.com/index.php?option=com_content&t... http://www.posttoday.com/galyani/pramerumas.html http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp?st... http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=News... http://www.sookjai.com/index.php?topic=32814.0 http://www.tpschamnong.iirt.net/article/basa_5nt03... http://www.oknation.net/blog/print.php?id=192207 http://www.oknation.net/blog/winsstars/2012/04/25/... http://www.phrameru.net/accessory_02.html